ผลสำรวจอี-คอมเมิร์ซไทย ระบุ"ท่องเที่ยว"นำลิ่ว

ศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เผยผลสำรวจเวบไซต์อี-คอมเมิร์ซไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มท่องเที่ยว ติดอันดับ 1 ของมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง คาดการณ์มูลค่าตลาดรวมปีนี้เพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท พร้อมเล็งหนุนกลุ่มเกษตร-รถยนต์เข้าระบบ

 

นายสมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีซีอาร์ซี) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจเวบไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปีที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนเวบไซต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปี 43 โดยมีการสำรวจเวบไซต์นามสกุล .com และ co.th จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 6,460 เวบไซต์ พบว่ามีเวบที่ใช้งานจริง 3,765 เวบ และมีเพียง 430 เวบไซต์เท่านั้น ที่ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแบบก้าวหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 จากทั้งหมด ขณะที่ปี 43 มีการสำรวจทั้งหมด 3,120 เวบไซต์ มีเวบที่ใช้ได้จริง 923 เวบ และมีเพียงร้อยละ 6 หรือประมาณ 126 เวบไซต์ที่ทำธุรกิจอย่างจริงจัง

 

ท่องเที่ยว นำหน้า 5 อันดับแรก

ทั้งนี้ จากผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 5 อันดับแรก ที่มีการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบก้าวหน้า โดยมีระบบชำระเงิน สั่งจองซื้อสินค้า และขนส่งมากที่สุด ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีจำนวน 113 เวบ จากการสำรวจทั้งหมด 607 เวบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต มีจำนวน 65 เวบไซต์ จากการสำรวจ 393 เวบ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งหุ่มและเครื่องสำอาง มีจำนวน 36 เวบ จากทั้งหมดที่สำรวจ 138 เวบ ธุรกิจจำหน่ายดอกไม้ 28 เวบ จากการสำรวจทั้งสิ้น 33 เวบ และอุตสาหกรรมหัตถกรรม 26 เวบไซต์ จากจำนวนเวบไซต์ในกลุ่มตัวอย่าง 102 เวบไซต์ ส่วนอันดับ 6-10 ประกอบด้วย อุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง, เครื่องประดับ, บันเทิง, ร้านอาหาร และสิ่งพิมพ์ ตามลำดับ

 

"ขณะที่ การสำรวจในครั้งแรก เราจัดอันดับเฉพาะอุตสหากรรมที่จำนวนเวบมาก แต่ไม่ได้ลงถึงการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบก้าวหน้า โดยอุตสาหกรรมหลัก 5 กลุ่มแรก ประกอบด้วย 1.คอมพิวเตอร์ 2.บริการ 3.ท่องเที่ยวและโรงแรม 4.อุตสาหกรรมอาหาร/ยา/โรงพยาบาล และ 5.อุตสาหกรรมก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และออกแบบ" นายสมนึกกล่าว

 

หนุนเกษตร-รถยนต์เข้าระบบ

ด้านนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า กว่าร้อยละ 61 ของเวบไซต์ด้านอี-คอมเมิร์ซในไทย จะเน้นการขายหรือดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศ

ส่วนที่เหลือจะเน้นในประเทศ ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มอาหาร ธุรกิจบันเทิง เช่น การสั่งจองบัตรภาพยนตร์ และการซื้อขายสินค้าคอมพิวเตอร์ไอที ทั้งนี้ รัฐมีนโยบายผลักดันการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมรถยนต์ ให้เข้าสู่กระบวนการซัพพลายเชนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเกาะกลุ่ม (คลัสเตอร์) ของอุตสาหกรรม ที่คล้ายกับความสำเร็จในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าต้องอาศัยกระบวนการจัดการที่ยากกว่า โดยต้องพัฒนาระบบงานสนับสนุน และกระบวนธุรกิจให้พร้อม ก่อนนำสินค้ามาขายสู่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ในห่วงโซ่อุปทานในภาพรวมของอุตสาหกรรมได้

 

กรณีศึกษาเวบไทย 7 ไซต์

นายสมนึก กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์ฯ ยังได้จัดทำ 50 กรณีศึกษาเวบไซต์ที่ประสบความสำเร็จ โดยคัดเลือกในเกณฑ์มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ และมีแนวคิดที่น่าสนใจ โดยมีรูปแบบธุรกิจศึกษาหลากหลาย โดยมีกรณีศึกษาในไทยทั้งสิ้น 7 ราย แบ่งเป็นธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี) จำนวน 5 เวบ และอีก 2 เวบไซต์เป็นธุรกิจกับผู้บริโภค (บีทูซี) 

สำหรับกลุ่มบีทูบีนั้น ประกอบด้วย มีเวบไซต์ของเทสโก้ (www.tesco.co.uk) ซึ่งปัจจุบันเทสโก้ โลตัส ใช้ติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับซัพพลายเออร์, www.cementhaionline.com ของเครือปูนซิเมนต์ไทย ที่ให้บริการติดต่อกับซัพพลายเออร์ www.foodmarketexchange.com ของบริษัท บิสไดเมนชั่น ซึ่งให้บริการตลาดกลางออนไลน์ในอุตสาหกรรมอาหาร www.siamguru.com ของสยามกูรู ที่ให้บริการโปรแกรมค้นหา (เสิร์ช เอ็นจิ้น) ภาษาไทย และ www.value.co.th ของบริษัท เดอะแวลลู ซิสเตมส์ จำกัด ซึ่งสนับสนุนการติดต่อ และเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้ากับตัวแทนขาย (ดีลเลอร์)

 

ขณะที่ เวบไซต์ในกลุ่มบีทูซีที่ติดอันดับ ประกอบด้วย www.thaigem.com ของบริษัทไทยเจมส์ ขายอัญมณีออนไลน์ และ www.pizza.co.th ของเดอะพิซซ่าคอมปานี ซึ่งเป็นศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์รับสั่งซื้ออาหาร

นายสมนึก กล่าวด้วยว่า รูปแบบธุรกิจที่เหมาะกับไทย และมีโอกาสสร้างรายได้สูง ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้างผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (อี-โพรเคียวเม้นท์) ในระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่จะช่วยเพิ่มผลิตผล (โพรดักส์ติวิตี้)

 

คาดมูลค่าแตะ 5 หมื่นล้าน

ด้านนายทวีศักดิ์ กล่าวว่า หากคาดการณ์ปริมาณธุรกรรมหรือมูลค่า ที่จะทำผ่านการพาณิชย์ในไทยในปีนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อประเมินเฉพาะมูลค่าธุรกรรม ที่ดำเนินการผ่านระบบการชำระเงินออนไลน์ของธนาคารเอเชียเพียงแห่งเดียว ก็อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และยังมีมูลค่ายอดชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) อีกราว 40,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ ข้อมูลจากบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไอดีซี) ระบุว่าในปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดบีทูบีของไทย อยู่ในระดับ 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บีทูซี อยู่ในระดับ 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอื่นๆ อีกราว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ที่ประมาณการมูลค่าของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ (บีทูจี) ว่ามีทั้งสิ้นราว 20,000 ล้านบาท

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.