ดอตคอมไทยในยุควิกฤตเศรษฐกิจ

ช่วง 2-3 ปีทีผ่านมาเมื่อครั้งที่ธุรกิจดอตคอมเฟื่องฟูสุดขีด ใครมีไอเดียแปลกๆ ใหม่ๆ ไปเสนอผู้ลงทุน (เวนเจอร์ แคปิตอล) ก็มีโอกาสได้เงินมาลงทุนเพื่อสร้างฝันได้ไม่ยาก ในยุคนั้นคนทั่วโลกมองเห็นแต่ข้อดีของอินเทอร์เน็ตที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น เรียกว่าเป็นยุคของ New Economy แต่เมื่อฟองสบู่สหรัฐแตก ดอตคอมในสหรัฐล่มสลายก็ทำให้ฝันของกลุ่มธุรกิจดอตคอมทั่วโลกสลายไปด้วย นักลงทุนต่างเพลย์เซฟมากขึ้นในการทุ่มเม็ดเงินกับดอตคอม และในแง่ของธุรกิจโฆษณาออนไลน์ที่เอเยนซี่โฆษณาและบริษัทต่างๆ เริ่มเห็นทางตันกับการทุ่มเงินโฆษณาออนไลน์ เนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในเชิงผลสะท้อนกลับที่เป็นรายได้อย่างเป็นรูปธรรมกลับคืนมาสู่บริษัท เรียกว่าดอตคอมเป็นธุรกิจที่มาแรง มาเร็ว และไปเร็วในเวลาอันสั้น แต่สำหรับผู้ที่ได้ลงทุนลงแรงร่วมไปกับกระแสดังกล่าวต้องเจ็บตัวกันถ้วนหน้า แต่ก็คงไม่สามารถที่จะทอดทิ้งกันไปง่ายๆ

@ ดอตคอมไทยปี 2544 @
"นิคลาส สตอลเบิร์ก" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามทูยู จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ (www.siam2you.com) ได้ให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของธุรกิจดอตคอมในปี 2544 ว่า บริษัทดอตคอมทั้งหลายต่างตระหนักว่าโฆษณาไม่เพียงพอต่อธุรกิจอีกต่อไปแล้ว ดอตคอมจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างรายได้ เช่น การให้คำปรึกษา, การออกแบบ และพัฒนาเว็บไซต์, บริการไร้สาย ทั้งนี้ ตนได้ประเมินตัวเลขมูลค่าโฆษณาออนไลน์ในตลาดดอตคอมน่าจะมีสัดส่วนราว 2% จากมูลค่ารวมตลาดโฆษณาในประเทศไทย แต่ในปีนี้โฆษณาออนไลน์มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งทำให้ตลาดดอตคอมไม่สามารถพึ่งพารายได้จากโฆษณา

ออนไลน์เพียงแหล่งเดียวได้
"ในปี 2546-2547 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจะเติบโตอีกมาก ซึ่งในระยะยาวอินเทอร์เน็ตจะเป็นวิธีการทำตลาดโดยตรงที่ดีที่สุด โดยในช่วงเวลานั้นโฆษณาออนไลน์จะกลับมาสร้างรายได้ให้กับเว็บไซต์ที่เป็นเว็บท่าในประเทศรายใหญ่ และจะมีสัดส่วนถึง 2% ของมูลค่ารวมตลาดโฆษณาในขณะนั้น" ส่วนสถานการณ์ของธุรกิจในปี 2545 "สตอลเบิร์ก" ให้ความเห็นว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปียังเป็นช่วงที่ยากลำบากเพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจในปีนี้ยังคงมีต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า แต่ในครึ่งปีหลังธุรกิจดอตคอมจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยดอตคอมก็จะต้องหาแหล่งสร้างรายได้เผื่อไว้หลายๆ ทาง

