เมื่อ "กติกาการค้า" กลายเป็น "กติกาลูกค้า" ทำอย่างไร อุตสาหกรรมไทย จึงจะแข่งขันได้?

 

กติกาของการค้า" ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมถือปฏิบัติ ในการทำมาค้าขายยุคก่อน ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้า เฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ตามความจำเป็นแบบพื้นฐาน การประชาสัมพันธ์ที่มากล้น บวกกับเทคนิคการขายการตลาด ถูกนำมาใช้เพื่อชักจูงดึงดูด ให้ผู้ซื้อมาเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ คลังสินค้าชั้นดีพร้อมที่จะจัดจำหน่าย สินค้าที่มีอยู่ท่วมท้น รอคอยวันที่ลูกค้าจะวิ่งเข้ามาหา

 

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ในระยะเวลากว่า 20 ปี แม้ว่าการเผยแพร่ข่าวสาร หรือการโฆษณาจะมีมากเพียงใด ก็มิอาจจะหยุดยั้งได้ ลูกค้าได้เขียน "กติกาของการค้า" ขึ้นมาใหม่ โดยมีอาวุธสำคัญคือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต พร้อมๆ กับกฎเหล็กที่ว่า เมื่อไรที่ลูกค้าต้องการสินค้า ในรูปแบบ ที่พึงเลือกได้ คุณภาพดีที่สุด ราคาที่ถูกที่สุด ตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ขายต้องสามารถ ตอบสนองได้ ไม่เช่นนั้นเค้าพร้อมที่จะไปหาผู้ขายรายอื่น ที่เสนอทางเลือกที่ดีกว่า!

 

กระแสขับเคลื่อนแห่งความต้องการ ส่งผลให้ระบบผลิตต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบของความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน มีความจำเป็นมากขึ้นที่ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องตอบสนองต่อรูปแบบของการผลิตตามคำสั่งในแบบสินค้าที่ลูกค้าต้องการ (Customized Product) ส่งสินค้าได้รวดเร็วและตรงต่อระยะเวลาที่ได้ตกลงกัน ด้วยราคาที่ถูกและ พร้อมที่จะแข่งขัน ได้ในวงกว้าง จึงเป็นแรงกดดันอย่างมหาศาล ให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกลวิธี ในกระบวนการผลิต เพื่อลดเวลานำในการทำงาน เพิ่มคุณภาพสินค้า และบริการ ลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถ ขององค์กรในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

ขณะที่เทคโนโลยีการจัดการผลิตโดยใช้หลักการ ของการบริหารการผลิตแบบกระแสตามความต้องการ (Demand-based Flow Manufacturing, DbFM หรือสั้นๆ ว่า การผลิตแบบกระแส (Flow Manufacturing)) เป็นหลักการบริหารการผลิต ที่นำเสนอวิธีการเข้าถึงการแก้ปัญหาที่กล่าวมา ทั้งหมดในเบื้องต้นพร้อมกัน การผลิตแบบกระแสใช้หลักการของการบริหารการผลิตแบบดึง (Pull Manufacturing) โดยมีแรงขับเคลื่อนคือ คำสั่งซื้อของลูกค้า คัมบัง (Kamban) เป็นสารสนเทศที่สำคัญ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการส่งสัญญาณเรียกวัตถุดิบ เข้าสู่กระบวนการผลิต โดยวิธีการแบบทันเวลาพอดี (Just In Time หรือ JIT) วิธีดังกล่าวจะเหมาะสมมาก สำหรับโรงงานที่มีระยะเวลาน้อยสำหรับการจัดตารางการผลิต มีสัดส่วนการผลิตผสมผสานระหว่างรายการ สินค้ามาตรฐาน (Standard Product) และรายการสั่งทำ (Customized Product) รวมถึงมีลักษณะการผลิตเป็นแบบวันต่อวัน (Daily Basis)

 

ดัชนีสำคัญตัวหนึ่ง ที่นักอุตสาหกรรมควรจะตระหนัก และให้ความสำคัญในยุคปัจจุบันคือ การตอบสนองต่อลูกค้าอย่างรวดเร็วและความพึงพอใจที่ได้จากลูกค้า ผู้ประกอบการ ควรสำรวจตัวเองว่า ทำได้ดีเพียงใด และถึงแม้ว่าทำได้ดีแล้ว อาจจะยังต้องทบทวนอีกว่า กระบวนการทำงานในแต่ละวันมีประสิทธิภาพเป็นที่น่ายอมรับหรือไม่ ในการผลิตแบบกระแส กระบวนการทำงาน มักเริ่มต้นจากการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า สำหรับผลิตในวันถัดไป (หรือแม้กระทั่งภายในวันเดียวกัน) สินค้าที่จะถูกผลิต จะถูกจัดกลุ่มเป็นหมวดหมู่ที่มีการผลิตเหมือนกัน เพื่อเริ่มผลิตในช่วงเวลาเดียวกัน การที่จะประยุกต์ใช้แนวคิดของการผลิตแบบกระแส เพื่อที่จะ เพิ่มศักยภาพ ของการผลิต ผู้ประกอบการจะต้องปรับแนวทางการบริหารการผลิตใหม่ โดยมีแนวคิดที่สำคัญหลายประการ เช่น

