ทัศนะไอทีจีน

 

การย่างก้าวเข้าสู่การค้าโลกของจีนสร้างความตื่นตัว ความคาดหวัง และความวิตกไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ระดับบริษัทไปถึงระดับประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องผนวกเข้าไปในสมการ คือวัฒนธรรมของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมที่เราไม่ค่อยจะสันทัดหรือคุ้นเคยกันมากนัก ส่วนหนึ่งก็คือวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ของจีน

 

จุดเปลี่ยนของวัฒนธรรมในคนรุ่นใหม่ของจีน อาจใช้มาตรวัดของนักธุรกิจจีนสายไอทีได้ เนื่องจากเป็นวงการที่มีความเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะมีไฮเทคเป็นตัวกำหนดวงจรหรือโซ่ธุรกิจที่ไม่ค่อยจะรีรอใคร เพราะฉะนั้นโฉมหน้าของนักธุรกิจไอทีจีน จึงมีความแปลกใหม่ ทันสมัย กล้าได้กล้าเสียในบางเรื่อง และอาจมีการเมืองหนุนหลังได้ไม่ยาก เนื่องจากการเมืองจีนก็ต้องตามติดการพัฒนา เพื่อให้จีนก้าวกระโดดเข้าสู่วงจรการค้าโลกได้เร็ว

 

นักธุรกิจที่ผมได้พบมีบริษัทอี-คอมเมิร์ซ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความตกต่ำของตลาดอี-คอมเมิร์ซโลก เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนภาพหนึ่ง ว่าเพียงแค่ขนาดของตลาดในประเทศจีนเองก็สามารถขยับขับเคลื่อนธุรกิจได้ แม้ว่าสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจทั่วโลกจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม ที่น่าสนใจคือมุมมองของนักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งมีความคิดก้าวหน้า (progressive) ไปจนถึงรุนแรง (aggressive) ใช้สายตรงการเมืองเป็นตัวหนุน ในขณะเดียวกัน ก็มีความคิดเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (Geo-politic) ของตนเอง ภูมิศาสตร์การเมืองในส่วนของไอทีก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เขามองจีนว่าจะเป็น "ประเทศอินเทอร์เน็ต" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ภาษาจีนจะเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ของโลกใช้ในอินเทอร์เน็ตในอนาคต นักธุรกิจอเมริกันขมวดคิ้วด้วยความกังขาแฝงด้วยความรู้สึกยิ้มเยาะ เมื่อได้ฟังนักธุรกิจหนุ่มมังกรพูดภาษาอังกฤษสำเนียงจีนด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นว่า ศูนย์กลางไอทีจะเคลื่อนย้ายจากประเทศตะวันตกมายังโลกตะวันออกในอนาคต แผนภูมิของการเคลื่อนย้ายนี้มาจากภาพอนาคตที่แบ่งภารกิจกันระหว่างจีนในฐานะตลาดและทรัพยากรมนุษย์, ญี่ปุ่นในฐานะเงินทุนและเทคโนโลยี, อินเดียในฐานะทรัพยากรมนุษย์, ฮ่องกงในฐานะเงินทุน, และสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการค้า

 

ปักกิ่งเองก็เริ่มติดตามความเคลื่อนไหวของไอทีจีน รัฐบาลเริ่มเข้าใจเมื่อผลสำรวจ ทุกครึ่งปีตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว พบว่าประชากรอินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกๆ หกเดือน โทรศัพท์มือถือเองเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะมีผู้ใช้เหยียบ 260 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นักธุรกิจจีนเองไม่ค่อยจะมีข้อติดขัดในการแสวงหาทุนต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่ไหลเข้ามาผ่านฮ่องกง ประกอบกับการลดเลิกรัฐวิสาหกิจ เปิดโอกาสให้เอกชนจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจไอทีจีนจึงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น การจ้างงานในภาคบริการก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ นักธุรกิจจีนพบว่าจีนยังล้าหลังประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์มาก ทั้งขีดความสามารถในการผลิต การใช้ กำลังคน และนโยบายรัฐบาล แต่ก็เป็นโอกาสในฐานะผู้มาทีหลัง ที่สามารถลัดวงจรการพัฒนาโดยอาศัยบทเรียนความล้มเหลวของประเทศอื่น

 

ที่น่าสนใจคือการจัดทำดรรชนีขีดความสามารถของไอทีจีนระหว่างเมืองต่างๆ ดรรชนีชี้วัดทำให้นักธุรกิจจีนเห็นตลาดได้ชัดเจนขึ้น ในขณะที่รัฐบาลจีนเห็นช่องว่างที่เป็นข้อมูลในการวางแผนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่พัฒนาไอทีขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฟู่เจี้ยน กวงดง ฯลฯ หรือเมืองที่ล้าหลังสุดกู่อย่างทิเบต ยูนนาน กวงสี ดรรชนีไอทีระหว่างเมืองยังสะท้อนให้เห็นภาพว่า การพัฒนาไอทีในรอบปีที่ผ่านมามีความเจริญก้าวหน้าร้อยละ 20 ในภาพรวม ขณะที่ช่องว่างระหว่างเมืองที่ไปได้ดีกับเมืองล้าหลังห่างกันอยู่ 7 เท่าตัวในเชิงปริมาณ

ในปัจจัยการเจริญเติบโตของจีนที่ใช้ในการชี้วัด พบว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของจีนก้าวหน้าไปไกลที่สุด ตามมาด้วยการประยุกต์ใช้ไอที การพัฒนานโยบาย และการพัฒนาบุคลากร

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.