@ จากโฆษณาออนไลน์มาสู่บริการไร้สาย @
สำหรับสยามทูยู.คอมได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการสร้างรายได้ให้กับเว็บไซต์จากช่วงเริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2541 ซึ่งธุรกิจอาศัยเพียงค่าโฆษณา เช่น แถบโฆษณา (แบนเนอร์) หรือผู้สนับสนุนเว็บไซต์ (สปอนเซอร์ชิป) เป็นรายได้หลักเมื่อพบความจริงว่า ธุรกิจไม่สามารถพึ่งพาโฆษณาออนไลน์ได้เพียงแหล่งเดียว จึงได้ปรับแนวทางมาสู่การสร้างรายได้ให้กับสมาชิก โดยนำแอปพลิเคชั่นไร้สายมาให้บริการแก่ลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งหันมามุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์มากขึ้น การปรับรูปแบบนี้เองทำให้บริษัทสามารถหารายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 ทาง ซึ่งบริการไร้สายและบริการให้คำปรึกษาออกแบบพัฒนาเว็บไซต์มีสัดส่วนถึง 75% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนโฆษณาออนไลน์เหลือสัดส่วนเพียง 25% เท่านั้น ซึ่งได้ส่งผลให้รายได้บริษัทในปี 2544 เติบโตถึง 100% เมื่อเทียบกับปี 2543 อาจเรียกว่าสยามทูยู.คอมเริ่มมาถูกทางแล้ว

เว็บคอนเทนต์อีกรายที่ผันตัวมาสู่บริการไร้สาย คือ "ชินนี่.คอม" (www.shinee.com) ธุรกิจดอตคอมภายใต้ร่มเงาเอดี เวนเจอร์ในเครือชินคอร์ป ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งสองบริษัทได้ดี แรกเริ่มชินนี่.คอมวางบทบาทเป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูล โดยมีเว็บไซต์ในเครือกว่า 10 แห่ง เช่น Thai4thai.com, I.Eshow.com, ICQThai.com, Cheerus.com, Wiskid.com, SodaMag.com ครอบคลุมเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกเพศทุกวัยและทุกกลุ่มความสนใจ และมีรายได้จากโฆษณาออนไลน์ ปัจจุบันชินนี่.คอมได้รวบรวมข้อมูลของเว็บไซต์บางรายเข้ามาอยู่รวมกันเพื่อเปิดให้บริการ 4 บริการหลัก คือ เกม, อี-คอมเมิร์ซ และอี-มาร์เก็ตเพลส, เว็บแหล่งรวมข้อมูลผ่านเว็บหรรษา.คอม และบริการสำหรับอุปกรณ์ไร้สาย (Shinee Wireless Service) เช่น บริการส่งข้อความเข้ามือถือ, โหลดเสียงเรียกเข้า และโลโก้, ส่งภาพเคลื่อนไหวเพื่อเชื่อมโยงการใช้อินเทอร์เน็ตกับอุปกรณ์สื่อสารไร้สายเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้บริการเสริมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากสามารถสร้างตลาดและแบรนด์ชินนี่ได้เร็ว นอกจากนี้ ชินนี่.คอมก็วางเป้าหมายสร้างแบรนด์ของเว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อต่อยอดไปสู่บริการรับจ้างพัฒนาเว็บไซต์และซอฟต์แวร์ที่บริษัทวางเป้าหมายรายได้หลักถึง 80%

