รายงาน : "จีน" มุ่งพัฒนามาตรฐานไอทีเทียบชั้นโลกตะวันตก

ฮ่องกง - จีนย้ำชัด นโยบายปลดแอกอุตสาหกรรมไอที ประกาศเดินหน้า สร้างมาตรฐานประจำชาติ ทั้งเครือข่ายมือถือ ระบบโทรทัศน์ และเทคโนโลยีบีบอัด ชี้จุดประสงค์ หวังลดการพึ่งพาตะวันตก ขณะที่เตรียมตั้งตัว เป็นมหาอำนาจในตลาดโลก เปิดให้ต่างชาติ เช่าสิทธิบัตรราคาถูก

 

ประเทศจีน ได้ทำให้อุตสาหกรรมไร้สายทั่วโลกต้องประหลาดใจเป็นครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน โดยการประกาศว่า จะสร้างมาตรฐานเครือข่าย 3จี (3G) ของตนเอง จากนั้นไม่นาน ก็ประกาศว่า ตนจะพัฒนาฟอร์แมตโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และเมื่อราว 5 สัปดาห์ที่แล้ว จีนยังได้ประกาศว่าตนกำลังสร้างมาตรฐานไฟล์วิดีโอและออดิโอตัวใหม่ สำหรับเครื่องเล่นวิดีโอเกม และเครื่องเล่นดีวีดียุคหน้า และล่าสุด จีนก็ได้ออกมาประกาศร่วมมือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ สำหรับใช้แทนซอฟต์แวร์วินโดว์ส ของยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ด้วย

 

สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้จีนหันมาสร้างมาตรฐานเทคโนโลยีระดับสูงของตัวเอง ก็เนื่องมาจากความต้องการที่จะมีฐานะเท่าเทียมกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายอื่นของโลก เพราะแม้ว่าขณะนี้จีนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับหนึ่ง แต่เทคโนโลยีหลักเกือบทั้งหมดที่ใช้ ยังคงมาจากต่างประเทศ สถานการณ์เช่นนี้ มีผลกระทบกับผู้ผลิตในประเทศไม่น้อย บริษัทผลิตเครื่องเล่นดีวีดีจีน ต้องจ่ายเงินราว 3.50-5 ดอลลาร์ ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ดีวีดีชาวยุโรปหรือญี่ปุ่น ในการผลิตอุปกรณ์แต่ละเครื่อง ขณะที่บริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในญี่ปุ่นและสหรัฐ จะจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำกว่า เพราะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บางตัวที่ใช้อยู่แล้ว

 

ชูข้อได้เปรียบประชากรมหาศาล

โดยทั่วไป การกำหนดมาตรฐาน เป็นเพียงข้อตกลงว่า จะกำหนดการปฏิบัติงานทางเทคนิคกันอย่างไร โดยอาศัยแนวคิดที่ได้รับสิทธิบัตรแล้วหลายตัวประกอบกัน เช่น มาตรฐาน "เอ็มเพ็ก-2" (MPEG-2) สำหรับเปลี่ยนไฟล์วิดีโอและออดิโอให้กลายเป็นสัญญาณดิจิทัล ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ก็มาจากสิทธิบัตรของบริษัท 22 แห่งทั่วโลก แต่ไม่มีบริษัทใดเลยที่อยู่ในประเทศจีน นอกจากนี้ การสร้างมาตรฐานของตนเอง ยังทำให้จีนสามารถขยายเทคโนโลยีที่ตนคิดค้นขึ้นออกไปสู่ตลาดโลกได้ โดยเฉพาะเมื่อมีข้อได้เปรียบ จากการมีตลาดในประเทศขนาดมหาศาลอยู่แล้ว เนื่องจากหากจีนบังคับให้อุปกรณ์เทคนิคที่วางขายในประเทศต้องใช้มาตรฐานของตนแล้ว บริษัทต่างชาติที่หวังจะเจาะตลาดจีน ก็ย่อมถูกบังคับให้หันมาผลิตสินค้า โดยใช้มาตรฐานเหล่านี้ตามไปด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งยังหันมาสนับสนุนจีนในการพัฒนามาตรฐานใหม่อย่างเปิดเผย อาทิ ซีเมนส์ เอจี ซึ่งกำลังเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยพัฒนามาตรฐาน 3จี สำหรับจีน ที่มีชื่อว่า "ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ" (TD-SCDMA) ขณะที่ทั้งไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ และฟิลิปส์ ก็ร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตในประเทศ เพื่อประกาศใช้มาตรฐานบีบอัดไฟล์วิดีโอและออดิโอตัวใหม่เช่นกัน

 

