ดาต้าโปรดักส์ฯ ทุ่ม 100 ล. ขยาย รง. รับผลิตบัตร ปชช. สมาร์ทการ์ด

ดาต้าโปรดักส์ฯ รุกขยายโรงงานผลิตพลาสติกแห่งใหม่ ด้วยงบ 100 ล้านบาท หนุนเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 100 ล้านใบต่อปี ขานรับ โครงการบัตรประชาชน สมาร์ทการ์ด พร้อมตั้งทีมใหม่นำชิพติดกระดาษ ทดแทนบาร์โค้ดเจาะตลาดไทย

 

นายวีรวัฒน์ อริยะวิริยานันท์ ประธานบริหาร บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง ฟอร์ม จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ดาต้า โปรดักส์ (ประเทศไทย) และบริษัท ทอปปัง ฟอร์ม ของญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วน 70 และ 30 ของทุนจดทะเบียน 65 ล้านบาท กล่าวว่า บริษัทใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตบัตรพลาสติกที่จะมีกำลังการผลิต 70 ล้านใบต่อปี และเริ่มเดินเครื่องการผลิตแล้ว สำหรับฐานการผลิตดังกล่าวนับเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ส่วนโรงงานเก่า จะเน้นการผลิตกระดาษเท่านั้น โดยย้ายฐานผลิตบัตรพลาสติกเดิมซึ่งมีกำลังการผลิต 30 ล้านใบต่อปี เพื่อมารวมกับโรงงานแห่งใหม่นี้ ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 100 ล้านใบต่อปี โดยการลงทุนครั้งนี้เพื่อรองรับโอกาสตลาดภายในประเทศ ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการบัตรประชาชนอเนกประสงค์ที่ใช้สมาร์ทการ์ด

 

"เดิมบัตรแม่เหล็ก ของกระทรวงมหาดไทย ก็ใช้บัตรพลาสติกของบริษัท นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าในโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส และธุรกิจการเงิน ก็มีความพยายามผลักดันให้ธนาคารใช้บัตรเครดิตที่เป็นสมาร์ทการ์ดแทนบัตรแม่เหล็ก" นายวีรวัฒน์กล่าว พร้อมกับเสริมด้วยว่า การยกระดับใช้บัตรพลาสติกธรรมดา มาสู่บัตรพลาสติกสมาร์ทการ์ด ทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มจากการประกอบชิพลงในบัตร โดยบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นหุ้นส่วนอยู่ ก็เป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตชิพระดับโลกอยู่แล้ว

 

ปัจจุบันไทยมีการใช้บัตรพลาสติกเฉลี่ยเติบโต 10% ต่อปี โดยในธุรกิจธนาคาร มีจำนวนบัตรเอทีเอ็ม 10 ล้านใบ และบัตรเครเดิต 2-3 ล้านใบ ขณะที่ บัตรโทรศัพท์ และบัตรประชาชน มีปริมาณ 2-3 ล้านใบ

 

ตั้งทีมทำชิพติดกระดาษ

นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้ตั้งทีมการตลาด เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่การใช้ชิพติดบนกระดาษ (Paper Based IC chip) ที่ใช้ความถี่คลื่นวิทยุเป็นตัวส่งข้อมูลเพื่อระบุตัวตนของสินค้า (RFID)หรือสิ่งมีชีวิต โดยมีระยะการส่งข้อมูลตั้งแต่ 1 เซนติเมตรจนถึงระดับ 1 เมตร ขึ้นกับการออกแบบและเลือกใช้ชิพ สำหรับตัวอย่างการใช้กระดาษฝังชิพ สามารถใช้กับโรงพยาบาลในเด็กแรกเกิด เพื่อป้องกันการหยิบทารกผิด หรือใช้ในธุรกิจค้าปลีก ที่จำหน่ายเสื้อผ้าราคาแพง ช่วยป้องกันการขโมยออกนอกร้าน โดยคลื่นวิทยุจะส่งสัญญาณเตือน และช่วยบริหารจัดการสต็อกสินค้าได้ดีขึ้นแทนการใช้บาร์โค้ด นอกจากนี้ เขายังมองถึงโอกาสเข้าไปในตลาดผู้ประกอบธุรกิจขนส่งกระจายสินค้า (ดิสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์) เช่น ดีเอชแอล

 

โครงการสนามบินสุวรรณภูมิระบบขนส่งกระเป๋าผู้โดยสาร มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ ลดการสูญหายกระเป๋า ระบบจะบอกได้ว่ากระเป๋าใบนี้จะส่งไปที่ใด และต้องไปสายพานไหน? นายวีรวัฒน์ กล่าว โดยแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีนี้เป็นเรื่องใหม่มาก แม้แต่ในต่างประเทศ เนื่องจากมีการลงทุนสูงกว่าระบบบาร์โค้ด แต่ก็มีข้อดีที่สามารถจุข้อมูลที่ต้องการได้มากกว่าบาร์โคด ที่ทำหน้าที่เพียงระบุว่าเป็นสินค้าอะไรเท่านั้น ตั้งเป้าปีหน้าโต 20% นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนธุรกิจในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% โดยผ่านช่องทางของพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งคาดว่าปีหน้าจะเติบโตกว่า 20% ตามอัตราโตเฉลี่ยตลอด 20 ปีของธุรกิจ ซึ่งปีนี้ทำรายได้ 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปีหน้าคาดว่าสัดส่วนธุรกิจ จะยังมาจากสินค้าบริการเกี่ยวเนื่องกับกระดาษ ตั้งแต่กระดาษ, การรับพิมพ์และจัดส่ง /เอาท์ซอร์ส, การติดตั้งระบบ รวมประมาณ 60% และอีก 40% จะเป็นการผลิตบัตรเกี่ยวกับพลาสติกทั้งหมด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.