อี-อาเซียนประสานความร่วมมือรอบกลุ่ม

คณะทำงานอี-อาเซียน ประชุมร่วมสร้างความพร้อม รับมือการค้ากับประเทศนอกอาเซียน รวมทั้งวางหนุนการพัฒนาด้านไอซีทีกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อลดช่องว่างด้านสารสนเทศ สร้างศักยภาพการแข่งขัน ขณะที่ ไทยเตรียมชูบทบาทพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ตลอดจนสร้างมาตรฐาน ที่จะนำมาซึ่งการลดต้นทุนในธุรกิจอุตสาหกรรม เสนอต่อที่ประชุมต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน พ.ย.นี้

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ประธานคณะทำงานอี-อาเซียน ศูนย์ประสานงานอี-อาเซียน กล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ (9) ว่า คณะทำงานอีอาเซียน (อีเอดับบลิวจี) ได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนสมาชิก 10 ประเทศ เพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกัน รวมทั้งสร้างศักยภาพในการติดต่อกับคู่ค้านอกกลุ่ม หลังจากมีจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีเข้าร่วม เพื่อจัดรูปแบบการทำงานสนับสนุนการทำตลาดทั้งในกลุ่มอาเซียน และนอกกลุ่ม หลังเห็นศักยภาพของประเทศในกลุ่มนี้เป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรรวมมากกว่า 2,000 ล้านคน พร้อมกันนี้ยังเป็นการมองหาโอกาส ในการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ยูเนสโก, องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นต้น ซึ่งต่างมีแผนสนับสนุนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร (ไอซีที) ทั้งการลดช่องว่างด้านการสื่อสารสารสนเทศระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท (ดิจิทัล ดีไวด์) และการสร้างการแข่งขัน

สำหรับบทบาทของประเทศไทย อยู่ที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ตลอดจนการสร้างมาตรฐาน เพื่อหาทางลดต้นทุนในธุรกิจอุตสาหกรรม โดยผลจากการประชุมนี้จะนำเสนอสู่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ ภายหลังจากการสรุปนำเสนอสู่การประชุมเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจอาวุโส ทั้งนี้แม้ว่าด้านหนึ่งของการทำงานร่วมกัน จะเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างไอซีที พาร์ค หรือซอฟต์แวร์พาร์คขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ระดับการพัฒนายังแตกต่างกัน ผลคือ การทำงานร่วมกันและการช่วยเหลือกันด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล, การช่วยด้านจัดตั้งกรอบการทำงานและการให้คำแนะนำ อาทิ กรอบการทำงานด้านกฎหมาย และการสร้างความเป็นเอกภาพและความกลมกลืนระหว่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนการทำอี-คอมเมิร์ซ

ไซเบอร์ลอว์เป็นสิ่งจำเป็น

นอกจากความร่วมมือในด้านต่างๆ แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการค้าเป็นไปด้วยดีคือ การใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ (ไซเบอร์ลอว์) ของประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายเรื่องดังกล่าว ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น จึงต้องพยายามผลักดันให้แต่ละประเทศ มีการเชื่อมโยงกฎหมายด้านนี้เข้าด้วยกันในอนาคต ภายหลังจากการผลักดันให้แต่ละประเทศมีกฎหมายออกมาควบคุมเรื่องดังกล่าว

ด้านนายวิลเลี่ยม เฮา ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านการวางแผนระหว่างประเทศ สำนักงานการพัฒนาด้านอินโฟคอมสิงคโปร์ กล่าวว่า ขณะนี้ การใช้กฎหมายควบคุมคอมพิวเตอร์ จะเน้นด้านกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และการรักษาความปลอดภัยซึ่งป้องกันด้านทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลส่วนบุคคล โดยรูปแบบสำหรับการใช้ระหว่างประเทศจะต้องดูรูปแบบจากกฎหมายที่ใช้ทั่วโลกผ่านยูเอ็น แล้วปรับให้เข้ากับแต่ละประเทศ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.