1. กระบวนการผลิตจะต้องถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นเพียงพอ สำหรับรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2. การกำจัดงานส่วนเพิ่ม (Non-value-adding activity) ที่ไม่จำเป็นออกจากกระบวนการทำงาน เพื่อให้แต่ละกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญคือ กระบวนการในแต่ละวันจะเริ่มต้น โดยคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก

3. กระบวนการผลิตแบบกระแสจะปฏิบัติให้สำเร็จได้ ต้องสร้างกระบวนการภายในให้มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงเครื่องจักรต่างๆ สำหรับกระบวนการผลิตในพื้นที่การผลิต มักจะถูกกำหนดตำแหน่งวางอย่างถูกต้องคงที่ แต่มีทางเลือกที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเพิ่มความหลากหลายสำหรับประเภทของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน

4. การผลิตแบบกระแสจะเริ่มต้นกระบวนการเมื่อได้รับสัญญาณที่สำคัญคือ คำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้น ระดับสินค้าคงคลัง (Inventory Level) จึงถูกกำหนดให้มีปริมาณอยู่ในระดับที่พอเพียง การประมาณการปริมาณกันชน (Buffer Stock) ที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของการผลิต จะถูกคำนวณ ให้มีปริมาณน้อยที่สุด สอดคล้องกับทางเลือกในแต่ละขั้นตอนการผลิต รวมถึงวัตถุดิบต่างๆ ของสินค้าที่ถูกใช้ในแต่ละกระบวนการ

5. โครงสร้างผลิตภัณฑ์ (Bills of Material หรือ BOM) ควรถูกออกแบบให้เป็น BOM แบบชั้นเดียว เส้นทางการผลิต (Routing) ควรถูกออกแบบให้คงที่คือ กำหนดขั้นตอนในการผลิตแต่ละขั้นตอนให้แน่นอน หากมีทางเลือกเสริมให้สร้างทางเลือกเสริมเพิ่มเติมจากทางเลือกหลัก (ไม่ใช่สร้างเส้นทางการผลิตใหม่ทั้งหมดเลย)

 

การผลิตแบบกระแสแตกต่างจากการผลิตแบบซ้ำซาก (Repetitive Manufacturing) เพราะว่า การผลิตแบบกระแสจะมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ ที่มีรูปแบบหลากหลายกว่า รองรับความต้องการ ที่หลากหลายของแต่ละลูกค้า ไม่เหมือนกับการผลิตแบบแบ็ช หรือการผลิตแบบซ้ำซาก ซึ่งกระบวนการผลิตมักจะยึดติดอยู่กับผลิตภัณฑ์กลุ่มเดียว และด้วยเหตุผลเดียวกัน กระบวนการผลิตแบบกระแส มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับคำสั่งซื้อ ของลูกค้าเป็นหลัก จึงแตกต่างกับการผลิตแบบผลิตเข้าเก็บ (Make to Stock)

 

การผลิตแบบกระแส เน้นความรวดเร็วในแต่ละกระบวนการ ไม่ผลิตสินค้ามากเกินความจำเป็น เมื่อผลิตเสร็จพร้อมที่จะจัดส่งให้กับลูกค้าทันที จึงลดกระบวนการทำงานและเวลาที่เกี่ยวข้อง กับการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป การจัดการคลังสินค้า หรือแม้กระทั่งศูนย์กระจายสินค้า บางครั้งอาจมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการผลิตแบบกระแส ว่าคือการรวมเอาเทคนิค 2 เทคนิคการผลิต คือ การผลิตแบบนับชิ้น (Discrete Manufacturing) และการผลิตแบบกระบวนการ (Process Manufacturing) เข้าด้วยกัน ในทางทฤษฎีแล้วไม่ใช่ การรวมเอา 2 เทคนิคการผลิตที่กล่าวมาเข้าด้วยกันเป็นนิยามของ Mixed-Mode Manufacturing (ต่างจาก Mixed-Model Manufacturing) การผลิตแบบกระแสไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการ การผลิตแบบกระแสสามารถมีอยู่ได้ทั้งในสภาวะแวดล้อมแบบ Discrete หรือ Process ก็ตาม ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ของการผลิตแบบกระแส คือ การออกแบบเพื่อให้กระบวนการไหล ของวัตถุดิบ งานระหว่างทำ สินค้า เอกสาร ข้อมูลดิบและสารสนเทศ รวมถึงทรัพยากรการผลิตทุกๆ อย่างในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีมูลค่าเพิ่ม ตอบสนองต่อลูกค้า (หรือหน่วยงานถัดไป) ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด คุณภาพสูงและที่สำคัญ สร้างความพอใจให้เกิดกับลูกค้าสูงที่สุด เป็นสิ่งสำคัญ