@ รายได้เสริมจากค่าสมาชิก @
ก่อนหน้านี้มุมมองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมักจะปฏิเสธการเสียค่าใช้จ่ายให้กับการใช้บริการเว็บไซต์ เพราะถือว่าพวกเขาสามารถเสพสิ่งต่างๆ จากเว็บไซต์ได้ฟรีเหมือนการเสพจากสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์หลายแห่งต้องหันมาพึ่งพิงรายได้จากโฆษณาออนไลน์เฉกเช่นเดียวกับสื่อวิทยุโทรทัศน์ และเมื่อรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียวไม่ใช้คำตอบของเว็บไซต์เหล่านี้ ไอเดียการเก็บค่าบริการจากสมาชิกเว็บไซต์ก็เริ่มเข้าตาเว็บบางแห่ง ซึ่งจะต้องเป็นเว็บไซต์ที่มีจุดขายดึงดูดให้ผู้ใช้เต็มใจควักกระเป๋าจ่ายได้ แจกฟรี.คอม (www.jakfree.com) เว็บไซต์เกมโชว์ทางอินเทอร์เน็ตในเครือ "จัสมิน ไซเบอร์ เวอร์ค" ที่เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปร่วมสนุกฟรี โดยมีรายได้หลักจากสปอนเซอร์โฆษณาตามแผ่นป้ายคล้ายกับรายการเกมโชว์ในโทรทัศน์ ปัจจุบันได้ขยายบริการเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยนำไอเดียเก็บค่าสมาชิกเล่นเกมจากเว็บไซต์เกมชื่อดังจากเกาหลีประเทศที่มีอัตราเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในเอเชียประเทศหนึ่ง เกมดังกล่าวเป็นเกมประเภทมัลติเพลเยอร์ออนไลน์ หรือเกมที่มีผู้ร่วมวงเล่นหลายคน โดยต้นฉบับของแจกฟรี.คอมเป็น Role Playing Game หรือเกมที่สร้างบทบาทตัวละครให้กับผู้เล่น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากค่าสมาชิกเพื่อเข้าไปเล่นเกมได้

@ เพิ่มสื่อเก่าเสริมทัพ @
สำหรับแคทชา ไทยแลนด์ (www.catcha.co.th) โฆษณาออนไลน์ยังเป็นแหล่งรายได้หลักทำเงินให้กับบริษัทถึง 80% อาจเป็นเพราะแคทชาเป็นเว็บไซต์ระดับภูมิภาคที่มีฐานกำลังด้านเงินลงทุนของบริษัทแม่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทแม่ก็มีศักยภาพในการขายโฆษณาออนไลน์ให้กับเครือข่ายทั้งระดับภูมิภาคได้ อย่างไรก็ตาม แคทชา ไทยแลนด์ ซึ่งกุมบังเหียนโดยผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง "ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์" นักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่พักการเรียนปริญญาเอกที่มหาวทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด แหล่งรวมซูเปอร์สตาร์แห่งวงการดอตคอม แล้วหันมาจับธุรกิจเทคโนโลยี ก็ไม่ได้นั่งรอรายได้โฆษณาออนไลน์จากบริษัทแม่เพียงอย่างเดียว แต่ได้มองช่องทางสร้างรายได้วิธีอื่นเสริมทัพ โดยหลังจากบริษัทแม่ตัดสินใจเข้าเทกโอเวอร์ฟรีแมกาซีนรายเดือนแนวไลฟ์สไตล์ที่ชื่อ "JUICE" เพื่อช่วยสร้างรายได้จากการโฆษณาทั้งในอินเทอร์เน็ต (ออนไลน์) และบนหน้าหนังสือ (ออฟไลน์) แคทชา ไทยแลนด์ก็วางแผนนำไอเดียนั้นมาใช้ในไทย โดยจะวางแผงเล่มแรกในกลางปี 2545 เนื่องจากมองว่าสื่อออฟไลน์เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าที่จะลงโฆษณาออนไลน์กับเว็บไซต์ นอกจากแคทชา ไทยแลนด์ยังมีเอ็มเว็บ ประเทศไทย (www.mweb.co.th) ที่มีการปรับตัวทางธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยหันมาเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ทางอ้อมจากบริการอินเทอร์เน็ตภายใต้ชื่อ "เอ็มเคเอสซี" หลังเข้าเทกโอเวอร์กิจการอินเทอร์เน็ตเคเอสซีเมื่อปีที่ผ่านมา โดยหลังจากเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากบริการออกแบบ พัฒนาเว็บไซต์ และบริการไร้สาย เอ็มเว็บก็ได้ไอเดียเพิ่มบริการเสริมให้กับสมาชิกที่ซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต อาทิ พื้นที่เก็บข้อมูลไม่จำกัดและบริการข้อมูลออนไลน์เฉพาะกลุ่มสมาชิก เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าบริการอินเทอร์เน็ตทางอ้อม

