บิสตรอม บุกตลาดบัตรสมาร์ทการ์ดใน-นอกเต็มสูบ

ตั้งเป้าเจาะฐานลูกค้าสถาบันการศึกษาอันดับแรก ก่อนขยายสู่ตลาดภาครัฐ, เอกชน ทั้งใน-นอกประเทศ

บิสตรอม ปรับกลยุทธ์ตลาดใหม่ เพิ่มสายงานระบบไอที ก้าวสู่ตลาดบัตรสมาร์ทการ์ด ประเดิมส่งระบบงาน "อี-แคมปัส" เจาะกลุ่มสถาบันการศึกษา ที่ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเดิมอยู่แล้ว ปูทางสร้างชื่อติดตลาด ก่อนขยายสู่ภาครัฐ รวมถึงองค์กรเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่ม

 

นายสานนท์ แก้วอบเชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสตรอม จำกัด บริษัทผู้พัฒนาระบบความปลอดภัยด้านสารสนเทศ (อินฟอร์เมชั่น ซิเคียวริตี้) กล่าวว่า นโยบายของบริษัทมุ่งขยายฐานการให้บริการระบบงานไอที ทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยอาศัยความชำนาญหลักด้านการพัฒนาระบบงาน (แอพพลิเคชั่น) และระบบปฏิบัติการ (โอเอส) ที่ทำงานร่วมกับบัตรสมาร์ทการ์ด ขณะที่ ส่วนตลาดในประเทศนั้น กำลังดูโอกาสนำเสนอระบบงาน อี-แคมปัส (e-Campus) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่นำใช้ร่วมกับบัตรสมาร์ทการ์ด ที่เป็นบัตรประจำตัวนักศึกษา เข้าไปยังสถาบันการศึกษากลุ่มเป้าหมาย "ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 7 แห่ง ใช้งานบัตรสมาร์ทการ์ดเป็นบัตรนักศึกษา โดยเป็นแบบคอมโบในบัตรเดียว ที่มีทั้งชิพ และแถบแม่เหล็ก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังใช้งานในส่วนที่เป็นแถบแม่เหล็กเท่านั้น เนื่องจากสถาบันการศึกษาไม่มีแอพลิเคชั่นที่ใช้กับสมาร์ทการ์ด ซึ่งมูลค่าของตลาดบัตรสมาร์ทการ์ดในกลุ่มนี้อยู่ในระดับ 300,000-400,000 บาท ต่อปี" นายสานนท์ กล่าว

 

ขณะที่ ด้านแผนการทำตลาดนั้น บริษัทจะเข้าเจาะตลาดโดยตรง ทั้งสถาบันที่มีการใช้งานบัตรอยู่แล้ว แต่ยังขาดแอพพลิเคชั่น หรือในตลาดใหม่ที่ยังไม่มีการใช้บัตรเลย นอกจากนี้ ยังมีแผนร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) กับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และบริษัทไทยบริติช ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอเป็นระบบครบวงจร (เทิร์นคีย์) ไปยังสถาบันการศึกษาได้ โดยพันธมิตรทั้ง 3 ฝ่าย ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน ได้แก่ ธนาคารมียอดลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีเพิ่ม, ไทยบริติชฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตบัตร มียอดจำหน่ายบัตรเพิ่ม และบริษัทได้รับรายได้จากค่าใช้งานแอพพลิเคชั่น (ไลเซ่น)

 

สำหรับรูปแบบการคิดค่าไลเซ่นกับสถาบันการศึกษานั้น จะคิดครั้งเดียวในอัตราที่ไม่สูงนัก แต่ในระยะยาวบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากส่วนแบ่งรายได้ตามจำนวนบัตรสมาร์ทการ์ดใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สถาบันการศึกษาเอง ส่วนใหญ่ก็คิดค่าบัตรกับนักศึกษาอยู่แล้ว ในอัตราปีละ 100-200 บาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปีนี้ว่า จะมีสถาบันการศึกษา 5 แห่ง เข้ามาใช้ระบบงานจากบริษัท ซึ่งล่าสุด มหาวิทยาลัยมหาสารคามตอบรับแล้ว โดยมียอดใช้งานในบัตรนักศึกษาสมาร์ทการ์ดช่วงต้น 10,000 ใบ

 

