รายงาน : อุตสาหกรรม "คอมพิวเตอร์" ไม่มีวันตาย

หลังจากซบเซาติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ในที่สุด เหล่าผู้บริหาร และบรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย ก็ประสานเสียง สร้างความกระชุ่มกระชวย ให้กับวงการคอมพิวเตอร์ ด้วยคำทำนายที่ว่า จำนวนผู้ใช้พีซีจะทะลุหรือเกิน 1,000 ล้านคนได้ภายในปี 2553 โดยระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ผู้ใช้รายใหม่ ในประเทศกำลังพัฒนา อย่าง จีน รัสเซีย และอินเดีย

 

นายสตีฟ บัลเมอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป.เคยเขียนไว้ในอีเมลที่ส่งถึงพนักงานทุกคนของบริษัทว่า แม้ที่ผ่านมาต้องใช้เวลาร่วม 20 ปี กว่ายอดผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะมีจำนวนมากกว่า 600 ล้านเครื่องในทุกวันนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะทะลุ 1,000 ล้านคนทั่วโลกได้ภายในปี 2553 ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับโอกาสในตลาดใหม่ รวมถึงแผนการทำตลาด และการออกแบบตัวเครื่องเป็นสำคัญ

คำทำนายข้างต้น ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

 

ไอดีซี เชื่อว่า จำนวนผู้ใช้พีซี จะเพิ่มจาก 670 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็น 1,200 ล้านคนได้ภายในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้น 79% ตลอดระยะเวลา 6 ปี โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้รายใหม่ ขณะที่คาดว่า ยอดการผลิตคอมพิวเตอร์ ณ สิ้นปีนี้ มีทั้งสิ้น 152 ล้านเครื่อง

 

ส่วนการ์ทเนอร์ เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2546 จำนวนผู้ใช้พีซีอยู่ที่ 631.8 ล้านคน และ 661 ล้านคนในปัจจุบัน โดยจะแตะระดับ 953 ล้านคนในปี 2551 และขยับทะลุหลัก 1,000 ล้านคนได้ในปี 2552

 

สารพัดปัญหา

นายโรเจอร์ เคย์ นักวิเคราะห์ไอดีซี ให้ความเห็นว่า การขายคอมพิวเตอร์ให้กับประชาชนในประเทศข้างต้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ความยากจน ระบบไฟฟ้าที่ไม่ทั่วถึง ความหลากหลายของภาษา กฎหมายในแต่ละภูมิภาค และระดับการศึกษา ทั้งหมด คือ อุปสรรคสำคัญ "ปัญหา คือ การทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้ยอดขายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกให้ทะลุ 2,000 หรือ 3,000 ล้านเครื่อง ไม่ใช่แค่ 1,000 ล้านเครื่องเท่านั้น" นายเคย์ กล่าว

 

เพื่อเจาะตลาดใหม่ บริษัทหลายแห่งร่วมมือกับหน่วยงาน อย่าง สำนักงานพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ หรือ ยูเซด (USAID) และสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ตั้งโครงการพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นของไมโครซอฟท์ ที่จะให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ภาครัฐเกี่ยวกับการเปิดโปรแกรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศ กฎหมายสิทธิทรัพย์สินทางปัญหา และปัญหาอื่นๆ โดยบราซิลเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

 

ตัดกันที่ราคา ขณะที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีราคาถูกก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา

นายจอร์จ ชิฟเฟลอร์ นักวิเคราะห์การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ราคาจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อผู้ใช้เพิ่มขึ้น จากสถิติของมหาวิทยาลัยคาน เธอ ในเวียดนาม ระบุว่า พีซีระบบวินโดว์สระดับล่างไม่รวมมอนิเตอร์ ซึ่งมีราคาประมาณ 350 ดอลลาร์นั้น มีราคาสูงกว่ารายได้ต่อหัว 340 ดอลลาร์ของชาวเวียดนาม เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่น 441 ของบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด หรือเอชพี เป็นความพยายามลำดับแรกๆ ที่มีเป้าหมายแก้ปัญหาเรื่องราคาและการจัดการ คอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งวางขายในแอฟริกาใต้ไปแล้วนั้น ประกอบด้วยแป้นพิมพ์, เมาส์, จอมอนิเตอร์จำนวน 4 ชุด เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ 4 คน ที่ใช้ภาษาแตกต่างกันออกไปสามารถทำงานได้ทันที และทางเอชพี มีแผนจะวางตลาดคอมพิวเตอร์ระบบลินิกซ์ที่ว่านี้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต "อุปกรณ์ที่มีราคาต่ำ มีความสำคัญต่อการทำตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่" นายมัวรีน คอนเวย์ รองประธานฝ่ายโซลูชั่นสำหรับตลาดเกิดใหม่ของเอชพี กล่าว อย่างไรก็ดี อินเทล, ไมโครซอฟท์ และบริษัทอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการกำลังพัฒนาส่วนประกอบ และซอฟต์แวร์ที่มีราคาถูกสำหรับภูมิภาคเหล่านี้ รวมถึงหลายเทคโนโลยี อาทิ การสั่งงานด้วยเสียง และระบบจดจำลายมือ เป็นต้น

 

พฤติกรรมต่าง

กระนั้น ใช่ว่าผู้ใช้รายใหม่ทุกคน จะมีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง ยกตัวอย่าง ผู้ใช้ในเกาหลีใต้ ที่ส่วนใหญ่ ยังนิยมเรียนรู้การใช้งานพีซีจากร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือ "พีซี บาง" (PC Baangs) ที่แปลเป็นไทยว่า ห้องพีซี

นายเจนีวีฟ เบลล์ นักมานุษยวิทยาของอินเทล ซึ่งศึกษาพฤติกรรมการใช้พีซีในเอเชียมาเป็นเวลาหลายปี ระบุว่า ประชาชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา นิยมใช้คอมพิวเตอร์จากร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งมีสภาพแตกต่างจากที่หลายคนคิดไว้ นั่นคือ เป็นพีซีรุ่นเก่าตั้งเรียงรายอยู่ข้างฟุตบาทบนถนนที่การจราจรคับคั่ง "70% ของตลาดในอินเดีย และหลายตลาด ยังคงเป็น "พีซีประกอบ" ที่ประกอบขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้" นายเบลล์ อธิบาย

 

คู่แข่งท้องถิ่น

นอกจากนี้ ผู้ผลิตพีซีข้ามชาติ ยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ขายเครื่องในราคาถูกกว่า แต่ในเม็กซิโก และจีน ผู้ผลิตพีซีข้ามชาติหลายแห่ง กำลังจะได้รับชัยชนะ โดยคาดกันว่า ในเร็วๆ นี้ เดลล์ จะกลายเป็นผู้ผลิตพีซีเบอร์ 1 ในทวีปละตินอเมริกา ซึ่งนายชาร์ลส์ ชมูลเดอร์ส นักวิเคราะห์การ์ทเนอร์ ระบุว่า เป็นตลาดพีซีที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในปัจจุบัน แต่สำหรับในยุโรปตะวันออก รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ผู้ผลิตท้องถิ่น ยังคงครองตลาดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนเอง ก็ต้องเจอกับปัญหากองชิ้นส่วนรีไซเคิลที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ โรงเรียนบางแห่ง ในภาคตะวันตกของประเทศจีน มีแนวทางแก้ปัญหาที่ว่าด้วยการนำแผงวงจร และชิ้นส่วนอื่นๆ มาประกอบบนตัวเครื่องที่ทำจากไม้ "เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตัวเครื่องเป็นไม้ ช่วยให้ราคาถูกลงมากถึง 100 เหรียญ" นายเคย์ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.