อิเล็กทรอนิกส์ไทยต้องปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพ-ยกมาตรฐานเทคโนโลยี

 

ท่ามกลางภาวะการแข่งขันรุนแรงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ส่งผลผู้ผลิตไทยต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด โดยต่างต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับเทคโนโลยี เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง รวมทั้งพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างจากสินค้าในตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสทางการตลาด

 

ทั้งนี้จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ระบุถึง ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2545 ว่า ประกอบด้วย การเปิดเสรีทางการค้าอาฟตา (AFTA) และประเทศคู่แข่งที่มีศักยภาพในตลาดมากขึ้น โดยไทยจะต้อง ลดอัตราภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทจากประเทศ ในกลุ่มอาเซียน ลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2546 และจะลดลง เหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ส่งผล ให้ราคานำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จากประเทศ ในกลุ่มอาเซียนมีราคาต่ำลง ประกอบกับผู้ผลิตไทย จะต้องรับภาระภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบที่มิได้ปรับลดภาษีนำเข้าเช่นเดียวกับ สินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไทยสูญเสียความ สามารถในการแข่งขันในตลาดในประเทศ เพราะจะ มีต้นทุน การผลิตที่สูงกว่าสินค้านำเข้าประเภทเดียวกัน ที่เสียภาษีต่ำ/ไม่ต้องเสียภาษี และการบิดเบือน โครงสร้างภาษีเช่นนี้ อาจจะทำ ให้ผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเปลี่ยนจากการผลิตเป็นการนำเข้าก็เป็นได้

 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตไทยยังต้องประสบกับการแข่งขัน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากประเทศจีนด้วย เนื่องจาก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศจีน มีราคาค่อนข้างถูก ทำให้ไทยมีโอกาสที่ จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในระดับล่างให้แก่จีน การแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่ประเทศต่างๆ ได้รวมกลุ่มการจัดตั้งเขตการค้าเสรี เช่น นาฟตา (NAFTA) ทำให้การส่งสินค้าจากประเทศนอกกลุ่มจะต้องเสียภาษีนำเข้ามากกว่าประเทศในกลุ่มของตัว และยังมีประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่จะมีศักยภาพและ บทบาทมากขึ้นในตลาดโลก ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันจีนได้กลายเป็นผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของโลก และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของสินค้าส่งออกหลักของจีน รวมถึงการขยายตลาดของจีนในตลาดสำคัญของโลก ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ส่วนแบ่งตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ของจีนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.5 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 21.2 ในปี 2542 เป็นต้น

 

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยจะต้อง ปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในตลาด โดยจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ในการผลิต และยกระดับเทคโนโลยีเพื่อให้ต้นทุนในการผลิต ลดลง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง จากสินค้าในตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด

 

ด้านนายจารึก เฮงรัศมี รองผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ไทย จะพาธุรกิจไปรอดได้จำเป็นต้อง ยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สินค้า มีประสิทธิภาพสูง (High Performance) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการแข่งขันในสินค้าตลาดล่าง ที่มีการแข่งขัน ราคามาก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เข้าไป ลงทุนตั้งโรงงานผลิตในจีนจำนวนมาก และขนาดของการผลิต ของจีนก็มากกว่า หากจะแข่งขันด้านราคาแล้ว สินค้าจากไทยจะไม่มีต้นทุนที่แข่งขันได้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจุบันจีนผลิต เครื่องรับโทรทัศน์ได้ 20-30 ล้านเครื่อง ขณะที่ไทยเอง มีกำลังผลิต 4-5 ล้านเครื่อง จึงยากต่อการกดราคาแข่ง ขณะนายอุดม อุดมปัญญาวิทย์ รองประธานสมาคม นายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และประธานบริหาร บริษัท เอ็นเอส อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการ ต้องเร่งดำเนินการ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น มีคู่แข่งในตลาดน้อยลง เพื่อให้มีกำไรสินค้าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยต้องลงทุนวิจัย และพัฒนาเพื่อสร้าง มูลค่าเพิ่ม ให้ผลิตภัณฑ์

 

