เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังแอ่น สารพัดปัญหารุมเร้า


ถึงชั่วโมงนี้คงไม่มีธุรกิจใดที่จะชอกช้ำระกำใจเกินหน้าวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าไปได้ นอกเหนือจากดีกรีการแข่งขันที่เข้าขั้นทะลุจุดเดือด ไม่เพียงเท่านั้น สารพัดปัญหายังดาหน้าเข้ามาไม่ขาดระยะ

เริ่มจากสินค้าจีนที่ใช้กลยุทธ์ราคารุกคืบตีโลคอลแบรนด์ของไทยอย่างไม่ยั้ง และกินแชร์ไปกว่า 80% ซ้ำร้ายต้องมาเจอกับสถานการณ์วัตถุดิบพร้อม ใจกันขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหล็กแผ่นที่ต้องนำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ และที่ยังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในเวลานี้ก็คือ ราคาทองแดงที่รัฐบาลจ้องขยับภาษีขึ้นจาก 1% เป็น 5% นี่ยังไม่รวมถึงต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งไม่รู้ว่าภาครัฐจะตรึงราคาต่อเนื่องไปได้อีกนานเท่าไร ข่าวร้ายเหล่านี้ยังพากันกลบข่าวลดภาษีชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปเสียสนิท

สมหวัง อัศราษี ประธานบริษัท สแกนเนอร์ อิเลคทริก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบรนด์มิซูชิต้า หนึ่งในแกนนำกลุ่มสินค้าโลคอลแบรนด์ บอกว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มพยายามเรียกร้องผ่านสภาอุตสาห กรรมฯ เพื่อให้ยึดถือมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่การตอบรับใดๆ จากภาครัฐกลับแผ่วเบาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่เวลานี้สินค้าจากจีนกำลังแย่งชิงตลาดล่างไปแทบหมดสิ้นแล้ว ปัญหาของผู้ผลิตรายย่อย หรือโลคอลแบรนด์ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนมากที่สุด เนื่องเพราะตำแหน่งในตลาดของผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่ระหว่างอินเตอร์แบรนด์ที่แข็งแกร่งกับสินค้าจากจีน ที่ราคาขายปลีกถูกกว่าเกือบครึ่ง ที่สำคัญที่สุดสินค้าจากจีนยังไม่มีมาตรฐานแม้แต่น้อย "ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ ผู้ผลิตภายในประเทศ 3-4 ราย คงต้องปิดกิจการภายในสองเดือนนี้ และคงส่งผลกระทบต่อพนักงานร่วม 2 พันคนที่ต้องว่างงาน"

กรณีเดียวกันนี้ "สานิตย์ คร้ามภัย" ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท ฮานาบิชิ อิเลคทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เสริมว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นเมื่อบวกกับการแยกตัวออกไปเป็นครอบครัวเล็กๆ มากขึ้น ทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก (small HA) ขยายตัวตามไปด้วย คาดว่าปีนี้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กน่าจะเติบโตถึง 3,500 ล้านบาท ปัญหาก็คือ 80% ถูกสินค้าจีนแย่งชิงไปจนหมดสิ้น ข้อสังเกตของ "สานิตย์" ก็คือมีบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากจีนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอยู่แค่ 4-5 รายเท่านั้น แต่กลับมีสินค้าจีนเกลื่อนตลาดกว่า 100 ยี่ห้อ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้นำเข้าพร้อมจะเปลี่ยนสติกเกอร์ยี่ห้อใหม่ได้ทุกเมื่อ

นอกจากราคาที่ถูกกว่าเท่าตัวแล้ว สินค้าจีนยังปูพรมไปทั่ว ไม่เว้นแม้แต่ดิสเคานต์สโตร์จนแบรนด์ เนมยังผวา และแก้เกมด้วยการออกไฟติ้ง โมเดล ออกมาชน ยกตัวอย่างเช่น ชาร์ปที่จัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับคาร์ฟูร์ วางขายทีวีสีขนาด 20 นิ้ว ในราคา 3,990 บาท ขณะเดียวกัน ปัญหาวัตถุดิบซึ่งจำเป็นในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่างปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ ส่งผลให้ทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากมีกลไกราคาในตลาดบีบบังคับ

ทาดาโอะ โอโตะ ประธานกรรมการบริษัท ซันโย อิเล็คทริค จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ถึงแม้ภาครัฐจะลด ภาษีนำเข้าวัตถุดิบลงจาก 30% เหลือเพียง 5% แต่ราคาวัตถุดิบบางส่วนกลับพุ่งสูงขึ้น เช่น ทองแดง และ น้ำมัน รวมทั้งสารเคมีบางตัวที่จำเป็นในการผลิต และต่อให้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ เพราะวัตถุดิบเหล่านี้ต่างไหลไปประเทศจีนที่ทุ่มซื้อแบบไม่เกี่ยงราคา ผลจากกรณีดังกล่าว ผู้บริหารของซันโย กล่าวว่า ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 15% เพราะถ้าจะใช้วิธีขึ้นราคาสินค้า ก็ต้องเจอกับกลไกของราคาในตลาด ทำให้ต้องจำยอมแบกรับภาระกันไปก่อน เว้นแต่ว่าราคาวัตถุดิบไม่มีทีท่าว่าจะปรับลง ถึงเวลานั้นคงต้องว่ากันอีกที ซึ่งมีหลายแนวทาง ทั้งปรับราคาขึ้น ลดต้นทุนกระบวนการผลิต และถ้าหนักหนาจริงๆ ก็อาจเปลี่ยนสายการผลิตไปให้ความสำคัญกับสินค้ากลุ่มไฮเอนด์แทน

เช่นเดียวกับ "วิวัฒน์ พนมไพรฑูรย์" ผู้อำนวยการบริษัท เฟดเดอรัล อิเลคทริค จำกัด ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับอินเตอร์แบรนด์ทั้งค่ายเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้บริษัทเองต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 5-10% เอาไว้ ต้นทุนดังกล่าวมาจากการปรับตัวขึ้นของวัตถุดิบโดยเฉพาะทองแดงที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ รวมทั้งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็คือ ผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นตามได้ ด้วยกลไกการตลาดทำให้แต่ละแบรนด์ต่างไม่มีใครยอมขึ้นราคา เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดเอาไว้ ขณะเดียวกัน ก็เพื่อตีกันสินค้าจากจีนไปในตัว อย่างไรก็ตาม หากวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิตยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวลดลง สิ้นปีนี้คงได้เห็นภาพของการปรับราคาสินค้าเกิดขึ้น หรือไม่ก็หันเหตัวเองไปสู่สินค้ากลุ่มไฮเอนด์ และนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าเรื่องของราคาอย่างแน่นอน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.