 

สำหรับคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้นิยามการผลิตแบบกระแส (Flow Manufacturing) มีหลายคำแตกต่างกัน เช่น agile, lean, flexible, continuous และ synchronous manufacturing โดยทางปฏิบัติแล้ว ผลลัพธ์จากการประยุกต์ใช้แนวทางเหล่านี้ จะถูกสะท้อนเป็นผลลัพธ์ทางด้านต้นทุนดังต่อไปนี้ พื้นที่ในกระบวนการลดลงมากกว่า 70% จากเดิม, เวลานำลดลงมากกว่า 80% จากเดิม, ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% จากเดิม, งานระหว่างทำลดลงมากกว่า 80% จากเดิม และประหยัดต้นทุนในการควบคุมคุณภาพไปมากกว่า 50% จากเดิม

 

การผลิตและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาวะการผลิตของผู้ประกอบการไทยปัจจุบัน เป็นภาวะที่การทำงานในพื้นที่การผลิต มีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานในกระบวนการอื่นๆ อาจจะเรียกได้ว่า การบริหารสารสนเทศในกระบวนการ ผลิตในพื้นที่ การผลิตเป็นการจัดการสารสนเทศแบบเดี่ยว (Stand-Alone) โดยข้อมูลไม่ได้เชื่อมต่อกับ ระบบการทำงานอื่น ตัวอย่างเช่น ระบบงานขาย ระบบงานสินค้าคงคลัง ระบบจัดซื้อ ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นการยากต่อเจ้าหน้าที่วางแผน และควบคุมการผลิต ที่จะจัดกระบวนการทำงานให้เวลาของแต่ละกระบวนการ เชื่อมต่อกันอย่างลงตัว ทันเวลาพอดี เป็นการยากที่จะรับรู้สถานการณ์ผลิตแบบ real time เช่น หากต้องการทราบว่า ณ ปัจจุบัน ปริมาณสินค้าเป็นเท่าไร ควรจะจัดซื้อเท่าไร ควรจะวางแผนผลิตเพิ่มเท่าไร ก็จะใช้เวลาในการตรวจสอบยาวนาน และยังมีข้อมูลที่ผิดพลาดมาก ทำให้ประสิทธิภาพในการวางแผนต่ำเมื่อต้องรับปากตกลงส่งมอบให้กับลูกค้า และไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่ไม่ดีพอ หรือเมื่อรับปากไปแล้วทำไม่ได้ตามนั้น ระดับความพึงพอใจของลูกค้าก็จะต่ำกว่า ความคาดหมาย ส่งผลกระทบให้เสียลูกค้าไปในระยะยาว! หากผู้บริหารยังไม่ให้ความสำคัญ และไม่สร้างความสามารถ ในเชิงสารสนเทศให้กับโรงงานของตัวเอง

 

เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน สามารถช่วยการทำงานให้สอดประสานข้อมูลจากทุกๆ หน่วยงานในโรงงาน ถูกเชื่อมโยง เข้าหากันอย่างนิ่มนวล โดยเริ่มต้นจากกระบวนการแรกของธุรกิจคือ กระบวนการขาย พบว่าคำสั่งซื้อของลูกค้า (Customer Order) จะติดต่อมายังฝ่ายขายของโรงงานในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ โดยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การ Interface ไฟล์ในรูปแบบของตัวอักษร (Text File) หรือเป็น EDI (Electronic Data Interchange) หรือเป็นการรับคำสั่งซื้อผ่านทาง Web ซึ่งในปัจจุบันพบว่าบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจยานยนต์ สิ่งทอ อาหาร ฯลฯ ได้เริ่มใช้คำสั่งซื้อในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์กันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่คำสั่งซื้อมาถึงโรงงานแล้วระบบสารสนเทศ ที่เข้ามามีบทบาทในส่วนนี้คือระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) และระบบ ERP จะต้องมีแนวคิดของ JIT รวมอยู่ด้วยกล่าวคือเมื่อได้รับคำสั่งซื้อมา จะต้องทำการจัดลำดับการผลิตโดยคำนึงถึงกำลังการผลิต การใช้สอยทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงส่งสัญญาณไปให้กับกระบวนการผลิต เพื่อเริ่มผลิตในคำสั่งผลิตแต่ละคำสั่งได้อย่าง real time เจ้าหน้าที่ผลิตในปัจจุบัน สามารถที่จะรับสัญญาณดังกล่าว ได้จากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไร้สายต่างๆ ตามเทคโนโลยี ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน เช่น Handheld Computer, PDA หรือ Pocket PC ก็เป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการ สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงในการรายงานผลิต สั่งผลิต ตรวจสอบข้อมูลการผลิตต่างๆ สินค้าเมื่อผลิตเสร็จแล้ว การนำเทคโนโลยีประเภท Barcode และอุปกรณ์ในการ Scan รับเข้า และบันทึกข้อมูล การผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อความสะดวกในการทำงานลดความผิดพลาด เนื่องจากการป้อนเอกสารด้วยมือ ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นความจำเป็นพื้นฐาน สามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อตรวจติดตาม รวมถึงสอบกลับผลิตภัณฑ์ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ปริมาณวัตถุดิบใช้ไปลดจำนวนลง เมื่อเกิดการเบิกจ่ายเข้าสู่การผลิต คัมบัง (Kanban) จะส่งสัญญาณเรียกวัตถุดิบ และส่งข้อความดังกล่าวไปถึงเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่ง Supplier หรือผู้ขายโดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกวัตถุดิบเข้ามาเติมเต็มปริมาณที่ขาดไป ดังนั้น โรงงาน หรือผู้ผลิตก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระสินค้า คงคลังมากเกินความจำเป็น ระบบการผลิตก็จะคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามหลักการของ การผลิตแบบกระแสดังที่ได้กล่าวมา

 

การเชื่อมโยงคือ หัวใจ จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะพบว่า ระบบการทำงานที่ถูกต้อง และมีปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อความต้องการของผู้บริโภคสูงที่สุดในการแข่งขัน ในการค้ายุคอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่างๆ เช่น การผลิตแบบกระแส การผลิตแบบทันเวลาพอดี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ล้วนมีเป้าหมายคือเชื่อมโยงกระบวนการทุกๆ กระบวนการในโรงงาน ให้สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวสร้างปฏิกิริยาตอบสนองแบบฉับพลัน ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ทางธุรกิจของโรงงานให้ได้ โดยหลักการแล้ว การจะสอดประสานการทำงานขององค์กรให้เป็นหนึ่ง ผู้บริหารจะต้องสร้างความสัมพันธ์ของการไหลของกระบวนการ 3 สิ่ง ประกอบด้วย การไหลของเอกสาร การไหลของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และการไหลของวัตถุดิบ งานระหว่าง สินค้าในกระบวนการผลิต ให้สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ได้เป็นแบบ real time โดยใช้ระบบสารสนเทศ เช่น ERP เป็นศูนย์กลางติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ทุกๆ คนในองค์กร จึงจะประสบความสำเร็จในการดำเนินการ

 

สรุปและทิศทางในอนาคต

การเริ่มต้นมีแนวคิดใช้ระบบการผลิตแบบกระแส ระบบผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just In Time) และ Kanban ในองค์กร เป็นเพียงการเริ่มต้นในก้าวแรกเท่านั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการยังต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อยืนหยัดในธุรกิจ ในอนาคตอันใกล้นี้การแข่งขัน จะมิได้เป็นเพียงองค์กรต่อองค์กร แต่จะเป็นการแข่งขันในรูปแบบของ Supply Chain กับ Supply Chain ทั้งนี้เพราะปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจ องค์กรต้องมีความพร้อมในการที่จะแลกเปลี่ยนคำสั่งซื้อ และขายที่อยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ได้ และมีกระบวนการในการวางแผน พยากรณ์ และเติมเต็มสินค้าคงคลังในทั้งโซ่อุปทานได้อย่างทันเวลาพอดี จะเห็นได้ว่าหากองค์กร หรือผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะการแข่งขันในลักษณะนี้ ก็จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจไปโดยปริยาย

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาถึงความจำเป็น การตัดสินใจใช้ระบบสารสนเทศ เช่น ระบบ ERP เป็นความจำเป็น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจของตัวเองให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อการแข่งขันในรูปแบบใหม่ในอนาคต

 

รายการอ้างอิง

1. Flow Manufacturing- A Strategy White Paper, David A. Turbide, CFPIM, CmfgE, CIRM, 1999, PowerCerv Corporation

2. Flow Manufacturing support 21st-century themes, F.C. "TED" WESTON JR., D.B.A., CPIM, 2002, IIE Solutions January 2002

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 8,15 สิงหาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.