"ใครได้-ใครเสีย"จากการใช้เงินสกุลยูโร

รายงาน โดยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการน่าจะได้รับอานิสงส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยานพาหนะ-อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ยาง เพราะส่งออกได้เพิ่มในปี 2544

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้เงินสกุลยูโร โดยมองผลกระทบการค้าไทย-ยูโรโซน ทั้งด้านดีและด้านลบ อย่างเป็นรูปธรรม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ผลกระทบในด้านบวก

1. อัตราแลกเปลี่ยนเบ็ดเสร็จ เงินตราสกุลเดียวของสหภาพยุโรปจะอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินบาทกับเงินยูโร ปัจจุบันมีค่าอยู่ในอัตราเฉลี่ย 1 ยูโร ประมาณ 39 บาท เงินยูโรสกุลเดียวสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้า และบริการภายในกลุ่มประเทศภาคีเงินยูโรทั้ง 12 ประเทศ ช่วยลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าของไทย เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนเงินซ้ำซ้อน ผ่อนคลายความยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กับกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งช่วยบรรเทาความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินตราท้องถิ่นหลากหลายสกุลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 12 ชาติ ยุบรวมเป็นเงินตราสกุลเดียวกันเรียบร้อยแล้ว

2. เสริมสภาพคล่องทางการค้า การใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในรูปสกุลเงินยูโร เปรียบเสมือนการทลายกำแพงขวางกั้นทางการเงินภายในกลุ่มประเทศยูโรโซน ส่งผลดีแก่การค้าขายสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกเงินยูโรให้คล่องตัว นับเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรีขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยประชากรกว่า 300 ล้านคน การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรเพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการกระจายสินค้าไปยังตลาดกลุ่มยูโรโซนโดยรวม เพราะปราศจากอุปสรรคทางการค้า

3. เกื้อหนุนส่งออกสินค้าไทย การนำเงินยูโรออกใช้อย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะส่งผลให้เงินยูโรมีพื้นฐานมั่นคงขึ้น เสถียรภาพของค่าเงินยูโรจะเกื้อหนุนให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัว รวมทั้งการนำเข้าสินค้าไทยด้วย สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ น่าจะได้รับอานิสงส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยานพาหนะ-อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น เนื่องจากสินค้าเหล่านี้สามารถส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้นในปี 2544 ขณะเดียวกันค่าเงินยูโรที่มั่นคงจะช่วยฟื้นฟูการส่งออกสินค้าไทยบางราย การที่น่าเป็นห่วงให้กระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผงวงจรไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผ้าผืน วงจรพิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องวิดีโอ-อุปกรณ์เครื่องเสียง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าในกลุ่ม 20 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป ลดลงฮวบฮาบในรอบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศยูโรโซน นำธนบัตร และเหรียญกษาปณ์เงินยูโร ออกใช้ จะส่งผลดีแก่ประเทศคู่ค้าของกลุ่มยูโรโซนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ไทยได้รับ ดังนั้น การที่ไทยจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการค้าจากกลุ่มประเทศยูโรโซน ไทยจะต้องเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงคุณภาพสินค้า ส่วนทางด้านการลงทุน ความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่มยูโรโซน อ่อนแรงมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเห็นได้ชัดในปี 2544 คาดว่ามูลค่าการลงทุนของกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2544 จะอยู่ในระดับประมาณ 12,000 ล้านบาท ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่อยู่ในระดับ 23,470 ล้านบาท ในปี 2543 นักลงทุนกลุ่มประเทศยูโรโซนติดอันดับ 2 ของการลงทุนของต่างชาติในไทย ในช่วง 10 เดือนแรก 2544 รองจากญี่ปุ่น การลงทุนของกลุ่มยูโรโซนที่ขอรับการส่งเสริมในไทยมีมูลค่ารวม 11,682 ล้านบาท ลดลงถึง 70% เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริม 38,878 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2543 นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ที่โครงการลงทุนของกลุ่มยูโรโซนหดตัวลง

ส่วนผลกระทบทางด้านลบนั้น การใช้เงินยูโรร่วมกันของประเทศยูโรโซนในระยะแรก มีแนวโน้มว่าประเทศในกลุ่มนี้อาจเพิ่มการลงทุนภายในกลุ่มประเทศสมาชิกด้วยกันเองมากขึ้น เนื่องจากเงินยูโรอำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างสมาชิกยูโรโซน

