ผ่าภารกิจแสนล้าน พิสูจน์อำนาจ กทช.

จุดเปลี่ยนโทรคม-สร้างความเป็นธรรม

 

นับตั้งแต่วุฒิสภาเลือกกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ครบ 7 คน ซึ่งแม้จะมีเสียงบ่นบ้างจากนักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภากลุ่มค้านรัฐบาล ว่า บางบุคลากรที่ได้รับเลือก มีประวัติเกี่ยวพันกับกลุ่มทุนสื่อสาร แต่ด้วยการโหวตของสมาชิกวุฒิสภาเกินกว่า 100 เสียงขึ้นไป ทำให้ในวันนี้เรามี กทช. ชุดแรกตามเกณฑ์กฎหมาย พ... องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.. 2543 และพ... ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.. 2544 แล้ว

 

หากอำนาจของ กทช. ในบทบาทฐานะของผู้ควบคุม และวางกฎเกณฑ์ กฎระเบียบกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลประโยชน์นับแสนล้านบาท ทำให้บุคคลใดก็ตามที่เข้ามาบริหารงานย่อมหลีกไม่พ้นต่อการถูกตรวจสอบจากสังคมว่าจะสามารถบริหาร โดยสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไร ทั้งผู้ประกอบการรายเก่า และรายใหม่ โดยเฉพาะการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ได้รับจัดสรรไปรายละหลายหมื่นล้านบาทสำหรับผู้ให้บริการปัจจุบัน ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต เงื่อนไข ค่าตอบแทน หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาต

 

สำหรับภารกิจหลักที่ทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และภาคเอกชนมองว่า กทช. จะเข้ามาดูแลและประกาศใช้ได้เร็วคือ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม (อินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ) การจัดสรรเลขหมายให้เหมาะสม ขณะที่บทบาทอื่นๆ นั้น ก็เคยเป็นบทบาทที่รัฐวิสาหกิจทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ ทศท ผูกขาดมาก่อน เช่น การให้สัมปทานบริการโทรคมนาคม ซึ่งหลักเกณฑ์ในอดีตจะขึ้นกับเงื่อนไขในระยะเวลาที่ดำเนินการ และการต่อรอง หรือข้อเสนอของผู้ประกอบการแต่ละราย ทำให้ผู้ประกอบการจ่ายผลตอบแทนที่แตกต่างกันจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อบทบาทที่รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งได้ยุติลงเมื่อมี กทช. เกิดขึ้น ผลกระทบจาก กทช. จะส่งผลต่อฝ่ายต่างๆ เช่นไร เมื่อระหว่างนี้กระทรวงไอซีที พยายามจะดำเนินการปลดแอกการแปรสัญญาสัมปทาน ที่เป็นรายได้หลักของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ทศท มีรายได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีจากค่าส่วนแบ่งรายได้โดยเฉพาะจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้จุดเปลี่ยน

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สภาพอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก่อน และหลังการเกิด กทช. ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย บ่งชี้ใน 3 ประเด็น คือ

1) ภาวะการแข่งขันของธุรกิจ ก่อนเกิดกทช. การแปรสัญญาสัมปทานบริการโทรคมนาคมยังอยู่ภายใต้สัญญาการให้บริการระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) มาเป็นผู้ให้บริการ (Operator) ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการกำหนดแนวทางการแปรสัญญามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปของการแปรสัญญาระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ โดยเฉพาะในประเด็นการจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพื่อชดเชยให้กับภาครัฐ แต่เมื่อจัดตั้ง กทช. แล้ว กทช. จะเป็นผู้กำหนดแนวทางการแปรสัญญา กำหนดวิธีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจผู้ให้สัมปทานเดิมที่จะต้องกลายเป็นคู่แข่งธุรกิจภายหลังการแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนแล้ว รวมทั้งจะส่งผลดีต่อการวางแผนเพื่อรับมือกับการแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหม่ที่จะเข้ามาหลังการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปี 2549

