รายงาน : ฝันบรอดแบนด์ 1 ล้านสลาย เหตุขาดผู้เชี่ยวชาญ

ความคาดหวังของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่จะเพิ่มปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศไทยเป็นระดับล้านรายนั้นส่อแววรางเลือน โดยล่าสุดผู้ให้บริการฟันธงลูกค้าใหม่มีไม่เกิน 2.5 แสนรายแน่ในสิ้นปีนี้ หลังสำรวจตลาดพบไตรมาสแรกลูกค้าใหม่ประมาณ 30,000 รายเท่านั้น ด้าน ทศท ยังตั้งความหวังกระบวนการทำงานในองค์กรเร็วขึ้น หากปลดบอร์ด และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่

 

แหล่งข่าวจากบริษัทสื่อสารผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ กล่าวว่า จากเป้าหมายนโยบายติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) 1 ล้านพอร์ตของไอซีทีในปี 47 ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากไตรมาสแรกที่ผ่านมายอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 รายเท่านั้น โดยมีเอเชียอินโฟเน็ต (เอไอ) เป็นผู้นำในตลาด โดยประมาณการว่า เอไอ มีผู้ใช้บริการประมาณ 30,000 รายต่อไตรมาส และเมื่อรวมกับอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะส่งผลให้มียอดลูกค้าปลายปีประมาณ 150,000 รายเท่านั้น ขณะที่ไอเอสพีรายอื่นที่หันมารุกตลาดอย่างจริงจัง 5 ราย ได้แก่ ซีเอสล็อกซอินโฟ, เคเอสซี, เจไอเน็ต, ไอเอสเอสพี และเอเน็ต รวมไอเอสพีอีก 3 รายที่เตรียมรุกตลาดบรอดแบนด์ เช่น ไอเน็ต, แปซิฟิคอินเทอร์เน็ต และเครือสามารถ น่าจะทำให้ยอดการเติบโตลูกค้ารวมกันประมาณ 5,000 รายต่อเดือนเท่านั้น

 

"ภาพรวมของตลาดตอนนี้ มียอดการเติบโตอยู่ในระดับต่ำประมาณ 10,000 - 15,000 รายต่อเดือน โดยยอดลูกค้าใหม่จะเข้ามาเป็นช่วงๆ เช่น งานคอมมาร์ตมียอดผู้ใช้เข้ามาเยอะกว่าปกติ และไตรมาสนี้อาจเห็นการกระตุ้นตลาดจากปัจจัยด้านราคา เพราะ กสท โทรคมนาคมลดค่าเช่าวงจรต่างประเทศลงแล้ว " แหล่งข่าว กล่าว

ชี้ยังไม่ได้ข้อสรุปจัดสรรพอร์ต

 

นอกจากนี้ด้านความคืบหน้าของการจัดสรรพอร์ต รวมถึงแผนการดำเนินงานสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตจากโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1 ล้านพอร์ตของภาครัฐยังไร้ความคืบหน้าใดๆ หลังจากที่เอกชนส่งข้อเสนอโครงการ (Proposal) ไปให้พิจารณาใต้กรอบ การให้บริการที่โควตารายละ 2 แสนพอร์ตตั้งแต่ก่อนเทศกาลสงกรานต์ และมีประมาณการว่าน่าจะได้ข้อสรุปจากการประชุมบอร์ด ทศท ได้ในเร็วๆ นี้  "การได้ข้อสรุปช้า อาจมาจากการปรับโครงสร้างภายใน ทศท ทำให้ตัดสินใจช้า แต่บริษัทเองก็ขยายพื้นที่การให้บริการต่อเนื่องตามความต้องการตลาด ทำให้การตัดสินใจที่ล่าช้าไม่มีผลต่อการวางแผนงานบริษัทมากนัก "แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทสื่อสาร กล่าวต่อว่า บริษัทเพิ่มบุคลากรเพื่อติดตั้งเอดีเอสแอลให้กับผู้ใช้ตามบ้าน โดยปัจจุบันมีเกณฑ์การให้บริการติดตั้งให้กับลูกค้าในระยะเวลา 5 วันทำการ หรือประมาณ 25 จุดต่อวัน

 

"การติดตั้งโมเด็มตอนนี้มีทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น ทำให้ช่วยเร่งยอดการติดตั้งได้เร็ว ขณะที่ในส่วนชุมสายเองเราก็มีนโยบายเข้าไปปรับตั้งค่าให้เสร็จภายใน 3 วันทำการเพื่อให้ลูกค้าพร้อมใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว" แหล่งข่าว กล่าว  ปัจจุบันมีการติดตั้งให้กับผู้ใช้บริการถึง 3 รูปแบบ ได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่ายติดตั้งให้, ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตั้งให้ หรือผู้ใช้บริการติดตั้งด้วยตัวเอง โดยอ่านวิธีการติดตั้งที่มาพร้อมกับโมเด็มเอดีเอสแอล

 

ล่าช้าเพราะขาดผู้เชี่ยวชาญ

ด้าน น..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า อุปสรรคการติดตั้งพอร์ตอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (เอดีเอสแอล) เกิดจากบุคลากรยังมีความพร้อมไม่มาก สามารถติดตั้งได้วันละ 3 แห่งต่อทีมเท่านั้น ทำให้การติดตั้งเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงเกิดการ ซื้อตัว บุคลากรข้ามบริษัท เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1 ล้านพอร์ต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในภาพรวม และเมื่อเกิดการแข่งขันย่อมทำให้ราคาลดต่ำลง ประชาชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ ก็จะใช้บริการมากขึ้น ผู้ให้บริการก็อยู่รอดได้ อย่างน้อย ขณะนี้ก็มีปริมาณผู้ใช้เพิ่มขึ้น และราคาก็มีแนวโน้มลดต่ำลง น..สุรพงษ์ กล่าว

 

ปลดประธานบอร์ดแก้ปัญหา

แหล่งข่าว จาก บมจ. ทศท คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้การติดตั้งพอร์ตเอดีเอสแอลเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากกระบวนการจัดซื้อของ ทศท มีข้อจำกัดเงื่อนไขตามระเบียบหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม ยังไม่นำรูปแบบการจัดซื้อแบบบริษัทมาใช้ ทำให้ลูกค้าที่รอติดตั้งขณะนี้มีค้างถึง 200,000 ราย ซึ่งจำนวนลูกค้าที่รอนี้อยู่ในแผนงานปกติของการติดตั้งเอดีเอสแอลของ ทศท ยังไม่รวมกับแผน 1 ล้านพอร์ตของกระทรวงไอซีทีแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณลูกค้าสูงกว่านี้แน่  หาก รมว.ไอซีที ปลดประธานบอร์ด และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่จริง น่าจะทำให้กระบวนการทำงานในองค์กรเป็นไปได้เร็วขึ้น เพราะบอร์ดชุดนี้ทำงานมากว่า 7 เดือนแล้ว การปรับองค์กรก็ยังไม่เรียบร้อย รวมถึงไม่สามารถสั่งการให้ผู้บริหารสะสางงานตามนโยบายได้ด้วย ขณะที่ผู้ปฏิบัติได้สำรวจความต้องการของลูกค้าไว้แล้ว ทำให้เสียโอกาสทางการตลาดโดยไม่จำเป็น แหล่งข่าว กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.