ไอซีที เปิดอี-อ็อคชั่นสมาร์ทการ์ด 2.6 พันล. เดือนนี้

ไอซีที เตรียมเปิดประมูลระบบสมาร์ทการ์ดผ่านออนไลน์ (อี-อ็อคชั่น) ภายใน ก.. นี้ ตั้งเพดานมูลค่าโครงการ 2,600 ล้านบาท เปิดเวทีเอกชนเคาะราคาแข่งครั้งละ 20 ล้านบาท

 

.. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างสรุปกำหนดการที่ชัดเจน ในการเปิดประมูลบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (สมาร์ทการ์ด) โดยใช้วิธีประมูลออนไลน์ (อี-อ็อคชั่น) ซึ่งต้องดำเนินการภายในเดือนนี้ สำหรับกำหนดเพดานมูลค่าโครงการไว้ที่ 2,600 ล้านบาท หรือต้นทุนใบละ 120 บาท โดยเอกชนที่จะเข้าประมูลนั้นต้องเคาะลดราคากันครั้งละ 20 ล้านบาท "หากรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และผ่านขั้นตอนอนุมัติจากปลัดกระทรวง ก็จะทำการเปิดประมูลผ่านตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็อยู่ระหว่างการติดต่อกับ บมจ. ทศท คอร์ปอเรชั่น ที่มีตลาดกลางอยู่แล้ว" .. นาฬิกอติภัค กล่าว

 

ก่อนหน้านี้ น.พ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุว่าจำนวนบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะผลิตออกให้ประชาชนได้ใช้งานในปีนี้จะมีประมาณ 12 ล้านใบ โดย 10,000 ใบแรก จะทดลองกับกลุ่มวีไอพี สื่อมวลชน และบุคคลสำคัญ จากนั้นทยอยผลิตเดือนละ 2 ล้านใบ จนครบ 12 ล้านใบในเดือนกันยายน 2547

โดยประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้ใช้บัตรประชาชนรูปแบบใหม่นี้ ประกอบด้วย 1. ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. จังหวัดที่ตั้งของไอซีที ซิตี้ ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต 3. ผู้ลงทะเบียนคนจนทั่วประเทศ และ 4. นักเรียนนักศึกษา และคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี จึงสามารถออกบัตรประชาชนแบบใหม่ได้ทั้งหมด

 

ทางด้านข้อมูลที่จะพิมพ์ในบัตร จะครอบคลุมทั้งชื่อ นามสกุล เลขบัตร 13 หลัก วันออกแบบและวันหมดอายุ และวันเดือนปีเกิด รวมถึงภาพถ่ายผู้ถือบัตร เพราะบัตรใบนี้มีอายุใช้งาน 10 ปี สำหรับบ้านเลขที่นั้น เนื่องจากมองว่าผู้ถือบัตรอาจมีการย้ายที่อยู่ จึงให้เก็บไว้ในชิพ แทน ส่วนข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น โรคประจำตัวของผู้ถือบัตร จะไม่เก็บไว้ในชิพ ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น รัฐบาลจะออกให้ฟรีสำหรับการทำบัตรใบแรก แต่หากสูญหาย หรือทำใหม่ ผู้ถือบัตรต้องจ่ายเอง ขณะที่ การอ่านข้อมูลในบัตร จะต้องใช้เครื่องอ่าน พร้อมกับระบบอ่านลายนิ้วมือของเจ้าของบัตร ซึ่งจะแบ่งวิธีการเป็นแบบออฟไลน์ และออนไลน์ โดยการอ่านแบบออฟไลน์นั้น จะอ่านได้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็น หรือต้องใช้เฉพาะหน้า เพื่อช่วยเหลือผู้ถือบัตร เช่น กรณีที่ผู้ถือบัตรเกิดอุบัติเหตุ หมอก็สามารถอ่านข้อมูลเข้าภายในชิพได้ทันที

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.