2) การแปรรูปกิจการโทรคมนาคมที่ผูกขาดโดยภาครัฐให้เป็นเอกชน ปัจจุบัน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ ทศท และ กสท ได้เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทเอกชนแล้ว แต่การดำเนินธุรกิจยังไม่ชัดเจนและมีความซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้ปัญหาการแปรสัญญาสัมปทานกับเอกชนที่ยังไม่เกิดความชัดเจนส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจของทั้งสองแห่ง แต่หลังจากนี้ กทช. จะเป็นผู้กำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งการกำหนดประเภทของกิจการที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น บริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ บริการโทรศัพท์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ กทช. จะเป็นผู้กำหนดแนวทางในการแปรสัญญาสัมปทานที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งมีความแน่นอนในการวางแผนธุรกิจมากขึ้น

3) การจัดให้การบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ก่อนหน้านี้ การลงทุนให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการในปัจจุบันยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลมีบริการโทรคมนาคมน้อย ทำให้เกิดการบริการที่ไม่ทั่วถึง แต่หลังจากนี้ กทช. จะเป็นผู้กำหนดให้มีการอุดหนุนการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล ในพื้นที่ที่มีการลงทุนให้บริการสูง โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบริการโทรคมนาคม (Telecommunication Fund) ขึ้น เพื่อจะทำให้เกิดความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการของประชาชนทั้งประเทศ

เอกชนสมหวังเกิด กทช.

 

กระนั้น ในส่วนผู้บริหารบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม ต่างขานรับกันทั่วหน้าว่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีของโทรคมนาคมไทย ยกเลิกภาวะสุญญากาศที่เกิดมานานเกือบ 4 ปีนับตั้งแต่มีพ...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งจะสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรม สร้างการแข่งขัน ซึ่งในที่สุดแล้วผลประโยชน์จะตกแก่ผู้บริโภค ให้มีทางเลือกบริการที่ดี เหมาะสมที่สุดกับตัวเอง โดยไม่ถูกผูกมัดกับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งอีกต่อไป

 

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเกิด กทช. จะทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่แม้ปัจจุบันจะมีบริการด้านเสียงเป็นหลัก และอัตราการเติบโตแต่ละปีก็ลดต่ำลง แต่หากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกในราคาค่าบริการที่ต่ำลง ผนวกกับ กทช. ให้ใบอนุญาตบริการใหม่ ก็ทำให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้ยิ่งขึ้น แม้จะไม่ใช่ระยะเวลาสั้นๆ เพียง 3-6 เดือนนี้ก็ตาม

 

สำหรับภารกิจเร่งด่วนที่คาดว่า กทช. จะดำเนินการ ได้แก่ การหาข้อยุติในการเจรจาแปรสัญญาสัมปทานสื่อสาร ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนคู่สัญญา เนื่องจากจะทำให้เกิดการแข่งขันบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันได้ เพราะแม้การแปรสัญญาฯ จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ กทช. เมื่อมองตามหลักนิติศาสตร์ แต่ในหลักรัฐศาสตร์แล้ว กทช. สามารถเข้ามามีบทบาทสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายได้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานกลาง โดยคาดว่า เรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน จะเป็นเรื่องที่เอกชนเข้าไปเจรจากับ กทช. การให้ข้อมูลภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถึงการแข่งขันในปัจจุบัน และอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมี กทช. จะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จากก่อนหน้านี้ทุกครั้งที่มีนักลงทุนต่างชาติถามถึงองค์กรที่จะวางหลักเกณฑ์สื่อสารโทรคมนาคมของไทยหรือไม่ และมีเกณฑ์อย่างไร จะไม่สามารถตอบได้

