เมื่อจีนเริ่มขยับ (ต่อ)

เมื่อรัฐบาลจีนตั้งเข็มทิศของนโยบายการพัฒนาประเทศทางด้านการวิจัยไว้เรียบร้อยแล้ว ดูเหมือนถนนทุกสายจะขานรับพร้อมๆ กับการใส่ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการผลักดันอย่างคัดสรร เป้าหมายในอดีตก็ถูกปรับใหม่ เช่น การเร่งรัดให้มีนักศึกษาเข้าสู่ภาคอุดมศึกษา 15% ภายในปีค.ศ. 2010 ก็ถูกปรับเร่งให้เป็นปีค.ศ. 2005 ซึ่งหมายถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย 16 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2003 และการปรับเป้าการผลิตบัณฑิตศึกษาจาก 3 แสนคนให้เป็น 6 แสนคนภายในปีค.ศ. 2005

กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในกระทรวงศึกษาธิการของจีนก็เพิ่มบทบาทสูงขึ้น ทั้งในส่วนของการวางแผน เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการวิจัยในมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในส่วนของการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดนโยบายแห่งรัฐไปสู่มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ซึ่งรวมถึงการประสานงานระหว่างห้องปฏิบัติการสำคัญๆ และสร้างระบบฐานข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นตัวเชื่อมให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างธุรกิจ อุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย และประสานกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจองคาพยพของกรมวิทยาศาสตร์เขามีอยู่ห้าแผนก คือ แผนกบริหาร (Comprehensive division), แผนกวางแผน (Planning division), แผนกวิจัยพื้นฐาน (Basic research division), แผนกเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีระดับสูง (New and hi-tech division), และแผนกสารสนเทศ (Informationization division) ซึ่งแตกต่างจากการจัดตั้งองค์กรในระดับนโยบายของไทย

รัฐบาลจีนเข้าใจดีว่า การที่จะยกระดับประเทศให้มีความสามารถทัดเทียมกับประเทศทางตะวันตกนั้น คงอาศัยหลักการเท่าเทียมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงคิดค้นมาตรการเพื่อจะผลักดันให้ "สร้างจุดเด่น" และ "ลบจุดด้อย" ด้วยการทุ่มทรัพยากรไปยังจุดต่างๆ ที่มีศักยภาพ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการอุดหนุนอย่างไม่อั้นให้กับมหาวิทยาลัยที่เป็นเป้าในการยกระดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่งระดับโลก เขาจึงเลือกขึ้นมา 5 แห่ง แล้วทุ่มทุนเข้าไปหลายพันล้านหยวนจากส่วนกลาง แล้วเติมด้วยงบประมาณอีกส่วนหนึ่งจากรัฐบาลท้องถิ่น เสร็จแล้วก็ทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่ อีกส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการ 211 โครงการที่คัดเลือกขึ้นมา เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถใน "ความรู้" หรือเร่งให้เกิดนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยนั่นเอง

นโยบายแบบเฉพาะเจาะจง ไม่หว่านไปทั่วดังกล่าว ยังสะท้อนไปยังเรื่องของการสร้างและสนับสนุน "ทรัพยากรมนุษย์" อีกด้วย รัฐบาลจีนตั้งคำจำกัดความของ "นักวิจัยที่มีความสร้างสรรค์" ที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างไม่อั้นไว้ 4 ประการ คือ เป็นผู้มีความรู้ในทฤษฎี เทคโนโลยี และสินค้าใหม่ๆ อย่างกว้างขวาง, เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์, เป็นผู้ที่มีความสนใจ และกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ และการค้นพบสิ่งใหม่ๆ, และเป็นผู้ที่มีขีดความสามารถสูงในการทำวิจัยและร่วมงานกับผู้อื่นเป็นทีมงานได้ ทีนี้ทำอย่างไรจะได้นักวิจัยระดับเซียนดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ใช้เงินงบประมาณที่ได้มาจากรัฐบาลกลางและนักธุรกิจชาวฮ่องกง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นนายลี กาชิง ในรูปของมูลนิธิลำน้ำแยงซี ทำการดึงอาจารย์ระดับเจ้ายุทธจักร 500-1000 คนทั้งจากในและต่างประเทศ โดยสัญญาจะให้เงินโบนัสหนึ่งแสนหยวน นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ สวัสดิการ และค่าเดินทางระหว่างประเทศแล้ว โดยทำสัญญาผูกพันกัน 3-5 ปี

สำหรับ การปั้นนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ รัฐบาลก็มีโครงการสำหรับคนที่จบปริญญาโทหรือเอกอายุไม่เกิน 40 ปี เพื่อดึงดูดให้ชาวจีนโพ้นทะเลกลับมารับใช้ชาติ โดยให้งบประมาณสนับสนุนเป็นพิเศษโดยเฉลี่ยหัวละ 6 หมื่นหยวน ปัจจุบันดึงคนกลับมาได้ 1,422 คน ในจำนวนนี้มีประเภทยอดวิทยายุทธอยู่ประมาณ 100 คน นอกจากนี้ ยังเปิดห้องปฏิบัติการใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยทั้งเพื่ออาจารย์ภายในและอาจารย์รับเชิญ (Visiting scholars) มีการประกวดและให้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น 100 รางวัลจากนักศึกษา ปริญญาเอกในแต่ละปี แล้วมีของแถมให้สำหรับบัณฑิต ปริญญาเอก ที่สมัครใจอยู่ทำงานใน มหาวิทยาลัย ต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี ตัวอย่างสั้นๆ ของการขยายปีกสู่การแข่งขันระดับโลกของจีนคงเป็นประโยชน์ในการคิดค้น และขยับขยายมาตรการของไทย สักสิบเปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างก็ยังดี

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.