@ ยักษ์ใหญ่หืดจับขยับครั้งใหญ่ @
การหันมาเพิ่มบริการเสริมแก่สมาชิกเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ทางหนึ่งเป็นแผนล่าสุดของเอ็มเว็บ โดยก่อนหน้านี้เอ็มเว็บได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดการซ้ำซ้อนของงาน โดยยุบหน่วยธุรกิจเหลือเพียง 2 แผนก คือ อินเทอร์เน็ต โซลูชั่น บริการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ที่รวมกับแผนกอี-คอมเมิร์ซหรือบริการเอ็มช็อป และแผนกอินเตอร์แอ็กทีฟเซอร์วิส ธุรกิจเว็บไซต์ในเครือกว่า 10 แห่ง ซึ่งรวมกับแผนกโฆษณาออนไลน์ที่ดำเนินการภายใต้ท็อปสเปซ นอกจากเอ็มเว็บยังมีดอตคอมรายใหญ่อีก 2 รายที่มีการเขย่าโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ได้แก่ เอดีวี หรือเอดี เวนเจอร์ บริษัทลูกของชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งถือเป็นรายแรกที่ประกาศลดขนาดธุรกิจดอตคอมที่เป็นแฟชั่นตั้งแต่ต้นปี 2544 หันมาเน้นเฉพาะบริการข้อมูลที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทเฉกเช่นที่ลงทุนไปกับชินนี่.คอม สำหรับพ้อยท์เอเซีย.คอม (www.pointasia.com) ค่ายล็อกซ์เล่ย์ ได้ถอดหมวกบทบาทผู้ประกอบการธุรกิจดอตคอมแบบครบวงจรออกมาสวมหมวกบริษัทโฮลดิ้งแทน เพื่อลงทุนและบริหารจัดการแผนงานของธุรกิจในเครือทั้งหมด ขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในมือที่มีอยู่เดิมได้มีการปรับลดสัดส่วนโดยยุบเลิก-โอนย้ายธุรกิจออกไป โดยหันมามุ่งเน้นการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ต แอ็กเซสเป็นหลัก

@ เว็บเทศแห่ถอดใจถอยกรูด @
ขณะที่เว็บไซต์ไทยหลายรายปรับแผนดำเนินธุรกิจและทิศทางสร้างรายได้ ก็มีเว็บเทศบางรายถอดใจถอนสมอถอยทัพกลับประเทศ เริ่มจาก "วีลิงซ์.คอม" (www.vlinx.com) เว็บอี-คอมเมิร์ซแบบบีทูบี (การค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ) สัญชาติอเมริกัน ที่ใช้วิธีซื้อขายด้วยการเปิดประมูลบนอินเทอร์เน็ต โดยมีสำนักงานสาขาในประเทศแถบอเมริกาเหนือ และวางแผนขยายเครือข่ายในประเทศแถบละตินอเมริกาและยุโรป ถือเป็นเว็บเทศในไทยรายแรกๆ ที่ปิดสำนักงานสาขาในประเทศไทยลงอย่างเงียบๆ นอกจากนี้ ยังมี "ไลคอสเอเชีย.คอม" (www.lycosasia.com) ที่เคยขยายสาขามายังประเทศไทยเมื่อปี 2543 ก่อนจะโบกมือลาไปในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2544 ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาหลังเจอพิษวิกฤตการก่อวินาศกรรมเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน เว็บบีทูบีอีกรายที่วางแผนจะมาปักหลักในไทยก็เงียบหายไปเช่นเดียวกัน โดยในช่วงต้นปีผู้บริหารใหญ่จากประเทศสิงคโปร์ของ "อารีบา.คอม" (www.ariba.com) ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้บินตรงมายังประเทศไทยเพื่อให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการขยายสำนักงานสาขาและรุกธุรกิจบริการอี-คอมเมิร์ซแบบบีทูบีในไทย แต่ในที่สุดจนถึงปัจจุบัน "อารีบา.คอม" ก็ยังไม่มีข่าวเปิดตัวในไทยแต่อย่างใด

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.