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวสายสื่อสาร กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็น กทช. ชุดแรกนี้เป็นไปตามคาดหวัง มีผู้มีความสามารถทางวิชาชีพโทรคมนาคม รวมถึงด้านอื่นร่วมด้วยในสัดส่วนที่เหมาะสม แม้เป็นภาครัฐ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ก็เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากต้องรู้กฎเกณฑ์ด้านโทรคมนาคมอย่างถ่องแท้ เช่น รู้ว่าประเทศใดเปิดเสรีโทรคมนาคมบ้าง และกิจการโทรคมนาคมแต่ละประเภทมีรูปแบบทางธุรกิจอย่างไร ดังนั้น คาดว่า สิ่งที่ กทช. จะนำมาพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ เช่น การกำหนดค่าเชื่อมต่อโครงข่าย เงื่อนไขการแปรสัญญาสัมปทาน เพราะการให้ไลเซ่นบริการใหม่ก็ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขสัญญาเดิมเป็นฐานด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจจะเข้าพบ กทช. ทันทีที่จัดตั้งสำนักงานเสร็จนั้น เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ต้องการขอลดค่าใช้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ลงจาก 25% และการแปรสัญญาสัมปทาน ส่วนดีแทค จะเจรจาหาข้อสรุปเรื่องค่าเชื่อมต่อโครงข่ายค่าแอ็คเซส ชาร์จ ที่ต้องจ่ายให้ ทศท จำนวน 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ซึ่งดีแทคอ้างถึงตลอดว่า ไม่มีความเป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับเอไอเอสที่ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ ทำให้ดีแทคแข่งขันได้ไม่ทัดเทียมกัน ขณะที่ ทศท ก็ต้องการให้บริการบรอดแบนด์ โทรศัพท์ระหว่างประเทศ ส่วน กสท ต้องการให้บริการโทรศัพท์ในประเทศ บริการปลายสายโทรศัพท์เพื่อเข้าถึงผู้คนโดยตรง รวมถึงต้องการต้านการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

 

กสท และทศท กระทบเสถียรภาพ

ทั้งนี้ เสียงจาก บมจ. ทศท และ บมจ. กสท นั้น ยังหวั่นเกรงว่า การเกิด กทช. จะสร้างความสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพขององค์กรไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อยังต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้งกว่าเอกชน เช่น บุคลากรที่องค์กรแรกมีกว่า 20,000 คน และ กสท มีประมาณ 6,000 คน กระนั้น จำนวนบุคลากรยังไม่สร้างความหนักใจให้ผู้บริหารเท่ากับวัฒนธรรมองค์กรที่คุ้นเคยกับการทำงานในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอด การจะสร้างวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนความนึกคิดของพนักงานให้พร้อมแข่งขันจึงไม่สามารถทำได้ในทันที

 

นายวิทิต สัจจพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า เมื่อมี กทช. จะเข้าไปพบ เพื่อหารือเรื่องการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกสท ให้บริการอยู่เป็นรายหลัก ก่อนที่ ทศท จะชิมลางให้บริการตามหลัง โดยเห็นว่า การให้บริการของ กสท อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการแข่งขันอยู่แล้ว ส่วนรายอื่นหากได้รับอนุญาตให้บริการก็คงแข่งขันยาก ทั้งด้านราคา และคุณภาพบริการ แต่คงยากที่ กสท จะมีนโยบายแข่งขันด้านราคาอีก เพราะขณะนี้ก็ลดราคาจนจะถึงต้นทุนอยู่แล้ว ทั้งอัตราปัจจุบันก็ยังต่ำกว่าจีน หรือญี่ปุ่น แต่สามารถเทียบเคียงได้กับมาเลเซีย สิงคโปร์ได้ "กทช. คงจะมีหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตอย่างเป็นธรรมในทุกเซ็คเตอร์ของกิจการโทรคมนาคม เพราะหากมีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการหลายราย โดยเฉพาะโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจนี้" นายวิทิต กล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า เนื่องจากในหลายประเทศเมื่อมีการเปิดเสรีโทรคมนาคม ก็จะต้องพิจารณาสภาพตลาดการแข่งขันให้เหมาะสม จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ด้วย ขณะที่ผู้บริโภคสามารถมีทางเลือกที่หลากหลายและได้ประโยชน์

