สำรวจความพร้อมชิ้นส่วนไทย เอฟทีเอ โอกาสหรือวิกฤติ

ในยุคที่เศรษฐกิจการค้าของไทยจำเป็นจะต้องมองภาพในมุมกว้างมากขึ้น การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งปัจจุบันไทยเองก็เป็นสมาชิกความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศอยู่หลายกรอบความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นในกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีเป้าหมายเจรจาลดภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกให้เป็น 0% ภายในปี 2010 สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และภายในปี 2020 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา หรือเอเปก (APEC) และอาฟตา (AFTA) ที่มีเป้าหมายลดภาษีให้เป็น 0% ภายใน 2010 อย่างไรก็ตาม กรอบดังกล่าวทั้งหมดบางครั้งก็อาจจะไม่เพียงพอ หรือไม่ครอบคลุม ดังนั้น ภาครัฐจึงมีแนวคิด มีนโยบายเร่งเจรจา และจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี (Free Trade Area : FTA) กับประเทศเป้าหมายหลายประเทศ คือ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงว่า การค้าขายระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เหล่านี้ จะมีการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีระหว่างกัน หากตกลงกันแล้วเสร็จ โดยไม่จำเป็นต้องรอกรอบความร่วมมือหลักๆ ข้างต้น

 

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้หากมองกันโดยทั่วไป ก็น่าจะคิดได้ว่าเป็นผลดีสำหรับการค้าขายของไทยกับ 4 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ แต่อย่างไรก็ตาม นั่นอาจเป็นมุมมองในภาครัฐ แต่ในส่วนของเอกชนยังไม่ข้อมูลในเรื่องนี้มากนัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มธุรกิจที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่แม้ว่าจะไม่ได้คัดค้านเสียทีเดียว แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐมีความ "ระมัดระวัง" ในการตกลงกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมาตรการรัฐมาโดยตลอดในหลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า เนื่องจากเห็นว่าหากเปิดแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีทั้งได้และเสีย จะต้องพิจารณาในรายละเอียดอย่างระมัดระวัง

 

กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนซึ่งนำโดย นายยงเกียรติ กิตะพาณิชย์ ผู้บริหารกลุ่มสมบูรณ์ กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของไทย ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และนายชวลิต จริยวัฒน์สกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่าปัจจุบันไทยถือว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีความสำคัญ เป็นฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ชั้นนำหลายๆ ค่าย และมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่แข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนไทยจำเป็นต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการส่งออกชิ้นส่วนทดแทน (REM) ไปต่างประเทศบ้างก็ตาม แต่นโยบายเปิดการค้าเสรี กับ 4 ประเทศของรัฐบาล หากไม่มีมาตรการใดๆ รองรับ เห็นว่า จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

กล่าวคือ หากไทยต้องแข่งขันกับจีน และอินเดีย ไทยจะมีความได้เปรียบในเรื่องเทคโนโลยี คุณภาพสินค้า แต่สิ่งที่จะเสียเปรียบ ก็คือ ต้นทุนการผลิต เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีค่าแรงที่ต่ำกว่า จำนวนการผลิตมากกว่า และถ้ามองที่ตลาดทดแทน ซึ่งอาจจะไม่มีการตรวจสอบถึงคุณภาพสินค้าเทียบเท่าชิ้นส่วนที่ป้อนเข้าโรงงานผลิตแล้ว ไทยยังไม่พร้อมที่จะไปแข่งขันกับอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีแหล่งวัตถุดิบ มีความสามารถในการผลิตเครื่องจักร สามารถผลิตคิดค้นวิจัยเทคโนโลยีได้เอง และการมีค่าแรงต่ำ จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตของอินเดียในอุตสาหกรรมนี้ต่ำกว่าไทยมาก และมีโอกาสสูงที่อินเดียจะเข้ามาตีตลาดไทย เช่นเดียวกับที่ได้เกิดขึ้นในตลาดทดแทนของสหรัฐอเมริกาที่ชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนและอินเดียได้ครองตลาดไปแล้ว ส่วนการเปิดเสรีกับ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ก็ไม่แน่ว่าจะมีปัญหาเช่นกัน เพราะแม้สินค้าไทยจะได้เปรียบด้านราคา แต่เทคโนโลยี รูปแบบการออกแบบ ยังสู้ไม่ได้ก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรอีกเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นข้อสรุปทั้งหมด เนื่องจากหลายๆ เรื่องเป็นการตั้งสมมติฐาน และความน่าจะเป็นเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยอยู่ในสถานะเพียงแค่รู้เราไม่รู้เขา เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านการค้าของประเทศคู่ค้าเหล่านี้เพียงพอ ซึ่งตลอดเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา ชิ้นส่วนไทยพยายามขอร้องให้ภาครัฐดำเนินการด้านการสนับสนุนข้อมูลของประเทศเป้าหมาย และประเทศคู่แข่งเพื่อนำมาใช้ในการปรับตัว การเตรียมพร้อม และการวางแผนงาน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีพอ รวมทั้งปัญหาอีกสิ่งหนึ่ง ก็คือ การขอคำยืนยันจากรัฐ ว่าเมื่อเปิดเสรีแล้ว ไทยจะไม่ประสบปัญหาการกีดกันทางการตลาดที่ไม่ใช่วิธีการทางภาษี เช่น การกำหนดมาตรฐาน CCC Mark ของจีน ซึ่งเทียบเท่ากับมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า แนวโน้มปัญหาจะเกิดขึ้น เมื่อแต่ละประเทศพยายามหาทางปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเอง

 

นักธุรกิจไทยหลายๆ คนมองว่า ในส่วนของไทยเองกลับไม่มีแนวทางที่จะปกป้อง หากแต่ต้องการที่จะเดินหน้าเปิดเสรี เข้าสู่สมรภูมิรบ โดยไม่รู้ว่ากำลังพลของตนมีกำลังมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าแนวคิดเชิงรุก จะกลายเป็นการชักศึกเข้าบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายถึงหากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ ทั้งด้านข้อมูล และมาตรการป้องกันการกีดกันทางอ้อมของมหามิตร

 

จับตาความคืบหน้าเอฟทีเอ

- เขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย เริ่มขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนอินเดีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยคณะทำงานของทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจากันมาแล้ว 2 ครั้ง และการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2546 ในประเทศไทยซึ่งจะเป็นการพิจารณารายการสินค้าที่จะเร่งลดภาษี (Early Harvest) ที่คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการเสนอไปแล้ว และมีกำหนดที่จะจัดทำร่างกรอบความตกลงให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้ สมาคมชิ้นส่วนคาดว่า อินเดียจะสร้างผลกระทบต่อตลาดอาร์อีเอ็ม ของไทยอย่างมาก

- เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ในเดือนพฤษภาคม 2545 นายกรัฐมนตรีไทยและออสเตรเลีย ได้ประกาศให้เริ่มมีการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ระหว่างประเทศทั้งสอง (CER-FTA Thai-Australia) คณะทำงานได้มีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง และการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2546 ที่ซิดนีย์ จะมีการพิจารณารายการสินค้าที่จะลดภาษีซึ่งกันและกัน การเจรจาได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ทางคณะทำงานมีกำหนดให้การเจรจาเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2547 และมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2548 ออสเตรเลียมีวัตถุดิบอะลูมิเนียมค่อนข้างมาก ผลกระทบต่อชิ้นส่วนในบางกลุ่ม เช่นหม้อน้ำ ออสเตรเลียไม่มีข้อจำกัดด้านต้นทุนการขนส่งเนื่องจากผลิตสินค้าไฮเทค ด้วยวัตถุดิบต้นทุนต่ำสามารถส่งลงทุน ด้านขนส่ง ทางเครื่องบินได้

- เขตการค้าเสรีไทย-จีน เป็นผลมาจากการประชุมที่โป๋วอ่าวในจีน โดยการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีจะเริ่มจากสาขาที่มีความพร้อมก่อน และการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-จีนนี้ จะเนินนานควบคู่กันไปกับการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งจะต้องมีการเจรจาให้สอดคล้องกัน ขณะนี้คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายกำลังจัดทำรายการสินค้าที่จะเร่งลดภาษี และคาดว่า จะสามารถเริ่มเปิดเสรีได้ภายใน 2 ปี และจะทำให้สินค้าคุณภาพ และ ราคาต่ำจะเข้ามาตีตลาดไทย

- เขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น เป็นผลมาจากการหารือระหว่างผู้นำไทย และญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมที่โป๋วอ่าวเมื่อปีที่แล้ว ทางคณะทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมประชุมหารือกันมาแล้ว 4 ครั้ง และระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2546 นายกรัฐมนตรีไทยจะเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่าง ประเทศทั้ง 2 อย่างเป็นทางการ และจะนำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สามารถตกลงกับประเทศไทยได้เข้าไปหารือ เพื่อใช้เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียนและญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคมปีนี้ ญี่ปุ่นภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ การเปิดเอฟทีเออาจจะเข้าลักษณะการเปิดขาเดียว ส่งผลกระทบต่อ การย้ายฐานการผลิต

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.