เดินหน้ากวาดตลาดรัฐ-เอกชน

ขณะที่ ด้านตลาดภาคราชการนั้น แม้คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในหลักการโครงการบัตรประกันสังคม กรมการประกันภัย กระทรวงแรงงานฯ และบัตรเกษตรกรของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ แต่ยังอยู่ในขั้นของออกแบบระบบ โดยเฉพาะด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งหากอนาคตโครงการเหล่านี้เริ่มขยายมาครอบคลุมถึงระบบงาน (แอพพลิเคชั่น) บริษัทก็พร้อมเข้าไปเจาะตลาดเช่นกัน ดังนั้น ช่วงนี้บริษัทมองช่องทางรายได้ไปยังตลาดภาคเอกชนก่อน โดยมีรายได้จากบริการหลักเดิมที่ขายไลเซ่นการใช้ระบบสมาร์ทการ์ดแบบพรีเพด ในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งคิดค่าไลเซ่น เครื่องละไม่เกิน 2,000 บาท และมีฐานลูกค้าจำนวน 60 ร้านแล้ว นอกจากนี้ ตลาดองค์กรเอกชน มีบริการพัฒนาระบบงานเฉพาะ ที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยข้อมูล เช่น การพัฒนาระบบการมอบหมายงาน (Job Assignment) ลงในบัตรสมาร์ทการ์ดให้พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเข้าสู่ระบบในแต่ละขั้นตอนการผลิต การพัฒนาระบบงานในบัตรสุขภาพของธุรกิจประกันภัย

 

เปิดตัวสู่ ตปท.สิ้นปีนี้

นายสานนท์ กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนขยายตลาดต่างประเทศด้วย โดยจะนำเสนอระบบงานสำเร็จรูป (แพ็คเกจ) สำหรับป้องกันคนภายในองค์กรส่งข้อมูลออกไปภายนอก ซึ่งยังไม่มีผลิตภัณฑ์คู่แข่งในตลาด โดยปัจจุบันมีเพียงไฟร์วอลล์ที่ป้องกันคนนอกบุกเข้ามาในระบบเท่านั้น สำหรับระบบงานดังกล่าวนั้น จะทำงานบนไคลอันท์-เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งต้องติดตั้งซอฟต์แวร์นี้ทั้งเครื่องแม่ข่าย และเครื่องลูกข่ายผู้ใช้งาน โดยการทำงานจะระบุขอบเขต หรือสิทธิการใช้ข้อมูลของผู้ถือบัตรสมาร์ทการ์ดไว้

"ตลาดต่างประเทศ เป็นตลาดหลักสำหรับบริษัท โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ที่มีการใช้งานบัตรสมาร์ทการ์ดอย่างแพร่หลาย โดยในสหรัฐนั้น มีการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดในบัตรข้าราชการแล้ว และขยายเป็นบัตรประชาชนด้วย ทั้งนี้จะเริ่มออกงานคอมเด็กซ์ภายในสิ้นปีนี้ที่ลาสเวกัส เพื่อดูการตอบรับของตลาดด้วย" นายสานนท์ กล่าว ส่วนการทำตลาดนั้น คาดว่าจะมีการขายผ่านเวบไซต์ สำหรับลูกค้าโซโหและลูกค้าบุคคล ขณะที่ ตลาดองค์กรขนาดใหญ่ อาจทำตลาดผ่านบริษัทผู้รวบรวมระบบ (เอสไอ) รวมทั้งบริษัทจะตั้งสำนักงานขายที่นิวยอร์ก และขยายไปในยุโรปในลำดับถัดไปด้วย โดยอยู่ระหว่างเจรจาขอเงินสนับสนุนแองเจิลฟันด์จากกลุ่มทุนในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้คาดว่า รายได้หลักของบริษัทมากกว่าร้อยละ 50 จะมาจากระบบอี-แคมปัส และร้อยละ 30 มาจากตลาดต่างประเทศ และที่เหลือมาจากการรับจ้างพัฒนาระบบงานที่เกี่ยวข้อง

 

ราคา-ตลาดปัจจัยหนุนสมาร์ทการ์ด"ไทยโต

นายสานนท์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ตลาดสมาร์ทการ์ดโตนั้น เนื่องจากราคาเครื่องอ่านต่ำลงมาก เทคโนโลยีพร้อม รวมทั้ง ความต้องการที่จะระบุตัวตน (Authentication) ของผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมจากนโยบายของภาครัฐบาลหลายประเทศ ที่เริ่มใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเป็นบัตรประชาชน ทั้งในฮ่องกง รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-อาเซียน ที่จะมีการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดแทนพาสปอร์ต โดยประเมินความคุ้มค่าประหยัดต้นทุน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ทำให้ภาครัฐใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ส่วนของไทยนั้น ภาครัฐจะต้องออกแบบโครงสร้างโดยรวมให้ดี มีขั้นตอนของการทำงานที่ชัดเจน เพื่อรองรับการเพิ่มขยายระบบและให้ทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลด้วย รวมทั้งในระดับสถาบันการเงิน นโยบายของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ผลักดันให้สถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีนโยบายผลักดันการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดในบัตรเครดิตแทนการใช้บัตรแถบแม่เหล็กเดิม ประกาศใช้เงินลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนธนาคารสมาชิก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.