บุกสำรวจดีทรอยต์เอเชีย (2) ปั้นไทยขึ้นแท่นผู้นำอุตฯ ยานยนต์


คอลัมน์ Survey ประชาชาติธุรกิจ

ภาพการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไหลเข้ามายังในภาคตะวันออกประเทศไทยในวันนี้ ทำให้ภาพความเป็นเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ "ดีทรอยต์" มีความแจ่มชัดมากขึ้น จากการวิเคราะห์ตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชี้ว่า ในวันนี้ประเทศไทยประกอบรถยนต์มากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อปี 2545 ทั้งปีไทยประกอบรถยนต์ 584,951 คัน มากกว่ามาเลเซีย ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ประกอบรถยนต์ได้ 456,822 คัน ผิดแต่เพียงเมื่อปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายรถยนต์ของไทยเป็นที่ 2 มีจำนวน 409,954 คัน รองจากมาเลเซียซึ่งมียอดขาย 434,9548 คัน

ยิ่งไปกว่านั้นจากการวิเคราะห์แนวโน้มในปีนี้คาดว่าไทยกำลังก้าวขึ้นไปอีกขั้นในการเป็นผู้นำทั้งในการประกอบรถยนต์ ตลาดรถยนต์ในประเทศ และการส่งออก โดยคาดว่าจะประกอบรถยนต์ได้ 750,000 คัน เป็นตลาดในประเทศ 510,000 คัน และ 250,000 คันตามลำดับ โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากการเพิ่มขึ้นของอีซูซู และ GM และในปี 2547 เมื่อโครงการผลิตเพื่อการส่งออกแล้วเสร็จ การผลิตรถยนต์ของไทยก็จะก้าวไปสู่ระดับ 800,000 คัน

เรียกได้ว่าถนนทุกสายในวันนี้มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ของไทย อย่างที่ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงบริษัท อมตะ คอร์เปอร์ เรชั่น จำกัด กล่าวไว้ว่า "ภายใน 5 ปีหลังจากนี้บริษัทรถยนต์จากทั่วโลกจะต้องมาอยู่กับเรา"

เหตุผลที่ทำให้บริษัทรถยนต์หลั่งไหลเข้ามานั้น ประการแรกเกิดจากความพร้อมจากการพอกพูนประสบการณ์จากการเริ่มต้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ที่ มิตซูบิชิเข้ามาลงทุน และเริ่มมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนต่อเนื่องเข้ามาทั้งอุตสาหกรรมเหล็กหล่อ เคมี พลาสติก กระจก จนถึงทุกวันนี้ไทยมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้ถึง 70% ทำให้การตัดสินใจเข้ามาลงทุนเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น ประการที่ 2 การวิจัยและการพัฒนาของบริษัทรถยนต์ที่เข้ามาจะถูกต่อ ยอดโดยคนไทย และไทยกำลังจะก้าวไปสู่ระดับแนวหน้า ประการที่ 3 ภาพบริษัทที่มีเทคโนโลยีในต่างประเทศที่กำลังตามบริษัทมาลงทุน ทำให้ไทย กลายเป็นแหล่งที่พร้อมในเรื่องชิ้นส่วนและบริษัทรถยนต์ต้องการตรงนี้ และประการที่ 4 ด้วยความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งทำให้ไทย เป็นศูนย์กลางของประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการส่งออก ประการที่ 5 การที่ไทยเดินหน้าเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทรถยนต์ย้ายฐานเข้ามาผลิต

เป็นความพร้อมของทั้งตลาดแรงงาน เทคโนโลยี และทำเลที่ตั้งที่ทำให้ไทยเนื้อหอมสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่วันนี้ยังเป็นชาติหลักในการย้ายการผลิต นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ รองประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อมตะ คอร์เปอร์ เรชั่น จำกัด วิเคราะห์ว่า เพราะตลาดแรงงานภายในและภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นด้วยที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะเมื่อตัดสินใจจะออกนอกประเทศไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก วัฒนธรรมไทย ความเชื่อมั่นในเรื่องการเมืองที่มั่นคง ก็เป็นเหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะใช้ที่นี่เป็นฐาน

เช่นเดียวกับ นางวราภรณ์ เฉยสอาด ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจและการลงทุนภาคตะวันออกที่เชื่อว่า วินาทีนี้ความมั่นคงด้านการเมืองและวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ทำให้ได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่นในแถบเดียวกัน เพราะหากมองในแง่สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน แต่ละประเทศไม่แตกต่างกันมาก มาเลเซียที่เป็นเบอร์สองในภูมิภาคนี้ก็สิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับไทย

ดังนั้นถ้าจะให้ประเมินวันนี้ไทยก้าวมาถึงความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ในการก้าวขึ้นสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน หากแต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไทยจะก้าวไปไกลกว่านั้นโดยการก้าวสู่ตลาดจีน จากการสอบถามนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ของ "ประชาชาติธุรกิจ" ต่างเชื่อว่า การจะก้าวไปถึงผู้นำในเอเชียคงยังเป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถที่จะก้าวไปแข่งขันกับจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่กว่ามาก "เพราะจีนใหญ่กว่าเรามากและเฉพาะการบริโภคในประเทศเราก็สู้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าในอาเซียนและเอเชียตะวันออกยังไงเราก็เป็นผู้นำ" นายวิกรมกล่าว

เมื่อภาพความเป็นจริงกำลังปรากฏขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นการต่อยอดและก้าวสู่ความสำเร็จนั้น ยังต้องใช้องค์ประกอบอีกหลายประการ ข้อมูลส่วนหนึ่งของบีโอไอระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเพื่อให้ภาคตะวันออกก้าวสู่ความเป็นดีทรอยต์เอเชียจริงๆ นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนการย้ายศูนย์วิจัยและพัฒนาไปในพื้นที่จังหวัดระยอง ทั้งยังควรสนับสนุนให้มีการก่อสร้างสนามทดสอบรถยนต์เพื่อทดสอบรถที่ขับด้วยความเร็วสูง การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือก่อตั้งวิทยาเขตที่สอนด้านวิศวกรรมยานยนต์ในแถบปลวกแดง ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนหลักที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่รวมทั้งควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ก้าวสู่ระดับโลก

และนี่เป็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการปั้นไทยสู่การเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" แบบตัวจริงเสียงจริง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.