มาตรการสิ่งแวดล้อมเพิ่มต้นทุน

นอกจากนี้ มีปัจจัยด้านมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มจะนำมาใช้กันมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมาย Law for Recycling of Specified Kinds of Home Appliances ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า 4 ชนิด คือ ตู้เย็น เครื่องรับ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นของผู้บริโภคทั้งหมด ตั้งแต่การจัดเก็บเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดสภาพ จนถึงการ แยกชิ้นส่วน ที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ ของญี่ปุ่นคาดว่า เครื่องปรับอากาศ, โทรทัศน์, ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ เครื่องละ 1,300 , 996 , 1,700 และ 885 บาท ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ กลุ่มสหภาพยุโรปได้ออกระเบียบเศษเหลือทิ้ง ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electronic and Electrical Equipment :WEEE) ซึ่งจะคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับในปี 2547 โดยกำหนด ให้ประเทศ ที่ส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะต้องรับผิดชอบในการทำลาย เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่หมดสภาพ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์จะต้องสามารถปรับสภาพ (Recovery) และนำกลับ มาใช้ใหม่ (Recycle/Reuse) ได้ในอัตราที่กำหนดไว้และห้ามใช้สารอันตรายในการผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม เป็นต้น จากมาตรการดังกล่าวของประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยมีภาระในด้านการลงทุนที่สูงขึ้น เนื่องจากจะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต/การออกแบบสินค้า ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย และต้องสรรหาวัตถุดิบทดแทน ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถ ส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาดนั้นๆ ได้ นอกจากนี้ เมื่อตลาดใหญ่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็อาจทำให้สินค้าที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่ำที่ไม่สามารถ ขายในตลาดนั้นได้ จะเข้ามาขายในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไทย จะต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น

 

ไทยต้องปรับตัวทันเทคโนโลยี

ปัจจัยที่ 3 การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตไทยจะต้องปรับตัวให้ทัน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ มีแนวโน้มที่จะผลิตให้มีชั้นเพิ่มมากขึ้น จากแบบสองหน้าที่มี 4 ชั้น ก็จะต้องเพิ่มเป็น 6-8 ชั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า และสามารถ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์แปลงสัญญาณทีวีได้ และการผลิต แผ่นเวเฟอร์ จะมีการเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น แต่มีขนาดลายวงจรเล็กลง โดยขนาดเวเฟอร์จะสามารถขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ในปลายปี 2545 และในช่วงแรกลายวงจรมีเป้าหมายที่จะ ลดลงเหลือ 0.13 ไมครอน และต่อมาให้เหลือ 0.09 ไมครอน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการผลิต

 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีไร้สาย (Wireless Technology) จะเข้ามีบทบาทอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้ โดยบลูทูธ จะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ซึ่งบลูทูธเทคโนโลยีใหม่ที่มีการใช้เทคนิคการส่งคลื่นวิทยุ เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างชนิดกัน โดยบลูทูธจะถูกนำมาใส่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น เช่น อุปกรณ์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ปาล์ม และพอคเก็ตพีซี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เครื่องใช้ระบบเปิดปิดประตูภายในบ้านและสำนักงาน เป็นต้น โดยผู้ใช้สามารถสั่งงานได้โดยไม่ต้องใช้สาย และยังทำให้ลดข้อจำกัดเดิมที่อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันนั้น จะต้องตั้งอยู่เรียงรายห้อมล้อมกัน เนื่องจากมีสายไฟเป็นข้อจำกัด

 

รับมืออี-บิสซิเนส

ปัจจัยที่ 4 ด้านอี-บิสซิเนส จะผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยน วิธีการจัดการ และการค้าแบบเดิม เป็นระบบการจัดการ และการค้าแบบอี-บิสซิเนส ซึ่งเป็นระบบที่สามารถทำงานต่อเนื่องแบบอัตโนมัติที่ผ่านเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เชื่อมโยงกับทุกกิจกรรม ในการจัดการธุรกิจ ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการภายในองค์กร และองค์กรภายนอกที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต เช่น การจัดซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement ) ระบบห่วงโซ่อุปทาน (e-Supply Chain) เป็นต้น

 

สรุป

การที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะไปรอดท่ามกลางการแข่งขันอันรุนแรงของตลาดทั่วโลกนั้น คือ จำต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าหรือสร้างผลผลิตที่นำหน้าประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ใช้จุดเด่นเรื่องอัตราค่าแรงอีกต่อไป

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.