ซิสโก้ ดันวอยซ์โอเวอร์ไอพี เจาะตลาดเอเชีย

มั่นใจเอเชียเป็นตลาดหลักใน 3-5 ปีข้างหน้า เหตุแนวโน้มตลาดด้านนี้ จะขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซิสโก้ ชู วอยซ์โอเวอร์ไอพี ลุยตลาดเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งไทย ย้ำเอเชียเป็นตลาดหลัก ใน 3-5 ปีข้างหน้า เหตุแนวโน้มตลาดด้านนี้ จะขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นายชารัต ซินฮา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ กล่าวว่า ตลาดไทยมีแนวโน้มที่ผู้ให้บริการสื่อสารทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มหันมาลงทุนเครือข่ายวอยซ์โอเวอร์ไอพีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเสรีโทรคมนาคม โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานทางไกลในประเทศ จะเปิดให้บริการโทรทางไกลราคาประหยัดได้ ขณะที่ โทรศัพท์เคลื่อนที่จะลงทุนเครือข่ายเพื่อต่อกับต่างประเทศโดยตรง ไม่ต้องผ่านการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายของการให้บริการจะลดลงเหลือเพียงผ่านผู้ให้บริการในประเทศ และผู้ให้บริการต่างประเทศ

ตลาดไทยนับว่าเริ่มใช้งาน (Early adopter) โดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งใช้เทคโนโลยี เอสเอส 57 เป็นสัญญาณส่งระหว่างชุมสายโทรศัพท์ที่เร็ว และให้บริการหลากหลายมากขึ้น โดยขณะนี้เป็นระยะแรกของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต่อยอดบริการใหม่ๆ ได้ในเฟสที่ 2 ทั้งบริการวอยซ์ วีพีเอ็น ที่ให้บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายไอพีอันมีต้นทุนต่ำกว่าเครือข่ายเสียง และบริการยูนิฟายด์ คอมมูนิเคชั่น ที่ให้บริการสื่อสารหนึ่งเดียว ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กล่าว

มีช่องโตทั้งภูมิภาค

ทั้งนี้ นายแกรี่ แจ็คสัน รองประธานฝ่ายปฏิบัติการเอเชีย บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า บริษัทยังมองเห็นช่องทางโอกาสเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า แม้สถานการณ์ในปัจจุบันเศรษฐกิจคงถดถอย และหลายๆ ประเทศได้คาดการณ์การเติบโตตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไว้ไม่สูงนัก เนื่องจากภูมิภาคนี้มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่จะเติบโตเฉลี่ย 2543-2548 ถึง 31% รวมถึงจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งคาดว่า ปี 2547 จะมากกว่า 250 ล้านเครื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้องค์กรต้องอัพเกรดระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการใช้งาน (แอพพลิเคชั่น) ใหม่ๆ ทั้งระบบการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เลิร์นนิ่ง ระบบคอนเทนต์ สวิทชิ่ง ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบโทรศัพท์ไอพี (ไอพี เทเลโฟนี) และระบบการสำรองข้อมูลผ่านเครือข่าย (แซน) รวมทั้งปัจจัยการเปิดเสรีโทรคมนาคม การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน และไต้หวันที่จะตามมา ทำให้ความต้องการอุปกรณ์เครือข่ายเติบโตขึ้นด้วย โดยคาดว่า กลุ่มสินค้าในธุรกิจวอยซ์โอเวอร์ไอพี และอุปกรณ์สำหรับเครือข่ายแลน และการเชื่อมต่อเครือข่ายแลนกับเครือข่ายไร้สาย (ไวร์เลส) เป็นหมวดที่เติบโตสูง

เจาะตลาดวอยซ์โอเวอร์ไอพี

นายหลุยส์ แมคอัลเวน รองประธานฝ่ายปฏิบัติการขาย บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า กลยุทธ์หลักจะเน้นให้ความรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีวอยซ์โอเวอร์ไอพี โดยกลุ่มบริการธุรกิจอินเทอร์เน็ต (IBSG) ให้บริการคำปรึกษาที่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งบุคลากรในทีมจะมาจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน ทั้งนี้ ตัวอย่างของซิสโก้เองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สามารถประหยัดต้นทุนได้กว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยสามารถรู้สถานะบัญชีทั่วโลกในสิ้นวัน แนวโน้มภูมิภาคนี้ ผู้ให้บริการที่มีการใช้เครือข่ายเดิมกว่า 15-20 ปี ต้องเริ่มอัพเกรดเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ที่จะสร้างรายได้จากเครือข่ายข้อมูล (ดาต้า) มากกว่าเครือข่ายเสียง ก็ถึงระดับจุดคุ้มทุนได้ เช่นเดียวกับที่เกิดในสหรัฐเมื่อปี 2542

ด้าน นายแอนดรูว์ เมอร์เรย์ รองประธานกลุ่มผู้ให้บริการ กล่าวว่า 2 บริการหลักที่อยู่ในเครือข่ายไอพี ประกอบด้วย บริการวอยซ์โอเวอร์ไอพี โดยมีการคาดการณ์จาก Frost&Sullivan จะมีการใช้งานเอเชียแปซิฟิกถึง 243 พันล้านนาที ส่วนปี 2549 ขณะที่ในปี 2543 จะมีการใช้งาน 5 พันล้านนาที ทั้งนี้ หากมองเป็นมูลค่าตลาด คาดว่าจะถึง 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 ส่วนบริการหลัก เป็นบริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือนจริงผ่านอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล หรือไอพี วีพีเอ็น ที่เป็นพื้นฐานการให้บริการโทรคมนาคม ในปี 2545 ตลาดนี้ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 19.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าการใช้วีพีเอ็นผ่านเครือข่ายเอทีเอ็ม และเฟรมรีเลย์ที่มูลค่ารวมกัน 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ปี 2547 การสร้างรายได้จากการให้บริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล (ไอพีเบสเซอร์วิส) ในภูมิภาคนี้จะอยู่ที่ 6-7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นายเมอร์เรย์ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.