แคนาดารุกตลาดไอที สร้างชื่อผู้ส่งออกตลาดโลก

หนุนโครงการจับคู่องค์กรไทย-แคนาดา พร้อมสนับสนุนเงินทุนขั้นต้น ดึงดูดใจนักลงทุนแคนาดา ศึกษาโอกาสถ่ายโอนเทคโนโลยี ปูทางร่วมมือธุรกิจระยะยาว

รัฐบาลแคนาดา เปิดแนวรุกไอทีไทย ล่าสุดหนุนโครงการจับคู่องค์กรไทย-แคนาดา สนับสนุนเงินทุนขั้นต้น โดยดึงนักลงทุนแคนาดาเข้ามาศึกษาโอกาสถ่ายโอนเทคโนโลยี ปูทางสู่ความร่วมมือด้านธุรกิจในระยะยาว หลังมั่นใจอัตราขยายตัวด้านนำใช้ไอทีเข้าไปช่วยงานพัฒนาของไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายไมเคิล วอร์ด ทูตพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ โปรแกรมความร่วมมือของแคนาดา (อิงซ์ : INC) ภายใต้ความรับผิดชอบของ "ซีด้า (แคเนเดียน อินเตอร์เนชั่นแนล ดิเวลลอปเม้นท์ เอเยนซี : CIDA)" เน้นให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนเงินทุน เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชน หรือรัฐบาลไทย กับภาคเอกชนของแคนาดา ในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับไอที และเทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากเห็นโอกาสการขยายตัวของตลาด และบทบาทของไอทีที่ทวีความสำคัญในการพัฒนาประเทศมากขึ้น

ขณะเดียวกัน มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างให้ประเทศแคนาดา เป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าด้านไอทีรายหนึ่งในตลาดโลก "แคนาดายังไม่เป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าตลาดไฮเทคมากนัก แม้ที่ผ่านมาเราขายสินค้าคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ฝ่าย เฉลี่ยถึงราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงอยากให้ประเทศไทยรู้จักเราในด้านนี้ด้วย" นายวอร์ด กล่าว

สำหรับบทบาทของซีด้านั้น จะพยายามประสานงานเพื่อให้บริษัทแคนาดาเข้ามาร่วมมือในการพัฒนากับองค์กร หรือรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาจะเน้นโครงการหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะที่ รูปแบบการดำเนินงานนั้น จะให้เงินสนับสนุนโครงการผ่านบริษัทแคนาดา เพื่อเข้ามาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกับเอกชน หรือหน่วยงานรัฐของไทย ส่วนขั้นตอนต่อไปหากเห็นถึงโอกาสทางการตลาดในระยะยาว จะขยายการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ ซีด้า มีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนไทยที่สนใจ เสนอโครงการเข้ามาให้พิจารณารับการสนับสนุนได้ ทั้งติดต่อเข้ามาโดยตรง หรือผ่านเวบไซต์ https://www.acdi-cida.gc.ca/index.htm ซึ่งหลังจากผ่านการพิจารณาขั้นต้นแล้ว จะประสานงานเพื่อหาบริษัทแคนาดา ที่สนใจในด้านเดียวกัน เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่อไป

สำหรับที่ผ่านมาสนับสนุนโครงการในประเทศไทยแล้ว 16 โครงการ ได้แก่ ด้านกิจการขนส่ง, การบริการด้านโทรคมนาคม รวมถึงฝึกอบรมประชาชนในชนบทให้เข้าถึงเครือข่ายข้อมูล ร่วมกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการ "รูเริ่ล เทเลเซ็นเตอร์", สนับสนุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการพัฒนาเครือข่ายข้อมูลเพื่อเกษตรกร (Agricultural Information Network) นอกจากนี้ ล่าสุด ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการใช้งานด้าน "จีโอเมติกส์" (Geomatics) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การนำไอทีเข้าไปใช้ในการสำรวจ, จัดทำระบบสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์ (จีไอเอส), การสำรวจระยะไกล (รีโมทเซ็นซิ่ง) และแผนที่ดาวเทียม โดยงานด้านดังกล่าวมีส่วนสำคัญสำหรับหน่วยงานราชการที่จะนำจีไอเอส ไปทำแผนที่ เพื่อใช้สำหรับการบริหารระดับตำบลต่อไป

ปูทางสู่การพัฒนาธุรกิจ

นายเอ็ด เคนเนดี้ ประธานสมาคมจีโอเมติกส์แห่งแคนาดา (Geomatics Industry Association of Canada) กล่าวว่า การนำไอทีเข้ามาใช้ในเชิงภูมิศาสตร์ หรือ Geomatics นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อวางแผนและปฏิบัติการในภาคธุรกิจหลายประเภท โดยผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าว สามารถอาศัยเทคโนโลยีทันสมัย ดึงข้อมูลจากดาวเทียมทั้งหลายที่โคจรอยู่เหนือประเทศ มาใช้ในภารกิจต่างๆ เช่น การเกษตร สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการวินาศภัย การป่าไม้ การจัดการและวางแผนที่ดิน งานเทศบาล โทรคมนาคม ฯลฯ ทั้งนี้ ส่วนของความร่วมมือกับประเทศไทยนั้น ได้พัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีด้านจีโอเมติกส์ อย่างต่อเนื่อง และล่าสุด แคนาดา สนใจจะสนับสนุนกรมธนารักษ์ของไทย ทั้งด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ เพื่อใช้ในงานบริหารที่ดินสาธารณะของประเทศไทยด้วย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.