ชี้ซ้ำรอยนโยบายแบ่งแยกมาตรฐาน

นักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว จีนกำลังเดินตามทางที่ประเทศอื่นๆได้ทำไว้ มาตรฐานทางเทคนิคในโลกนี้มีอยู่หลากหลายรูปแบบ เนื่องจากประเทศต่างๆ ก็สนับสนุนเทคโนโลยีที่บริษัทในประเทศตนคิดค้นขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้มือถือและทีวีในทวีปยุโรป ใช้มาตรฐานที่แตกต่างจากสหรัฐ "เราก็แค่ทำเหมือนกับที่ประเทศอื่นๆทำ" นายสตีเฟน หว่อง ประธานกลุ่มบริษัทสกายเวิร์ธ ดิจิทัล โฮลดิ้งส์ จำกัด หนึ่งในบริษัทผลิตทีวีที่ใหญ่ที่สุดของจีน กล่าว อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า จีนก็ไม่ต้องการปิดกั้นผู้บริโภคและผู้ผลิตของตน จากการใช้เทคโนโลยีที่อาจมีราคาถูกและมีคุณภาพดีกว่าของประเทศอื่น ดังกรณีของมาตรฐานเครือข่ายไร้สาย 3จี ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศ ตัดสินใจสนับสนุนมาตรฐานไวด์แบนด์ ซีดีเอ็มเอ (WCDMA) ของยุโรปมากกว่า

 

"มาตรฐานยุโรปจะคุ้มค่าทางการผลิตมากกว่า" นายแจ๊คกี้ เอส.แอล. ยุง ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการเงิน บริษัทไชน่า โมบาย กล่าว พร้อมเสริมว่า ส่วนมาตรฐานทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ ของจีน อาจเป็นเครือข่ายเสริมหรือระบบสนับสนุน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังวางแผนที่จะใช้มาตรฐาน 3จี ทั้ง 2 ตัวไปด้วยกัน เหมือนกับที่ประกาศใช้เครือข่ายมือถืออย่างเป็นทางการถึง 2 ระบบในประเทศขณะนี้

 

หวังแข่งมหาอำนาจตะวันตก

แต่ในส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆนั้น จีนกลับมีนโยบายที่จะขยับขยายอิทธิพลออกไปนอกประเทศด้วย โดยการให้เช่าสิทธิบัตรในราคาต่ำกว่าบริษัทคู่แข่ง โดยเฉพาะเจ้าของมาตรฐานบีบอัดไฟล์ดิจิทัลตัวใหม่ "เอวีเอส" (AVS) ก็เตรียมประกาศใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับเอ็มเพ็ก-4 (MPEG-4) มาตรฐานสำหรับเครื่องเล่นดีวีดี, วิดีโอเกม และอินเทอร์เน็ตยุคหน้า (ของตะวันตก) โดยวิศวกรชาวจีน ได้เริ่มโครงการค้นคว้ามาตรฐานดังกล่าวไปเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่เจ้าของมาตรฐานเอ็มเพ็ก-4 ถูกต่อต้าน ที่ใช้มาตรการเก็บค่าต๋งที่ซับซ้อนและแพงเกินไป ทั้งนี้ จีนเอง ได้ประกาศว่า จะเก็บค่าธรรมเนียมสิทธิบัตรเพียงไม่กี่เซนต์ต่ออุปกรณ์แต่ละตัว "ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างคุณภาพระดับบน, คุณสมบัติการใช้งานง่าย และค่าใช้จ่ายต่ำ" นายเกา เหวิน หัวหน้ากลุ่มเอวีเอส กล่าว

 

บังคับใช้ซอฟต์แวร์ท้องถิ่น

เมื่อเดือนสิงหาคม รัฐบาลจีนยังประกาศใช้นโยบายกำหนดให้ทุกกระทรวง ใช้ซอฟต์แวร์ออฟฟิศที่พัฒนาขึ้นในประเทศ "ดับบลิวพีเอส ออฟฟิศ 2003" (WPS Office 2003) เพื่อหยุดการครอบงำของไมโครซอฟท์ในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยตั้งเป้าว่า จะกำจัดระบบปฏิบัติการวินโดว์ส และออฟฟิศ ออกจากคอมพิวเตอร์ของทางการนับแสนเครื่องได้ภายในสองหรือสามปีข้างหน้านี้ พร้อมเสริมว่า นโยบายใหม่ ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนข้าราชการที่ใช้ซอฟต์แวร์ออฟฟิศท้องถิ่นจาก 30% เป็น 100% เต็มนั้น มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศและป้องกันระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลของชาติ ขณะที่ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม บริษัท คัลเจอร์คอม โฮลดิ้งส์ ได้เปิดตัวชิพ "วี-ดรากอน" (V-Dragon) สำหรับคอมพิวเตอร์ระบบลินิกซ์ ซึ่งออกแบบให้รองรับการประมวลผลข้อมูลภาษาจีนโดยเฉพาะ และจะรันบนระบบปฏิบัติการลินิกซ์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "มิโดริ" (Midori) "การพัฒนาสถาปัตยกรรมฝังตัวลินิกซ์ มิโดริ วี-ดรากอน สอดรับกับนโยบายด้านไอทีของรัฐบาลจีนที่ต้องการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ" ประธานบริษัท กล่าว โดยบริษัทต่างชาติ ที่จะได้รับผลกระทบจากการที่จีนหันมาพัฒนาชิพของตัวเองมากที่สุด คือ อินเทล และไมโครซอฟท์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.