รวมทั้งกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกัน ทำให้การรวมกิจการระหว่างประเทศสมาชิกยูโรโซนจะยังคงคึกคักภายในกลุ่มเดียวกัน เพราะเป็นเสมือนการเสริมเขี้ยวเล็บแก่ธุรกิจต่างๆ ให้ครองความเป็นหนึ่งในอาณาจักรยูโรโซน ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่จะกระจายออกสู่ประเทศนอกกลุ่มอาจจำกัดจำนวนลงในระยะสั้น

ผลกระทบด้านบวก

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ-การเงินของประเทศสมาชิกยูโรโซน จะช่วยผนึกพลังความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ-การเงินภายในกลุ่มประเทศสมาชิก คาดว่าในระยะยาวเม็ดเงินลงทุนของประเทศยูโรโซนจะไหลออกสู่ต่างแดนมากขึ้น เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้ที่เคยมีเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแอ เช่น โปรตุเกส และสเปน ซึ่งคุ้นเคยกับการเป็นฐานการผลิตสินค้าของกลุ่มยูโรโซน จะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ทำให้ความได้เปรียบด้านอัตราค่าจ้างแรงงานที่เคยอยู่ในระดับต่ำของประเทศเหล่านั้นหมดไป ดังนั้น กลุ่มประเทศยูโรโซนจำเป็นต้องมองหาทำเลลงทุนนอกกลุ่มที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า นอกจากนี้ หากเงินยูโรมีเสถียรภาพมั่นคง จะยิ่งส่งเสริมให้สมาชิกยูโรโซนสนใจขยายการลงทุน และแสวงแหล่งลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนในการผลิตสินค้าโดยตรง และการลงทุนทางอ้อมในตลาดเงินตลาดทุนต่างประเทศ

ผลกระทบท่องเที่ยวไทย-ยูโรโซน

ผลเสีย

1. การใช้เงินตราสกุลเดียวกันของประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโรโซน จะส่งให้ชาวยุโรปให้ความสนใจเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศยุโรปด้วยกันเองมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียต้นทุนค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินตราหลายสกุล นอกจากนี้ ยุโรปเป็นดินแดนที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย และมีลักษณะภูมิประเทศอันสวยงาม ไม่น้อยหน้าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของโลก อันจะทำให้ยูโรโซนกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก แข่งขันกับไทยมากขึ้นด้วย

2. การใช้เงินตราสกุลเดียวกันในเขตยูโรโซน จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวในดินแดนยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกในการใช้จ่ายเงินตราสกุลยูโร เพราะสามารถใช้เงินตราสกุลเดียวในดินแดนยูโรโซนทั้งหมด รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าที่จับจ่ายในแต่ละประเทศในเขตยูโรโซนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ทวีปยุโรปนับเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทยจำนวนกว่า 100,000 คน ในแต่ละปี โดยในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปี 2544 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสนใจเดินทางไปเยือนยุโรปจำนวนทั้งสิ้น 130,428 คน เพิ่มขึ้น 10.57% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยว 117,955 คน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ผลดี

การนำธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ยูโรออกใช้หมุนเวียน ทำให้เงินสกุลยูโรกลายเป็นเงินตราที่สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรม และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในเขตยูโรโซนกว่า 300 ล้านคน จากเดิมที่มีเงินยูโรในรูปของระบบบัญชีเท่านั้น การปรากฏตัวของเงินยูโรจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรมีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะต้นทุนการทำธุรกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจจะลดลงและสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มยูโรโซนด้วยกันเอง อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ชาวยุโรปมีรายได้สำหรับเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ชาวยุโรปนับเป็นตลาดท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทย โดยมีชาวยุโรปให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย คิดป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวยุโรปยังให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2544 มีนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,663,545 คน เพิ่มขึ้น 8.71% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มยูโรโซนที่ให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากเป็นอันดับ 1 คือ ชาวเยอรมัน จำนวนนักท่องเที่ยว 287,534 คน รองลงมา ได้แก่ ชาวฝรั่งเศส จำนวนนักท่องเที่ยว 178,193 คน สำหรับชาวยูโรโซนชาติอื่นๆ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวนลดหลั่นกันลงไป ดังนี้ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยียม ฟินแลนด์ สเปน และออสเตรีย ส่วนสมาชิกยูโรโซนอีก 4 ประเทศ ไม่ติดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนประเทศไทยน้อยมาก ได้แก่ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ และลักเซมเบิร์ก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.