รายงาน : ชิพคอมพ์ปี 45 ราคาลด-ประสิทธิภาพเพิ่ม

แนวโน้มตลาดชิพปี 2545 มีแววแข่งขันรุนแรงขึ้นอีก เหตุมีผู้ผลิตรายใหม่เพิ่ม ขณะเดียวกันราคากลับมีแววปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประสิทธิภาพขึ้นสูง

โดยล่าสุดปีนี้ บริษัทอินเทล คอร์ป. ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตชิพ ชิงเปิดตัว ชิพเพนเทียม 4 รุ่น (Pentium 4) ความเร็ว 2.2 กิกะเฮิรตซ์ และ 2.0 กิกะเฮิรตซ์ ในญี่ปุ่น ก่อนกำหนดเวลาที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะเปิดตัวชิพดังกล่าวต้นเดือนมกราคม

ชูเทคโนโลยีใหม่เพิ่มประสิทธิภาพ ตัวแทนของอินเทล เปิดเผยว่า ชิพเพนเทียม 4 รุ่นใหม่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงชิพรุ่นใหม่ที่มีความเร็ว ในการประมวลผลเหนือชิพรุ่นก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ยังเป็นชิพใหม่ตัวแรกที่ใช้เทคโนโลยีนอร์ธวูด (Northwood) ของอินเทล ซึ่งใช้กระบวนการผลิต 0.13 ไมครอน ที่เพิ่มจำนวนชั้นของหน่วยความจำแคชเป็น 2 เท่า หรือ 512 กิโลไบต์ โดยปัจจุบัน ชิพส่วนใหญ่ของอินเทล ใช้เทคโนโลยีวิลลาเมตต์ (Willamette) ซึ่งใช้กระบวนการผลิต 0.18 ไมครอน ส่วนข้อดีของเทคโนโลยีนอร์ธวูด อยู่ที่ความประหยัดพลังงาน และใช้ไฟขนาด 1.5 โวลต์ ซึ่งต่ำกว่าเทคโนโลยีวิลลาเมตต์ ที่ใช้กระแสไฟขนาด 1.75 โวลต์

ขณะที่ราคาของตัวประมวลผลรุ่นความเร็ว 2.2 กิกะเฮิรตซ์ ในร้านค้าปลีก จะอยู่ที่ระดับราคา 79,800-81,800 เยน (609-624 ดอลลาร์) ส่วนรุ่นความเร็ว 2.0 กิกะเฮิรตซ์ จะมีราคาราว 60,000 เยน โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ราคาดังกล่าวจะลดลงในเร็วๆ นี้ เนื่องจากอินเทลมีแผนจะเปิดตัวชิพเพนเทียม 4 รุ่นความเร็ว 2.2 กิกะเฮิรตซ์ ราวต้นเดือนมกราคม ด้วยราคา 615 ดอลลาร์ และลดลงเหลือ 560 ดอลลาร์ ในวันที่ 27 มกราคม ซึ่งหากอินเทลยังยึดตามแผนการเดิม ชิพรุ่นใหม่ดังกล่าวควรจะลดราคาลง 9% ภายใน 1 เดือน

พิสูจน์สุภาษิต"รวมกันเราอยู่"

ขณะที่ค่ายผู้ผลิตชิพชั้นนำในญี่ปุ่น 11 แห่ง ซึ่งนำทีมโดยฮิตาชิ และเอ็นอีซี ร่วมประชุมหารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือจัดตั้งโรงงานผลิตชิพรุ่นใหม่ร่วมกัน

หนังสือพิมพ์นิฮอน เคไซ ชิมบุน รายงานว่า โรงงานร่วมผลิตชิพข้างต้น จะแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการได้ราวต้นปี พ.ศ.2545

ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันเป็นครั้งแรกของบริษัทผลิตชิพชั้นนำทั้ง 11 แห่งของญี่ปุ่น ซึ่งเคยผนึกกำลังพัฒนาด้านเทคโนโลยีกันมาก่อน สำหรับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือมูลค่า 1,250 ล้านดอลลาร์ในครั้งนี้ รวมถึงบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอร์ป., บริษัท โตชิบา คอร์ป., บริษัทฟูจิตสึ, บริษัท โอกิ อิเล็กทริค อินดัสทรี และบริษัท มัตสึชิตะ อิเล็กทริคอล อินดัสเทรียล โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนภาวะขาดทุน ซึ่งเป็นปัญหาหนักของอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของญี่ปุ่นในขณะนี้ กระนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า โรงงานร่วมผลิตชิพแห่งใหม่ จะใช้เทคโนโลยี 0.10 ไมครอน โดยเน้นการผลิตชิพที่มีหน้าที่ประมวลผลงานของภาคการผลิตโทรทัศน์ระบบดิจิทัลและอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะทำตลาดชิพจากโรงงานร่วมแห่งนี้ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

ไฮนิกซ์นำทีมปรับราคาขึ้น

ส่วนค่ายชิพชั้นนำของเกาหลีใต้ อย่างบริษัท ไฮนิกซ์ เซมิคอนดัคเตอร์ ประกาศเตรียมขึ้นราคาขายชิพเป็นครั้งที่สามในรอบหลายสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมผลิตชิพ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า บริษัทผู้ผลิตชิพรายอื่น จะปรับราคาขึ้นตาม ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัท ไมครอน เทคโนโลยี อิงค์.ผู้ผลิตชิพรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ชี้แจงว่า หากตลาดขานรับการขึ้นราคาของไฮนิกซ์ บริษัทจะปรับราคาขึ้นตามความเหมาะสม ส่วนบริษัทอินฟินิออน เทคโนโลยีส์ เอจี ของเยอรมนี และบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โค.อยู่ระหว่างตัดสินใจพิจารณามาตราขึ้นราคา อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาขายชิพจะส่งผลกระทบทำให้ความต้องการชิพลดลง และเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 ที่ผ่านมา

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 มกราคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.