 

ส่วนนายอำนวยศักดิ์ ทูลศิริ รองประธานกรรมการ กสท กล่าวถึงองค์กรว่า ที่ผ่านมาพนักงานทำงานด้วยวัฒนธรรมองค์กรอย่างรัฐวิสาหกิจ หรือราชการที่ไม่ต้องมีการแข่งขัน แต่สามารถอยู่รอดได้ด้วยส่วนแบ่งรายได้ การผูกขาดบริการต่างๆ แต่เมื่อผ่าตัดโครงสร้างใหม่ให้มีลำดับชั้นการสั่งการลดต่ำลงแล้ว รวมถึงให้โอกาสคนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารงาน ก็จะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น ตลอดจนจะต้องมีการสื่อสารระหว่างองค์กรภายในกันโดยตลอด เพื่อสร้างความเข้าใจถึงเป้าหมายองค์กรไปในทิศทางเดียวกันทั้งผู้บริหารและพนักงาน และไม่ว่าอย่างไร กสท ก็หลีกหนีการแข่งขันไปไม่พ้น ไม่ว่าช้าหรือเร็ว จึงได้หาธุรกิจใหม่เสริม รวมถึงธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอ หากเกิดขึ้นก็จะเป็นความหวังสร้างรายได้หลักอย่างหนึ่งของ กสท ต่อไป

 

กระนั้น แม้ขณะนี้บอร์ด กสท จะอนุมัติทีโออาร์ ซีดีเอ็มเอ เฟส 2 มูลค่าประมาณ 13,400 ล้านบาทไปแล้ว แต่ยังมีข้อท้วงติงจากบุคคลในวงการสื่อสารหลายรายที่มองว่า การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีอีวี-ดีโอ มาใช้กับซีดีเอ็มเอ เฟสใหม่ของ กสท จะเป็นการลงทุนที่สิ้นเปลืองเกินความต้องการของตลาด ที่หลายส่วนในไทยยังไม่พร้อมใช้งานสื่อสารข้อมูลภาพเคลื่อนไหว ควรจะใช้เทคโนโลยีอื่นไปก่อนบางส่วน เพื่อรอเทคโนโลยีอีวี-ดีวี ที่สามารถจัดสรรรองรับบริการวอยซ์และดาต้าได้ เพราะนั่นหมายถึงแผนงานที่ กสท จะหวังรายได้เฉลี่ย 600-1,000 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตามแผนงาน

 

ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ทศท กล่าวว่า ทศท เตรียมพร้อมรับการแข่งขัน ด้วยการหาธุรกิจใหม่เช่นกัน เพราะเมื่อมี กทช. การแข่งขันจะสูงขึ้น หากการจัดโครงสร้างบริหารใหม่ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบธุรกิจแต่ละด้านอย่างชัดเจน พร้อมทั้งการอธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าต้องเตรียมพร้อมรับมือแข่งขัน จะทำให้ ทศท อยู่รอดได้ ซึ่ง ทศท มีจุดแข็งที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักของชาติ จึงจะอาศัยความได้เปรียบนี้สร้างพันธมิตรทางธุรกิจต่อยอดบริการต่างๆ ได้ต่อไป เช่น บริการด้านคอนเทนท์ และแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตาม การหาธุรกิจใหม่ของ ทศท ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ รวมถึงการมีข้อได้เปรียบที่มีกิจการไทยโมบาย มีไลเซ่น 1900 เมกะเฮิรตซ์ที่ไปสู่ 3จีได้ แต่ไม่ได้ทำให้ ทศท มีข้อได้เปรียบอย่างแท้จริง เนื่องจากปัญหาภายในองค์กรก่อนหน้านี้ และนโยบายไอซีทีที่แม้สั่งการให้ 2 องค์กร ระหว่าง กสท และ ทศท แบ่งอำนาจการบริหารก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนกิจการนี้ไปได้อย่างลงตัวจนถึงปัจจุบัน เช่น ยังไม่ประกาศว่า จะตัดสินใจเลือกพันธมิตรเทคโนโลยี หรือเงินทุน เพื่อไปสู่ 3จี เป็นรายใด

 

ทศท ผลกำไรตกก่อนมี กทช.

