ฟอร์จูนจัดสุดยอดบริษัทมะกัน ชู"วอล-มาร์ต"ครองแชมป์ 2003

ฟอร์จูนจัดอันดับสุดยอดธุรกิจสัญชาติอเมริกัน ผลประกอบการสูงสุด 500 บริษัท ปี 2003 โดยมีวอล-มาร์ตขึ้นแท่นครองแชมป์อันดับ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันด้วยผลกำไรสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 20% พร้อมสัมภาษณ์ซีอีโอหลายบริษัทติดอันดับแสดงวิสัยทัศน์ธุรกิจ อาทิ แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ และแก๊ป

นิตยสารฟอร์จูน นิตยสารธุรกิจชื่อดังระดับโลกฉบับล่าสุดเปิดเผยผลการจัดอันดับบริษัทสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่ที่สุดประจำปี 2003 ว่า จากการประเมินผลประกอบการของบริษัทสหรัฐในปี 2002 บริษัทที่สามารถครองแชมป์ธุรกิจอเมริกันขนาดใหญ่ที่สุด บริษัทที่ครองตำแหน่งเป็นบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาทั่วโลก "วอล-มาร์ต" (Wal-Mart) ด้วยรายได้ปี 2002 ที่สูงถึงเกือบ 247,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายของบริษัทวอล-มาร์ตเพิ่มมากขึ้นในอัตราราว 15.7% ต่อปี อีกทั้งคาดว่าจะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องตราบถึงปี 2007 ได้ในอัตราประมาณ 12% ต่อปี

นิตยสารฟอร์จูนกล่าวว่า หัวใจสำคัญในการบริหารงานของวอล-มาร์ต คือ การกำหนดราคาสินค้าให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคต่อวอล-มาร์ต คือ ขนาดของธุรกิจที่กำลังใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เพราะขนาดที่ใหญ่จะทำให้การบริหารงานและการปกครองลูกจ้างที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวันมีความยากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ขนาดใหญ่ยังมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นด้วย ดังเช่นจากผลสำรวจของวอล-มาร์ตในปี 2000 ที่พบว่าบริษัทถูกฟ้องร้องถึง 4,851 ครั้งหรือเท่ากับ 1 ครั้งในเวลา 2 ชั่วโมง

ด้านสตาร์บัคส์ บริษัทธุรกิจจำหน่ายกาแฟที่มีสาขาทั่วโลกก็เข้ามาอยู่ในชาร์ตของฟอร์จูนปีนี้ด้วยเช่นกันที่อันดับ 465 สตาร์บัคส์เริ่มต้นจากธุรกิจจำหน่ายเมล็ดกาแฟเล็กๆ จนต่อมาเมื่อ 11 ปีก่อนที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐและมีสาขาในซีแอตเติลและรัฐใกล้เคียงเพียง 165 สาขา มาในปัจจุบัน สตาร์บัคส์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ขายเครื่องดื่มกาแฟที่ขยายสาขาออกไปมากถึง 6,000 แห่ง ใน 30 ประ เทศ โดยมียอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ต่อเนื่องทุกปี

สตาร์บัคส์เป็นธุรกิจที่ไม่มีต้นทุนในเรื่องของการส่งสินค้า ร้านกาแฟแห่งนี้เน้นการให้บริการที่ดีที่สุด การตกแต่งที่โปร่งสบายและมีพื้นที่สำหรับลูกค้าในการนั่งพักผ่อน กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ธุรกิจกาแฟของสตาร์บัคส์เติบโตถึง 6-8% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ซีอีโอของสตาร์บัคส์ นายโฮเวิร์ด ชูลส์ กล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจจะอยู่ในช่วงบูมแต่โดยรวมแล้วสตาร์บัคส์ยังมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มกาแฟในสหรัฐเพียง 7% และต่างประเทศอีกแค่ 1% เท่านั้น นี่เองเป้าหมายของสตาร์บัคส์คือจะขยายกิจการให้ได้ 10,000 สาขาทั่วโลกภายในปี 2005 และจะทำให้สตาร์บัคส์กลายมาเป็นยี่ห้อเครื่องดื่มที่ทุกคนจดจำได้เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับโคคา-โคลามาแล้ว

ส่วนธุรกิจฟาสต์ฟู้ดที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอเมริกัน อย่างแมคโดนัลด์ ในปีนี้อยู่ในอันดับที่ 124 แม้หลายปีที่ผ่านมาแมคโดนัลด์อาจมีผลประกอบการที่ค่อนข้างย่ำแย่ อีกทั้งในไตรมาสแรกของปีนี้ยังขาดทุนมหาศาลเป็นครั้งแรก ถึง 343.8 ล้านเหรียญ และราคาหุ้นของบริษัทตกลงเหลือเพียง 14 เหรียญ ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีก็ตาม สถานการณ์ที่ย่ำแย่หนักทำให้บริษัทต้องดึงผู้บริหารเก่าอย่างจิม คาร์ทาลูโป เข้ามาพลิกเกม โดยคาร์ทาลูโปมองว่าสาเหตุที่แมคโดนัลด์ประสบกับการขาดทุนเนื่องมาจากการแข่งขันของตลาดฟาสต์ฟู้ดที่เพิ่มมากขึ้น และการตลาดที่ไม่ดี คาร์ทาลูโปไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการแบบใหม่ โดยจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานร้านอาหารทั่วสหรัฐจำนวน 13,000 แห่ง พร้อมทั้งแนะนำเมนูอาหารใหม่ๆ ที่เน้นสุขภาพมากขึ้น และเปลี่ยนนโยบายจากการเพิ่มสาขาร้านเพื่อดึงดูด ลูกค้ามาเป็นการดึงลูกค้าให้มาที่ร้านที่ตั้งอยู่แล้วให้ได้แทน ควบคู่กับการหาแบรนด์อาหารที่แตกต่างกันไปเข้ามาในเครือ อาทิ ร้านคริสโตเปิล ร้านอาหารเม็กซิกัน ร้านอาหารอิตาเลี่ยนแบบด่วน ฟาโซลี่ หรือจะเป็นบอสตันมาเก็ตที่เน้นไก่ย่างหลายๆ ชนิด เป็นต้น

นอกจากธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารแล้ว ธุรกิจขายเสื้อผ้าอย่างบริษัทแก๊ปซึ่งมีร้านเสื้อผ้าในเครือ ได้แก่ แก๊ป บานานา รีพับลิก และโอลด์เนวี่ ก็ติดอันดับ 130 ของนิตยสาร ฟอร์จูนด้วย โดยนายพอล เพรสเลอร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารของแก๊ประบุว่า แก๊ปจะดำเนินนโยบายการตลาดใหม่ด้วยการนำกลยุทธ์อย่างการเน้นการโฆษณาในรูปแบบใหม่ให้เพิ่ม มากขึ้น พยายามสร้างร้านในเครืออย่างบานานา รีพับลิกให้เป็นร้านเสื้อผ้าเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น และโอลด์เนวี่ที่เน้นเสื้อผ้าของคนทุกวัยในครอบครัวให้บุกตลาดยุโรปอย่างเยอรมนีที่ผู้บริโภคเน้นสินค้าค่อนข้างราคาไม่แพง และส่งแก๊ปเด็ก (GapKids) บุกตลาดสเปน เป็นต้น

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 เมษายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.