จีนขึ้นแท่นที่ 3 ตามติดสหรัฐ-ญี่ปุ่น ทุ่มงบฯวิจัยและพัฒนามากที่สุด

องค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (OECD) เผยจีนขึ้นแท่นอันดับสามของโลกในการจัดอันดับประเทศที่ใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาทางเศรษฐกิจมากที่สุด ตอกย้ำการเติบโตสู่การพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ขณะสหรัฐยังรั้งอันดับหนึ่ง

สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยผลรายงานคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาห กรรม ล่าสุดที่จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยองค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดีว่า จีนได้ก้าวขึ้นมาอยู่อันดับสามในการจัดอันดับประเทศที่ใช้จ่ายเงินในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (R&D) มากที่สุดในโลก โดยในปี พ.. 2544 ค่าใช้จ่ายด้านอาร์แอนด์ดีของจีนสูงถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหรัฐซึ่งครองอันดับหนึ่งมีค่าใช้จ่ายอาร์แอนด์ดีถึง 282 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยญี่ปุ่นที่มีค่าใช้จ่ายด้านอาร์แอนด์ดี 104 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเยอรมนีมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพียง 54 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่น่าจับตามองคือ อินเดีย ที่มีค่าใช้จ่ายอาร์แอนด์ดี 19 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้อินเดียติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศทั่วโลกในการจัดอันดับครั้งนี้

จากข้อมูลของโออีซีดี จำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาจะถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงความพยายามของประเทศนั้นๆ ในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศไปสู่ระบบอุตสาหกรรมที่มีองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ซึ่งโออีซีดีเผยว่า การใช้จ่ายอาร์แอนด์ดีของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา จาก 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในปี พ.. 2539 มาที่ 1.1% ในปีล่าสุด ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในภาคธุรกิจที่หันมาใช้ประเทศจีนเป็นฐานการผลิต สัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ 60% ของค่าใช้จ่ายในปี พ.. 2544 มาจากบริษัททั้งในประเทศและต่างชาติ ส่วนที่เหลือมาจากรัฐบาล

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติ เช่น อัลคาเทล เจเนอรัล อิเล็กทริก ไมโครซอฟท์ และซีเมนส์ ต่างเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในจีน เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมทั้งมีแรงงานราคาถูกที่มีคุณภาพ โดยการวิจัยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เทคโนโลยีประยุกต์ เช่น การพัฒนาโทรศัพท์มือถือแบบใหม่ หรือเทคโนโลยียานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศของไต้หวัน ก็หันมาลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีในจีนมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากค่าจ้างวิศวกรมีราคาต่ำกว่าในไต้หวัน ทำให้ปัจจุบันจีนมีจำนวนนักวิจัยมากถึง 743,000 คน นับเป็นประเทศที่มีนักวิจัยมากเป็นอันดับสองของโลก นำหน้าญี่ปุ่นและรัสเซีย ที่มีนักวิจัยเพียง 648,000 และ 505,000 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งครองอันดับหนึ่งมีนักวิจัยถึง 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ ถือได้ว่ารายงานชิ้นล่าสุดของโออีซีดีเป็น ความสำเร็จครั้งแรกขององค์การนานาชาติที่สามารถจัดอันดับการใช้จ่ายด้านอาร์แอนด์ดีของจีนได้ หลังจากในอดีตการประเมินค่าใช้จ่ายของจีนในสาขาดังกล่าวทำได้ลำบากมาก เนื่องจากระบบการเก็บสถิติของจีนยังไม่มีประสิทธิภาพ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.