เอกชนจีนกับไอที

 

เอกชนไอทีของจีนบางคนมีความเห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ ภูมิภาคเอเชียที่มีความเข้มแข็งทางด้านไอที มีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ของโลกไปพร้อมๆ กับภูมิภาคที่เข้มแข็งอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคพื้นอเมริกาเหนือ และภาคพื้นยุโรป

 

จีนคิดว่าด้วยตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ 8% ของ GDP โดยเฉลี่ย เมื่อเปรียบเทียบกับ 3% ของยุโรป และ 2% ของสหรัฐอเมริกา จะทำให้จีนและเอเชียมีโอกาสในการแข่งขันและต่อรองกับผู้เล่นใหญ่ๆ ในโลก ที่สำคัญ อีกประการหนึ่งคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อุปกรณ์มือถือ ซึ่งในไม่ช้าไม่นาน เอเชียจะมียอด ผู้ใช้สูงที่สุดในโลก เพราะในอัตราเติบโต ของยอดผู้ใช้ 20% ที่เป็นสถิติของทวีปเอเชีย เป็นส่วนเติบโตของจีนถึง 35% และด้วยประชากรพันสองร้อยล้านคนของจีน ตลาดใหญ่ของโลกมือถือทุกวันนี้ และในอนาคตไม่เป็นคำถามว่าจะ อยู่ที่ไหน นอกจากจีนและเอเชีย

 

อินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน เพียงประเทศจีนประเทศเดียวก็มีอัตราการ ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นปีละ 100% ผนวกกับการแพร่กระจายของการติดตั้ง เครือข่ายความเร็วสูง (Broadband Network) ทำให้เกิดการใช้งาน (Broadband applications) อย่างทวีคูณ ประเทศในเอเชียที่จะเป็นหลัก ในการใช้เครือข่ายความเร็วสูงคือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ทุกวันนี้ เป็นนโยบายของรัฐในการใช้เครือข่ายความเร็วสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ  เมื่อประเทศเหล่านี้มีความชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบายแล้ว ทำให้นักลงทุนต่างมีความมั่นใจสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมเองได้ยินผู้นำของทั้งจีนและเกาหลี ในระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ กล่าวสุนทรพจน์ไว้ในที่สาธารณะหลายครั้งว่า นโยบายไอทีดังกล่าวเป็น "นโยบายเศรษฐกิจ" ซึ่งต่างจากนโยบายการพัฒนาไอที อย่างที่เคยเข้าใจกัน ในทางตรงกันข้าม ไอทีถูกมองเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ที่มีอุปสงค์เป็นตัวตั้ง (demand-driven)

 

ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้เป็นที่หมายตาของนักลงทุนที่ขนเงินมาลง ทุนจากต่างประเทศทั่วโลก (Foreign Direct Investment : FDI) เพื่อหวัง ผลกำไร ยิ่งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับภูมิภาคตะวันออกกลาง รุนแรงขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 11 กันยายนจะไม่หยุดลงง่ายๆ แต่จะทวีคูณความรุนแรง ทางการเมืองและการทหาร จนทำให้ภาคเศรษฐกิจ ของโลกเกิดความปั่นป่วน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งภัยคุกคามหรือโอกาสสำหรับการเติบโต ของไอทีในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากปัญหาความรุนแรงดังกล่าว

 

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลในเอเชีย หากจะดูรวมๆ คงจะอยู่ในราว 3,700 ล้านคน อยู่ในจีน 1,200 ล้านคน อินเดีย 1,000 ล้านคน ในอาเซียนมีอยู่ราว 500 ล้านคน ที่เหลือกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ของทวีปเอเชีย คิดเป็น 60% ของประชากรโลก และนับวันจะมีคนรุ่นใหม่ ของเอเชีย ซึ่งมีความรู้ มีทักษะ และมีความสามารถที่จะเสียบเข้าไปในกระบวนการ โลกาภิวัตน์ และเศรษฐกิจใหม่ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากระบบการศึกษาซึ่งมีลัทธิขงจื๊อ และความเชื่อแบบเอเชียตั้งแต่บรรพบุรุษที่ยก เอาการศึกษาของลูกหลานเป็นสำคัญ

 

อี-เอเชีย (e-ASIA) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเกิดขึ้น จะโดยธรรมชาติ หรือจัดตั้งจนสุก งอมก็ตามที ในทรรศนะของนักธุรกิจจีนคิดว่า จะต้องเกิดขึ้นโดยมีผู้เล่น ทั้งสองฝ่ายคือ คนของราชการและคนของเอกชน มีการลงทุนที่เริ่มต้นสนับสนุนโดยภาครัฐ เพื่อให้มีเม็ดเงิน ลงไปยังอุตสาหกรรมไอที ที่จะเป็นยี่ห้อของเอเชียโดยแท้ เป็นการจุดประกาย ความเข้มแข็งให้กับเทคโนโลยีเอเชีย

 

เขตการค้าเสรี (Asia Free Trade Zone) ก็เป็นอีกนัยสำคัญหนึ่ง ซึ่ง e-ASIA จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยี จากการเปิดตลาดให้สินค้าไหลไปไหลมาได้สะดวก แต่โดยที่การเจรจา เพื่อเปิด ตลาดมักจะใช้เวลานาน และมีความซับซ้อนมาก การจัดตั้งเขตการค้าเสรีของเอเชีย ในเบื้องต้น จึงควรมุ่งเปิดตลาดฝั่งเอเชียตะวันออก (East Asia Free Trade Area: EAFTA) ก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้น การตกลงระหว่างประเทศในแถบเอเชียในเรื่องมาตรฐานสินค้า มาตรฐานวิธีการตรวจรับ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานเดียวกันก็เกิดขึ้นได้ เอเชียก็จะเริ่มกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าตามสั่ง (OEM) ได้ทันที แต่ที่จะสำคัญยิ่งต่อเอเชีย คือ กำลังคนของเอเชีย ซึ่งจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะเข้า เกณฑ์ที่เรียกว่าแรงงานความรู้ (Knowledge Workers) ที่จะเริ่มหันเหมาจาก การไปทำประโยชน์ให้กับอเมริกาหรือโลกตะวันตก มายังบ้านเกิดเมืองนอน เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ดี ทั้งผลตอบแทนทางการเงิน การได้อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนและญาติมิตร รวมถึงความรู้สึกภูมิใจ ในชนชาติของตนเอง แรงงานเอเชียในอนาคตจะเป็นหัวใจหลัก ของการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค โดยมีไอทีเป็นอุตสาหกรรมผู้นำที่กระจายการประยุกต์ ใช้ไปในอุตสาหกรรมรายสาขาอื่นๆ รวมทั้งภาครัฐและภาคสังคม e-ASIA จึงมิใช่เรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใด หากเงื่อนไขการพัฒนาเป็นไปอย่างเอื้ออำนวย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.