สำหรับผลประกอบการ ทศท ในช่วงครึ่งปีแรก มีรายได้รวม 31,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 21,200 ล้านบาท กำไรเบื้องต้น 10,300 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 6,800 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2546 จำนวน 6.6% รวมถึงผลประกอบการของ ทศท ยังเป็นตัวชี้วัดได้ดีว่า ทศท เริ่มเข้าสู่ภาวะหน้าเป็นห่วง แม้ว่า จะยังมีผลกำไรสุทธิ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 มีกำไรสุทธิ 7,080 ล้านบาท แต่มีอัตราลดลงประมาณ 280 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากรายได้ต่อเลขหมายของโทรศัพท์พื้นฐานลดลง เพราะลดค่าบริการโทรทางไกลภายในประเทศ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้เดิมที่หายไปได้ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการลดค่าโทรต่างประเทศลง 5% โดยปี 46 มีรายได้ 1,500 ล้านบาท

ด้านผลการดำเนินธุรกิจของ กสท ครึ่งแรกของปี 2547 มีรายได้รวม 17,054.52 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณ 2,167.43 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,920.34 ล้านบาท สูงกว่างบประมาณ 616.34 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 78,940.82 ล้านบาท หนี้สิน 45,048.73 ล้านบาท แต่รายได้หลักยังคงมาจากบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ แม้ว่ารายได้ส่วนนี้จะลดลงต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราค่าบริการลงหลายครั้งตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา โดย กสท อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบจากการแข่งขันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

 

แบ่งงานระหว่างก.ไอซีทีกับกทช.

.. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การแบ่งงานระหว่างไอซีที กับ กทช. นั้น มีรายละเอียดของแต่ละเรื่อง โดยบทบาทของ กทช. เช่น การกำหนดค่าเชื่อมต่อโครงข่าย การจัดสรรเลขหมาย การใช้เลขหมายเดียวทุกระบบ ส่วนการแปรสัญญาสัมปทานสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะไม่ใช่บทบาทของกทช. อย่างเดียว และแม้หน้าที่การแปรสัญญาสัมปทาน จะไม่ใช่อำนาจของ กทช. เพราะคู่สัญญาต้องตกลงกันเอง แต่หาก กทช.กำหนดกติกาที่ชัดเจนได้ เช่น ให้โอเปอเรเตอร์ใช้โครงข่ายแต่ละรายได้ โดยอาจขัดสัญญาที่คู่สัญญาทำไว้ก่อนหน้านี้ ว่าให้ใช้เฉพาะโครงข่ายของตัวเอง สัญญานั้นก็ต้องเปลี่ยนตามข้อกำหนดของ กทช. เพราะถือว่ากติกาที่กำหนดขึ้นมีอำนาจเหนือสัญญา ซึ่งทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม โดยเรื่องการแปรสัญญานี้ เอกชนต่างระบุก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อรัฐวิสาหกิจคู่สัญญาไม่ยินยอมแปรสัญญา ก็คงต้องให้เกิด กทช.ขึ้น และจะขอใบอนุญาตใหม่เพื่อให้บริการลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะประหยัดกว่าที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้แต่ละปีให้ กสท และ ทศท ด้วย ดังนั้นเชื่อแน่ว่าเมื่อมี กทช.แล้ว รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งจะถูกกดดันจนให้แปรสัญญาในที่สุด

 

