อังกฤษพัฒนาอุปกรณ์ชาร์จไฟไร้สาย ระบุแค่วางก็เริ่มต้นทำงานได้ทันที

บริษัทสแพลชเพาเวอร์ในอังกฤษ เปิดประสบการณ์ในการอัดกระแสไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยีชาร์จไฟแบบไม่ใช้สาย พร้อมชูจุดขายสามารถทำงานได้พร้อมกันครั้งละหลายเครื่อง

สำนักข่าวบีบีซีนิวส์ รายงานว่า ระบบชาร์จไฟของสแพลชเพาเวอร์ เป็นแผ่นแบนเรียบขนาดเล็ก ซึ่งสามารถเสียบเข้ากับอุปกรณ์จ่ายกระแสไฟฟ้าตัวหลัก และโมดูลพิเศษในตัวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยผู้ใช้สามารถวางอุปกรณ์ลงบนแผ่นดังกล่าวและสามารถเริ่มต้นชาร์จไฟได้ทันที

นายเดวิด ไวท์วูด รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทสแพลชเพาเวอร์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดังกล่าว ใช้หลักการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าในการถ่ายโอนพลังงาน ซึ่งเคยมีใช้ในผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น แปรงสีฟันไฟฟ้าแบบชาร์จไฟได้ "เทคโนโลยีดังกล่าวมีข้อจำกัดเยอะ แต่สแพลชเพาเวอร์สามารถพัฒนาโซลูชั่นสำหรับใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบเคลื่อนที่ได้" นายไวท์วูด กล่าว พร้อมอธิบายว่า ระบบดังกล่าว ทำงานด้วยการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะถ่ายโอนพลังงานเข้าสู่อุปกรณ์ทางโมดูลสแพลช และจะส่งพลังงานเข้าสู่กระแสไฟฟ้าตรง ที่แบตเตอรี่ใช้ในการอัดกระแสไฟใหม่

นอกจากนี้ ตัวแทนบริษัทสแพลชเพาเวอร์ ยังย้ำอีกว่า ระบบดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง และไม่ลบข้อมูลที่แถบแม่เหล็กของบัตรเครดิตกรณีที่ผู้ใช้วางลืมไว้บนแผ่นชาร์จดังกล่าว ขณะเดียวกัน บริษัทในเมืองเคมบริดจ์แห่งนี้ ได้ดำเนินการเจรจาเพื่อรวมเทคโนโลยีตัวใหม่นี้ไว้ในผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่

"ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มเทคโนโลยีของบริษัทสแพลชเพาเวอร์ไว้ในโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องเล่นเอ็มพี3 ถูกมากๆ และผมคิดว่าผู้ผลิตสามารถทำได้" นายไวท์วูด กล่าว

ด้านบริษัทสแพลชเพาเวอร์ ระบุว่า เทคโนโลยีดังกล่าว จะใช้เงินเพียง 25 เซนต์ เป็นค่าใช้จ่ายในการเพิ่มเข้าไปในอุปกรณ์และโมดูลที่มีความหนาน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร พร้อมยืนยันว่า จะให้ประโยชน์มูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจ อาทิ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ เนื่องจาก สามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้ "ทุกครั้งที่คุณเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ อาจต้องเก็บชาร์จเจอร์ไว้ในลิ้นชักหรือขว้างทิ้ง แต่ด้วยเทคโนโลยีสแพลชเพาเวอร์แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น" นายไวท์แมน กล่าว ทั้งนี้ ทางบริษัทสแพลชเพาเวอร์ วางแผนว่าจะวางตลาดแผ่นชาร์จไฟตัวแรกของบริษัทได้ประมาณสิ้นปีนี้ โดยจะมีราคาระหว่าง 25 - 50 ดอลลาร์ (1,050 - 2,100 บาท)

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.