กันยายนส่งออกทะลุ 6,400 ล้านเหรียญ พาณิชย์ตีปีกลุ้นปี 2546 ขยายตัว 4.5%


รายงาน
ภาวะการส่งออกสินค้าไทยในเดือนกันยายน 2545 ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จนทำให้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์การส่งออกในปี 2546 ไว้ว่าน่าจะสูงกว่าปริมาณการส่งออกในปี 2545 แม้จะไม่สูงกว่ามาก แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ในขณะที่ภาคเอกชนเองกลับชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงในการส่งออกของไทยในปี 2546 และเมื่อพิจารณาตัวเลขส่งออกเป็นรายตลาดและรายสินค้าจะทำให้เห็นภาพการส่งออกตลอดปี 2545 และมองภาพการส่งออกในปี 2546 ได้ชัดเจนมากขึ้น

โดยนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความเห็นถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2546 ว่า การส่งออกน่าจะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับปีนี้หรือมากกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ในระดับร้อยละ 3.5-4.5 และภายใน 3 ปีข้างหน้าอัตราขยายตัวการส่งออกของไทยจะอยู่ประมาณร้อยละ 8 สำหรับเหตุผลที่ทำให้มั่นใจว่า การส่งออกของไทยในปีหน้าจะยังเติบโตได้ดีนั้นเนื่องจากเชื่อว่า จะไม่เกิดภาวะสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัก แต่หากเกิดก็จะเกิดในระยะสั้น ซึ่งจะไม่กระทบต่อการส่งออกมากนัก ประกอบกับปัญหาการส่งออกสินค้าอาหารโดยเฉพาะกุ้ง ซึ่งประสบปัญหาเรื่องสารตกค้างในสหภาพยุโรปน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

5 ปัจจัยเสี่ยงส่งออกปี'46
ทางด้านนายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2546 ได้แก่ 1)ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น  2)เหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิรัก  3)ผลกระทบจากเหตุการณ์พิพาทระหว่างสมาคมผู้ประกอบธุรกิจทางทะเลและท่าเรือ 29 แห่งในชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐกับสหภาพ แรงงานและคลังสินค้าระหว่างประเทศที่แม้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐจะใช้อำนาจให้มีการเปิดท่าเรือตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2545 แต่เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก  4)แนวโน้มระดับราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหากเกิดสงคราม นอกจากนี้กลุ่มโอเปกมีท่าทีชัดเจนในการคงนโยบายไม่ผลิตน้ำมันเพิ่ม และ  5)ทิศทางค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ จนอาจจะทำให้สหรัฐดำเนินนโยบายให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าของไทยเพิ่มขึ้นในสายตาของผู้นำเข้าจากต่างประเทศ

ส่งออกเดือนกันยายนเพิ่ม 16.7%
สำหรับการส่งออกในเดือนกันยายน 2545 มีมูลค่า 6,410 ล้านเหรียญ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2544 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงที่สุดของไทย มีผลทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2545 มีมูลค่า 50,550 ล้านเหรียญ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2544 ส่วนการนำเข้าในเดือนกันยายน 2545 มีมูลค่า 5,482 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ทำให้การนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545 มีมูลค่า 47,575 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ หมวดสินค้าวัตถุดิบ ยานพาหนะ และอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าทุนและเชื้อเพลิงลดลง

ส่งออกตลาดหลักลด-ตลาดใหม่เพิ่ม
การส่งออกไปตลาดหลักในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545 ลดลงร้อยละ 0.9 มูลค่า 33,365 ล้านเหรียญ มีสัดส่วนร้อยละ 66 ของการส่งออกทั้งหมด โดยตลาดสหรัฐส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 มูลค่า 10,028 ล้านเหรียญ, ตลาดญี่ปุ่นส่งออกลดลงร้อยละ 2.8 มูลค่า 7,335 ล้านเหรียญ, ตลาดสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 7.2 มูลค่า 7,461 ล้านเหรียญ และตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 มูลค่า 8,541 ล้านเหรียญ

ด้านตลาดใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 มูลค่า 17,785 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 แบ่งเป็น ตลาดรอง ได้แก่ ตลาดฮ่องกงส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 มูลค่า 2,719 ล้านเหรียญ, ตลาดไต้หวันลดลงร้อยละ 2.6 มูลค่า 1,430 ล้านเหรียญ, ตลาดเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 มูลค่า 1,031 ล้านเหรียญ, ตลาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 มูลค่า 1,377 ล้านเหรียญ, ตลาดแคนาดา ลดลงร้อยละ 2.1 มูลค่า 576 ล้านเหรียญ ตลาดใหม่ ได้แก่ ตลาดอินโดจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 มูลค่า 1,601 ล้านเหรียญ, ตลาดตะวันออก กลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 มูลค่า 1,859 ล้าน เหรียญ, ตลาดแอฟริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 มูลค่า 1,084 ล้านเหรียญ, ตลาดละตินอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 มูลค่า 877 ล้านเหรียญ, ตลาดยุโรปตะวันออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 มูลค่า 386 ล้านเหรียญ, ตลาดเอเชียใต้ ลดลงร้อยละ 4.7 มูลค่า 783 ล้านเหรียญ, ตลาดจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 มูลค่า 2,385 ล้านเหรียญ และตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 มูลค่า 1,077 ล้านเหรียญ

เกษตรลด อิเล็กทรอนิกส์ตก สิ่งทอกระเตื้อง
หากพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่า สินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.4 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เนื่องจากการส่งออกกุ้งสดแช่แข็งลดลงร้อยละ 39.5 มูลค่า 577 ล้านเหรียญ และมันอัดเม็ดและมันเส้นลดลงร้อยละ 25.7 มูลค่า 164 ล้านเหรียญ, ข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 มูลค่า 1,117 ล้านเหรียญ, ยางพาราส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 มูลค่า 1,167 ล้านเหรียญ สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 มูลค่า 34,350 ล้านเหรียญ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารในปี 2546 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2545 เนื่องจากอาหารไทยมีปริมาณมากและหลากหลายปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปัจจัยภายในมาจากผลของเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนปัจจัยภายนอกมาจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่รุนแรง แนวโน้มปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้น มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่ประเทศ ต่างๆ นำมาใช้มากขึ้น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่า 11,419.03 ล้านเหรียญ ลดลงร้อยละ 3.81 เนื่องจากสินค้าคอมพิวเตอร์มีมูลค่าลดลง เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับจีน ส่วนแผงวงจรไฟฟ้าประสบปัญหาด้านความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีอยู่มากเกินความต้องการ ส่วนการส่งออกในปี 2546 แนวโน้มไม่สดใสนัก เนื่องจากปัญหาสงครามอิรักที่อาจจะเกิดขึ้นยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงขึ้น อีกทั้งมาตรการกำจัดของเสียจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (WEEE) ส่วนเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 2,204.06 ล้านเหรียญ ลดลงร้อยละ 7.77 คาดว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2545 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงต้นปี 2545 ผู้นำเข้ามีคำสั่งซื้อสินค้ากับจีนเกินกว่าโควตาส่งออกที่จีนได้รับทำให้ผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยแทน ส่วนแนวโน้มในปี 2546 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2545 เล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคในสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักอันดับ 1 เริ่มกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมที่สหรัฐ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.