อภิสิทธิ์เตือนรับฟังเสียงประชาชน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้เริ่มต้นเดินหน้าสู่การทำงานของ กทช. ชุดแรกนี้แล้ว แต่ในแง่ความเป็นห่วงต่ออำนาจที่มากล้นของ กทช. ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเตือนไว้ว่า การทำงานของ กทช. ต้องพยายามใช้ดุลยพินิจ ใช้เสียงข้างมากให้น้อย ทำทุกอย่างโดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่โปร่งใส และหลักเกณฑ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องก็ควรจะผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการทำประชาพิจารณ์ให้มาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้หลายฝ่ายคงจะมีความสบายใจมากขึ้น และเราก็พอจะมองเห็นภาพชัด เพราะองค์กรอิสระก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้ง ซึ่งคนที่ได้รับเลือกไปควรจะรับฟังรับข้อสังเกตและเข้าใจข้อสังเกต เพราะเป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจของคนจำนวนหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวไว้ว่า ประชาชนต้องจับตาการทำงานของ กทช. ชุดนี้ด้วย เพราะหากพบว่ามีการวินิจฉัยใดจะทำให้ประชาชนเสียเปรียบ หรือเอื้อต่อนายทุนกลุ่มใด สามารถร้องเรียนในศาลปกครองได้

 

ทั้งหมดนี้ คงเห็นแล้วว่า จากภารกิจที่ กทช. รับผิดชอบจะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างไร ดังนั้นองค์กรที่จะสามารถอยู่รอดแข่งขันเมื่อ กทช. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแข่งขันได้ จะต้องเร่งสร้างความสามัคคีในองค์กร และตระหนักว่า คู่แข่งจากภายในและภายนอกที่จะเข้ามาแบ่งเค้กที่เคยได้รับในอดีตได้อย่างง่ายดายนั้นน่าจะหมดไปแล้ว ทางฟากของประชาชน องค์กรเอกชน ก็จะต้องตรวจสอบบทบาทของ กทช. อย่างใกล้ชิด เพราะผลของการออกกฎเกณฑ์แต่ละอย่างกระทบต่อประชาชนทุกคน มาจากอำนาจของบุคลากรที่คัดสรรแล้ว 7 คนนี้เท่านั้น

 

ล้อมกรอบ

ปธ.กทช. ยอมรับถูกจับตาสร้างความเป็นธรรม

จากอำนาจ กทช. ในฐานะผู้ควบคุม วางกฎเกณฑ์ กฎระเบียบกิจการโทรคมนาคม บนผลประโยชน์นับแสนล้านบาท ฉะนั้น จึงหลีกไม่พ้นต่อการถูกจับตามอง และตรวจสอบจากสังคมว่า จะบริหารงานโดยสร้างความเป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้อย่างไร ทั้งนี้ พล..ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ อดีตเจ้ากรมการสื่อสารทหาร หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ว่าที่กทช.ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดถึง 168 เสียง จาก ส..ที่ออกเสียงทั้งหมด 189 เสียง กล่าวว่า รู้ตัวดีว่า ทุกฝ่ายในสังคมจับจ้อง กทช. จะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนี้ได้หรือไม่ จากคำยกย่องเป็น 7 อรหันต์ หากส่วนตัวแล้วก็เห็นว่า เป็นปุถุชนธรรมดา ที่พยายามจะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดอย่างที่สุด แม้จะเป็นภารกิจที่ยากที่สุดในการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ เพราะต้องพิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ เช่น ภารกิจเรื่องอินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ ซึ่ง กทช. ทั้ง 7 คนต้องระดมความคิดพิจารณากันใหม่ แม้ว่ากรมไปรษณีย์โทรเลข จะศึกษาไว้แล้วก็ตาม โดย กทช. มีภารกิจต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก ต้องเร่งดำเนินการเรื่องต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องวางกฎเกณฑ์ การคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคม ซึ่ง กทช. จะต้องเข้าใจทุกเรื่องอย่างถ่องแท้ กระนั้น ด้วยประสบการณ์งานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงและการสื่อสารมาโดยตลอด ทำให้เข้าใจงานด้านสื่อสารเป็นอย่างดี และยังได้ร่วมงานกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน คือ บมจ. ทศท คอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2526-2529 ทำหน้าที่ช่วยกรองงานในบอร์ดให้ พล..อาทิตย์ กำลังเอก ครั้งเป็นประธานบอร์ด รวมทั้งรู้จักคนใน ทศท เป็นจำนวนมาก ทำให้เข้าใจงานด้านสื่อสารโทรคมนาคมในภาคพลเรือนด้วย จึงจะนำประสบการณ์ที่มีอยู่ในอดีตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ร่วมกับกรรมการทุกท่าน พร้อมยกตัวอย่างการแสดงวิสัยทัศน์ กับกรรมาธิการสามัญ เรื่องที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ดำเนินการกรณีช่อง 11/1 และ 11/2 รวมทั้งประเด็นช่อง 5, 7, 9 นั้น ได้แสดงความเห็นค้านเรื่อง 11/1 11/2 เพราะมองว่าการจะจัดสรรคลื่นความถี่ขณะนี้ไม่สมควรทำอย่างยิ่งเพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งยังไม่มี กทช. และ กสช. ถ้าบริสุทธิ์ใจควรหยุดดำเนินการเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะตามรัฐธรรมนูญนี้ กำหนดว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ

