รายงาน : "ซีดีเอ็มเอ" ภารกิจที่ท้าทายของ กสท

ในที่สุดบอร์ด บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็อนุมัติทีโออาร์ ซีดีเอ็มเอ ภูมิภาค 51 จังหวัด มูลค่า 13,400 ล้านบาท พร้อมประกาศขายซองได้ในปลายเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นเฟส 2 ของโครงการเดิมที่ติดตั้งโครงข่ายไว้เพียง 25 จังหวัด

 

อย่างไรก็ตาม ซัปพลายเออร์หลายราย ก็หวั่นเกรงว่า สเปคที่กำหนดในทีโออาร์ จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกันขึ้น เช่น การติดตั้งระบบซีดีเอ็มเอ 2000 1X EV-DO ครบ 1200 สถานีฐานทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ซัมซุง ลุ้นให้ผลเป็นเช่นนี้ ด้วยอ้างถึงการสร้างความได้เปรียบของ กสท ที่จะได้รับเมื่อลงเทคโนโลยีดังกล่าว ที่มีจุดขายคุณภาพของบริการข้อมูล (ดาต้า) เหนือกว่าจีเอสเอ็ม

 

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในด้านเทคโนโลยี ซัมซุงมีการพัฒนาชิปเซต EV-DO เอง จึงสามารถเสนอราคาได้ต่ำกว่ารายอื่น เช่น นอร์เทล โมโตโรล่า และอีริคสัน ที่ซื้อลิขสิทธิ์ ชิปเซต EV-DO จากควอลคอมม์ อย่างไรก็ตาม จากความมุ่งมั่นที่จะลงระบบ EV-DO 1200 สถานีฐานนั้น แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การลงทุน และทิศทางการทำธุรกิจของ กสท อย่างชัดเจนว่า ต้องการมุ่งรายได้จากบริการดาต้าเต็มที่ ส่วนสิ่งที่เป็นผลพลอยได้คือ บริการด้านเสียงและบรอดแบนด์ เพื่อสร้างความได้เปรียบและแตกต่างจากคู่แข่งรายเดิม

 

บุญคลี ชี้ต้อง "กัดฟัน" แข่งขัน

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ ต้องบริการเสียง (วอยซ์) เป็นหลัก คุณภาพของเสียงต้องดี โทรสายไม่หลุด โครงการมีคุณภาพ และครอบคลุมทุกพื้นที่ใช้งาน ส่วนจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อส่ง ดาต้า นั้นคงต้องดูตลาด เพราะยังมีการใช้งานน้อยและเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่เมื่อจะลงทุนมุ่งรองรับดาต้าแล้ว ก็เรียกได้ว่า "ต้องกัดฟัน" อย่างมาก เนื่องจากต้องรอความพร้อมของตลาดรวม ทั้งต้นทุนของเทคโนโลยีที่ต่ำลง จึงจะสร้างตลาดให้ใหญ่ขึ้นได้ เพราะไม่เช่นนั้นต้นทุนต่อหน่วยก็จะสูง มีผลต่ออัตราค่าบริการสูงขึ้น ผู้ใช้ก็จะมีไม่มาก โดยเขาคาดว่า ต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะพอมีตลาดดาต้า รวมถึง กสท ต้องเตรียมพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหาแหล่งรายได้ในการทำธุรกิจต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม "จะเห็นได้จากไม่มีบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมของโลกรายใด ไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" นายบุญคลีกล่าว

 

ซัปพลายเออร์มองควรทดลองตลาดก่อน

ขณะที่ แหล่งข่าวจากซัปพลายเออร์ ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลซีดีเอ็มเอ กล่าวว่า กสท ควรทดลองตลาดในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น หรือเป็นจังหวัดใหญ่ก่อน โดยลงระบบ EV-DO ไม่มากอาจเพียง 380 สถานีฐาน  ส่วนงบที่เหลือนำมาเพิ่มสถานีฐานและติดตั้งระบบ 2000 1x ซึ่งรองรับได้ทั้งวอยซ์ และดาต้า ให้ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น โดยอาจติดตั้งได้กว่า 2,000 แห่งใน 2 ปีแรก เนื่องจากหัวใจหลักของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็คือ วอยซ์ และพื้นที่ครอบคลุม เพราะแม้ติดตั้งระบบ 2000 1x คุณภาพการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงก็เร็วกว่าจีเอสเอ็ม 2-3 เท่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อ กสท เขียนเงื่อนไขเช่นนี้ ทุกรายก็ต้องยอมรับเพื่อหวังให้โครงการนี้เกิดขึ้น รวมถึงลดต้นทุนส่วนการติดตั้งลงให้ได้มากที่สุด เช่น ใช้เสา (ทาวเวอร์) ของไทย ไม่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะคุณภาพของได้มาตรฐาน และส่งออกต่างประเทศอยู่แล้ว

 

กสท ระบุต้องลงทุนเพื่อสร้างตลาด

ด้านนายอำนวยศักดิ์ ทูลศิริ รองประธานกรรมการ บมจ. กสท โทรคมนาคม และประธานเอ็กเซ็กคลูทีฟ คอมมิตตี (เอ็กซ์คอม) ได้กล่าวว่า โดยส่วนตัวเขาไม่เชื่อเรื่องการศึกษาตลาดว่า จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องมากนัก

โดยยกตัวอย่างในอดีต ที่มีการทำนายว่าในปี 2000 จะมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกประมาณ 1 ล้านเครื่อง แต่ปัจจุบันมีประมาณ 1,000 ล้านเครื่องแล้ว แสดงให้เห็นว่าเมื่อบางอย่างเป็นสิ่งใหม่ การประมาณการความต้องการของตลาดก็ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น เมื่อมีเป้าหมายว่าดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใด การลงทุนก็เป็นไปในทางนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างและประโยชน์ให้กับลูกค้า เนื่องจากเป็นการทำตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ ส่วนแนวทางการทำตลาดยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะมีรูปแบบใด เพราะต้องได้ข้อยุติกับ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ให้ชัดเจนก่อนเดินหน้าทำตลาดเต็มตัว เช่น การเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกันเพื่อให้ลูกค้าระบบซีดีเอ็มเอ ใช้งานได้อย่างราบรื่นและคุ้มค่าตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กสท มีเป้าหมายรายได้ต่อเลขหมาย 600-1,000 บาท เพื่อให้ธุรกิจนี้เลี้ยงองค์กรได้อย่างแท้จริง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.