จีนขึ้นแท่นเจ้าตลาดบรอดแบนด์ดีเอสแอล

ผลสำรวจ ระบุชัดจำนวนผู้ใช้งานทำสถิติเพิ่มสูงถึงเกือบ 11 ล้านคน ส่งผลขึ้นแท่นตลาดอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่เบียดญี่ปุ่นรั้งอันดับสอง พร้อมทิ้งยักษ์ใหญ่มะกันรั้งอันดับสี่ ด้านผู้เชี่ยวชาญ เผยเอเชีย-แปซิฟิก อัตราการเติบโตอุตสาหกรรมบรอดแบนด์สูงสุด พร้อมคาดจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกเหยียบ 200 ล้านคน ภายในปลายปีหน้า

 

สำนักข่าวซีเน็ต รายงานข้อมูลจากสมาคม ดีเอสแอล ฟอรัม ซึ่งระบุว่า จีนกำลังจะกลายเป็นตลาดบรอดแบนด์ ดีเอสแอล ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่นเดียวกับญี่ปุ่น และสหรัฐ ทั้งนี้ รายงานจากทางสถาบัน ระบุว่า ในปี 2546 จีนมีประชากรที่ใช้เครือข่ายบรอดแบนด์ดีเอสแอล (DSL-digital subscriber line) สูงถึง 10.95 ล้านคน โดยตัวเลขดังกล่าว ยังไม่นับรวมถึงผู้ใช้ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง อัตราการเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดดีเอสแอลที่ใหญ่สุดในโลก และทิ้งให้ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้เครือข่ายบรอดแบนด์สูงเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติ 10.27 ล้านคน ส่วนสหรัฐ ตกลงไปอยู่ที่อันดับสาม ด้วยสถิติ 9.12 ล้านคน ขณะที่ผู้ครองอันดับสี่ ได้แก่ เกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้ใช้งานทั้งหมดราว 6.43 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกราว 63.8 ล้านคน

 

บริการระบบดีเอสแอล จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ ผ่านทางสายโทรศัพท์ และเป็นคู่แข่งกับระบบบรอดแบนด์ ของผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และการเชื่อมต่อผ่านดาวเทียมโดยตรง ทางสมาคม เสริมด้วยว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงที่มีอัตราการใช้ระบบดีเอสแอลสูงที่สุด โดยมีผู้ใช้ทั้งหมดกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 32% ของตลาดทั่วโลก โดยประเทศ ที่มีส่วนช่วยให้ตลาดบรอดแบนด์ในเอเชีย ขยายตัวอย่างมากในปีที่แล้ว ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนสมาชิกบริการดีเอสแอลเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 4.6 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโตในประเทศ 82% ประเทศไต้หวัน มีระดับการเติบโตราว 38% โดยมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นราว 775,460 คน และออสเตรเลีย มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นทั้งหมด 300,000 คน คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 173% ด้าน นายทอม สตาร์ ประธานดีเอสแอล ฟอรัม ตั้งเป้าว่า จะมีจำนวนสมาชิกบริการดีเอสแอลทั่วโลก สูงถึง 200 ล้านคน ภายในปลายปี 2548

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2547

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.