รายงาน / อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฟื้นหรือฟุบ (ตอน 2)

ที่มา : ฝ่ายวิจัย ธ. กรุงเทพ
เนื่องจากการจัดตั้งโรงงานเวเฟอร์ใหม่ จะต้องใช้เงินทุนถึง 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว การลงทุนเปิดโรงงานเวเฟอร์ จึงมีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งกับผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็เพิ่งส่อเค้าจะฟื้นตัว จึงยังมีกำลังการผลิตล้นเกินในตลาดโลกมากพอสมควร ทำให้การเปิดโรงงานเวเฟอร์ซึ่งต้องการยอดขายจำนวนมาก จึงจะคุ้มทุนเป็นไปได้ยากในระยะสั้น นอกจากปัจจัยทางการตลาดแล้ว ปัจจัยทางการเมืองและความพร้อมของสาธารณูปโภค และบุคลากร ก็มีบทบาทสูงมากในการตัดสินใจสร้างโรงงานเวเฟอร์

 

ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบไทยกับมาเลเซีย จะพบว่ามาเลเซียมีเสถียรภาพทางการเมืองเหนือกว่าไทย ทำให้มาเลเซียประสบความสำเร็จในการตั้งโรงงานเวเฟอร์ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง จึงจะดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาร่วมทุนตั้งโรงงานเวเฟอร์ได้ สำหรับสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ก็เป็นปัญหาสำคัญ ไฟดับ ไฟตก กำลังไฟไม่พอ เป็นเหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงเป็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ท้ายที่สุด ประเทศไทยขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ที่จะดำเนินการผลิต และการซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก

 

ในการผลิตเวเฟอร์นั้นใช้ทราย (Quartz Sand) เป็นวัตถุดิบซึ่งมีอยู่ทั่วไปในโลก แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การแปรรูปทราย (Quartz Sand or Silicon Dioxide) ให้เป็น Polysilicon Crystal ที่มีขบวนการสลับซับซ้อน และต้องหาเครื่องจักรราคามหาศาล เพื่อให้ได้ Silicon Wafer ก่อนนำมาเจือสารซึ่งแต่ละขั้นตอนยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้น

ดังนั้น การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญก็เป็นปัญหาสำคัญ รวมไปถึงการขาดทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หากประเทศไทยยังต้องการประสบความสำเร็จ ในการตั้งโรงงานเวเฟอร์ ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านการเมือง สาธารณูปโภค และทรัพยากรบุคคล ให้สมบูรณ์เสียก่อน ส่วนปัจจัยทางด้านตลาดไม่เป็นปัญหามากนัก จากการคาดการณ์ของ Daiwa Insitute of Research (DIR) อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำโลกจะมีการขยายตัวถึง 20% ในระยะยาว ทำให้โรงงานเวเฟอร์มีแนวโน้มที่ดี สำหรับข้อจำกัดของประเทศไทยที่มีตลาดค่อนข้างแคบ (Thin Market) แต่โรงงานเวเฟอร์ก็ยังมีทางเลือกที่จะจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทออกแบบวงจรไฟฟ้า (Fabless) นอกเหนือจากบริษัทรับจ้างประกอบ (Subcontractor) และบริษัทในเครือ (Subsidiary)

 

หัวใจที่แท้จริงของความสำเร็จในการตั้งโรงงานเวเฟอร์ อยู่ที่เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความพร้อมทางทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณูปโภค ดังนั้น จึงน่าจะมีการทบทวนนโยบาย และทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้รอบคอบ และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมดังกล่าวภายในระยะ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่จะช้าเกินไปไหม ในขณะที่เวทีโลกเต็มไปด้วยการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.