2 เอกชนคว้างาน อี-โพรเคียวเม้นท์ภาครัฐ

พันธวณิช-บิซ ไดเมนชั่น 2 เอกชนติดโผผ่านการตรวจสอบระบบด้านเทคนิค ประมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ใต้โครงการจัดซื้อจัดจ้างผ่านอี-โพรเคียวเม้นท์ ด้านกรมบัญชีกลางเตรียมประสานไอซีทีหนุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนงานประมูล

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ 2 บริษัทเอกชน ได้แก่ บริษัท พันธวณิช จำกัด (www.pantavanij.com) และบริษัท บิซ ไดเมนชั่น เจ้าของเวบไซต์ www.foodmarketexchange.com ผ่านการตรวจสอบระบบด้านเทคนิคในการประมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ที่เป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-โพรเคียวเม้นท์) แต่ยังมีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นที่มีความพร้อม เสนอระบบเข้ารับการทดสอบเช่นกัน ทั้งนี้กรมฯ เตรียมประสานงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย เพื่อสนับสนุนการประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ กรมฯ จะเป็นหน่วยงานศูนย์สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือด้านกระบวนการให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมถึงนำเสนอร่างแก้ไขระเบียบพัสดุให้รองรับการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ "การประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ซึ่งต่อไปจะขยายศักยภาพให้หน่วยงานรัฐ เปิดให้เอกชนยื่นขอเสนอทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-RFP) และราคา (e-RFQ) ด้วย ทั้งท้ายสุดให้เอกชนนำเสนอสินค้าให้กับภาครัฐในรูปแบบรายการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Catalog)" นายกุลิศ กล่าว

 

ขั้นตอนโครงการ

สำหรับกระบวนการอี-โพรเคียวเม้นท์นั้น จะเริ่มต้นจากหน่วยงานรัฐต้องนำข้อมูลการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง มารวมศูนย์ไว้ที่เวบไซต์ www.gprocurement.or.th โดยหน่วยงานนั้นๆ ต้องระบุคุณสมบัติของเครื่องที่ต้องการจัดซื้ออย่างชัดเจน (Specificatoion) รวมถึงจำนวนที่ต้องการจัดซื้อ และต้องพิจารณาศักยภาพด้านงานบริการหลังการขายของผู้ค้าด้วย จากนั้นหน่วยราชการก็คัดเลือกผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์รายใดรายหนึ่ง และประกาศเชิญชวนเอกชน หรือผู้ค้าที่สนใจให้ร่วมเสนอประมูล โดยต้องมีผู้เสนอขายที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 5 ราย ส่วนระยะเวลาการเปิดประมูลออนไลน์นั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานจะตกลงกับผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์เอง "ก่อนหน้าที่จะเปิดประมูลออนไลน์ต้องให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นซองเทคนิคมาที่หน่วยราชการ และผู้ให้บริการก่อน และคัดเลือกผู้ผ่านซองเทคนิค ให้มาฝึกอบรมการใช้งานระบบสร้างภาพจำลอง (Simulation) ในการประมูลจริงด้วย" นายกุลิศ กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาเวบไซต์ให้แสดงข้อมูลเอกชนที่ชนะการประมูลที่ผ่านมาของทุกหน่วยงานด้วย เพื่อให้หน่วยงานราชการสามารถพิจารณาคุณสมบัติได้ง่ายมากขึ้นจากประวัติย้อนหลัง และไม่ต้องให้เอกชนลงทะเบียนเข้าประมูลใหม่ทุกครั้ง ทั้งนี้กรมฯ จัดทำกรอบรายละเอียดแนวทางปฏิบัติในการประมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ที่เป็นส่วนหนึ่งภายใต้นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-โพรเคียวเม้นท์) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง น..สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กำหนดการเดิมจะยื่น ครม. เมื่อ 12.. ที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาบางประการจึงเลื่อนเป็นสัปดาห์หน้าแทน นายกุลิศ กล่าวอีกว่า สำหรับการคัดเลือกนั้น หน่วยงานราชการจะเลือกเอกชนผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส เซอร์วิส โพรไวเดอร์) เอง โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษา คอยกลั่นกรอง และคัดเลือกเอกชนที่มีความพร้อม และคุณสมบัติเชื่อถือได้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.