รายงาน : นักเศรษฐศาสตร์ "ชี้" คอมพ์ไอซีทีกระตุ้น ศก.รากหญ้า

นักเศรษฐศาสตร์ เปิดมุมมองโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ขานรับนโยบายกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้าของรัฐ แต่ติงหากไม่ต่อยอดการประยุกต์ใช้งานเครื่องให้เกิดประโยชน์ อาจกลายเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายแฝงตามมา

 

นายสมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ นับเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจากปฏิวัติการใช้อินเทอร์เน็ตไปในระดับรากหญ้า จะกระตุ้นอุปทานที่ทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ผลิตปรับการทำธุรกิจแบบ "ทำมาหากิน " มาเป็น "ทำมาค้าขาย" ขณะเดียวกันก็กระตุ้นความต้องการผู้บริโภคใช้บริการต่อเนื่อง จากการมีอินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ เช่น การดาวน์โหลดริงโทน การซื้อสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม เขามองว่ารัฐต้องต่อยอดโครงการดังกล่าว โดยมีโปรแกรมต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนประยุกต์ใช้งานเครื่อง ทั้งในด้านเป็นแหล่งข่าวสารข้อมูล การเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะสอดคล้องเป้าหมายให้ไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (โนว์เลจ เบส โซไซตี้) ได้ รวมถึงการเชื่อมโยงกับโครงการอื่น การส่งเสริมให้เอสเอ็มอีใช้งานไอที การเชื่อมกับอุตสาหกรรมชุมชนเช่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  "หากขาดการต่อยอด และประชาชนนำเครื่องคอมพิวเตอร์ในโครงการนี้ ไปใช้ในทางที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ เช่น การไปเล่นอินเทอร์เน็ต ก็จะเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ" นายสมภพ กล่าว

 

ค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง

ด้านแหล่งข่าวในวงการเศรษฐศาสตร์อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า แม้โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์แพร่หลาย แต่ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายตามมา ทั้งการอัพเดทซอฟต์แวร์ และการบำรุงรักษาเครื่อง เนื่องจากต้องยอมรับว่าราคาคอมพิวเตอร์เครื่องละ 20,000 บาท นับว่าสูง หากเทียบกับรายได้ของประชากรกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นหากได้เครื่องมาแล้วประยุกต์ใช้งานเครื่องได้ไม่คุ้มค่า ก็จะเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายเช่นกัน "ไอซีที เป็นเครื่องมือที่สำคัญทั้งระดับประเทศ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ทำรายได้เข้าประเทศ และมีความสำคัญระดับองค์กร รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งหากประชาชนซื้อคอมพิวเตอร์ราคาต่ำ แต่นำเครื่องไปใช้เล่นเกม ก็เท่ากับเกิดความสูญเปล่า" แหล่งข่าว กล่าว

 

ขยายโอกาสด้านไอที

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ส่งผลกระทบในด้านบวกระยะยาว ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสารสนเทศได้มากขึ้น โดยไทยเองเป็นประเทศที่มีการใช้ไอทีต่ำมาก ดังนั้นในระยะยาว หากประชาชนใช้ไอทีมากขึ้น ก็จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ ทั้งนี้รัฐเอง จะต้องต่อยอดโครงการดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการฝึกอบรมการใช้งาน การสืบค้นข้อมูลและนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการขายสินค้าในชุมชน ขณะที่ระยะสั้นแล้ว ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ปรับโครงสร้างราคามาเกือบทั้งระบบ ขณะที่ นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมไอซีที เป็นหนึ่งในตลาดยุคนิวอีโคโนมี ซึ่งจะช่วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน นอกเหนือจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสขยายได้อีก เช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่เริ่มขยายไปในต่างจังหวัดมากขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.