 

กทช. เริ่มงานได้ พ.. นี้

ส่วนนายเหรียญชัย เรียววิไลสุข อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข กรมซึ่งจะแปรสภาพเป็นสำนักงาน กทช. ทั้งเป็นหนึ่งในกรรมการ กทช. ชุดแรก กล่าวว่า สำนักงาน กทช. นี้เป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทของกรมไปรษณีย์โทรเลขในอดีตมาทำหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ทำงานของ กทช. ด้วยนอกจากจะโอนข้าราชการมาเป็นพนักงานของ กทช. โดยคาดว่า เดือนพ..นี้ จะเริ่มปฏิบัติภารกิจได้ทันทีในเรื่องเร่งด่วน 4 ประการ ได้แก่ 1.การกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย 2. แผนเกี่ยวกับการจัดสรรเลขหมาย ปรับโครงสร้างการแข่งขัน เพื่อให้แข่งขันกันอย่างเสรี โดยออกเป็นแนวทางของการแปรสัญญาสัมปทาน และการเตรียมการเรื่องการออกใบอนุญาต ประกอบด้วย การออกใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายหรือผู้ให้บริการทั่วไป ผู้ให้บริการที่ใช้โครงข่ายเฉพาะกิจ และผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง กระนั้น การทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางพิจารณาเรื่องแปรสัญญาสัมปทาน ไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการตัดสินใจว่า จะแปรสัญญาสัมปทานหรือไม่ แต่จะกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติเท่านั้น ต้องรอว่าในที่สุด กทช. กำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะส่งผลไปถึงเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียม กำหนดค่าใบอนุญาต โดยที่ผ่านมา การที่ประเทศไม่มี กทช. ทำให้เกิดความสูญเสียในหลายด้าน เช่น 1. ไม่เกิดการแข่งขัน เนื่องจาก ไม่สามารถออกใบอนุญาตใหม่ได้ ทำให้อุตสาหกรรมไม่เติบโต 2. ขาดโอกาสพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ต้องใช้คลื่นความถี่ 3. เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เพราะกิจการโทรคมนาคมต้องลงทุนมหาศาล ถ้าเกิดการลงทุนย่อมทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงธุรกิจโทรคมนาคมลงทุนมาก มีอัตราการเติบโตของจีดีพี 10% ปัจจุบัน เติบโตเพียง 6% สำหรับรายได้ของ กทช. จะมาจากการออกใบอนุญาต เช่น คิดค่าใบอนุญาตประมาณ 5% ของรายได้ ส่วนการเก็บค่าใบอนุญาต ของประเทศมาเลเซีย เก็บค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 3จี ใบละ 500 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาใช้งาน 20 ปี โดยรายได้เหล่านี้จะนำมาใช้ในกิจการบริหารสำนักงาน กทช. ต่อไป

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.