FTA ไทย-สหรัฐ ขุมทรัพย์แห่งทรัพย์สินทางปัญญา

หวั่นกระทบอุตสาหกรรมทั้งระบบ

สุจิตร ลีสงวนสุข

 

ผู้ประกอบการหวั่น ไทยเสียประโยชน์มากกว่าได้ โดยเฉพาะเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา จากการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐ ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement -FTA) ซึ่งจะเริ่มขึ้นที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกาเดือนมิถุนายนนี้

 

นับจากวันที่ผู้นำด้านเศรษฐกิจเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค โบกมืออำลาให้กันเมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยก็ได้เดินเครื่องทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบวิภาคีกับหลายประเทศคู่ค้า อาทิ จีน บาห์เรน อินเดีย เปรู ขณะที่ข้อตกลงการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับคู่ค้าอย่างนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเปรู กำลังคืบหน้าอย่างเข้มข้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการถึงผลกระทบบางอย่างที่เริ่มส่อเค้าให้เห็นว่าไทยเสียเปรียบทางการค้าหลายด้านที่เริ่มปูดออกมา อย่างเช่น สินค้าเกษตรของจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยราวกับน้ำบ่าหน้าฝน จนทำให้เริ่มมีเสียงบ่นอึ่งมี่ถึงการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่ปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศนี้มีสูงถึง 8.4 ล้านบาท มีสัดส่วนเท่ากับ 1 ใน 7 ของการค้าทั้งหมดที่ไทยมีกับทั่วโลกจำนวน 6.23 ล้านล้านบาท ในการเจรจาการค้าที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ คาดกันว่า สหรัฐจะนำข้อตกลงเอฟทีเอที่ทำกับสิงคโปร์มาเป็นแม่แบบเจรจากับไทย โดยสาระสำคัญที่สหรัฐต้องการได้จากไทย คือ ทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ฝ่ายไทยต้องการให้สหรัฐเปิดตลาดสินค้าภาคเกษตรกว้างขึ้น

 

นักวิชาการระบุกระทบซอฟต์แวร์

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่สหรัฐต้องการจากไทยคือการวางเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพราะงานลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา สร้างรายได้ให้กับสหรัฐมหาศาล มีความเป็นไปได้มากว่า ในการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอนี้ เจ้าหน้าที่การค้าของสหรัฐต้องการให้ไทยแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ให้เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น คู่กรณีจะไม่สามารถเจรจาตกลงยอมความกันเองได้ และจะต้องดำเนินคดีผ่านทางศาลเท่านั้น โดยทั่วไปแล้ว หลายครั้งที่เกิดขึ้นการจับกุมละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น ฝ่ายผู้เสียหายหรือเจ้าของลิขสิทธิ์จะเจรจาเพื่อให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จ่ายค่าซอฟต์แวร์เพื่อยอมความ ซึ่งข้อดีคือช่วยลดคดีที่จะส่งขึ้นศาล ซึ่งทำให้คู่กรณีไม่ต้องต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนี้ สหรัฐยังเรียกร้องให้ขยายอายุการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ออกไปเป็น 70 ปีจากเดิม 50 ปีหลังจากเจ้าของงานเสียชีวิตลง ทั้งขยายการคุ้มครองสิทธิการเช่า (Rental Rights) สำหรับงานทุกประเภท ซึ่งจะส่งผลกระทบกับธุรกิจร้านเช่าวิดีโอ/วีซีดี/ดีวีดีของไทย

 

ข้อกำหนดเอฟทีเอ ยังระบุถึงการทำซ้ำชั่วคราวงานลิขสิทธิ์ด้านคอมพิวเตอร์ เช่น การพักข้อมูลในหน่วยความจำแรม (แรม แคชชิ่ง) และการคัดลอกข้อมูลเรียลไทม์ (มิเรอร์ริ่ง) จะไม่สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น เวบไซต์ที่รวมลิงค์จากหลาย ๆ เวบไซต์ แล้วนำข้อมูลมาเก็บไว้ที่เครื่องแม่ข่ายของตนบางส่วน (แคชชิ่ง) เพื่อจะเรียกข้อมูลได้เร็วขึ้น และเป็นการกระทำเชิงพาณิชย์ จะถือว่าเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าว ยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (รีเวิร์ส เอ็นจิเนียริ่ง) ของซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเป็นการละเมิดสิทธิเช่นกัน เพราะการสร้างงานดังกล่าว ต้องเรียกดูซอร์สโค้ดของโปรแกรมที่มีอยู่ และเก็บข้อมูลไว้ชั่วคราวในเครื่องของตน เพื่อเรียนรู้หาข้อบกพร่องโปรแกรมและโครงสร้างของซอร์สโค้ด เพื่อนำไปพัฒนาเป็นโปรแกรมใหม่ขึ้น

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในระบบกฎหมายของสหรัฐ (โมเดล ลอว์) นั้นการทำวิศวกรรมย้อนกลับ ศาลไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนของไทยที่มีระบบกฎหมายที่ยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลัก (ซิวิล ลอว์) จะเน้นการตีความตามข้อกฎหมาย ซึ่งหากไทยเรายึดตามเอฟทีเอสหรัฐ กรณีนี้อาจจะสร้างข้อจำกัดให้ตนเอง ไทยมีบริบทที่แตกต่างจากสิงคโปร์มาก หากจะนำเอฟทีเอที่ทำกับสิงคโปร์มาใช้กับไทยจะไม่เหมาะสม เพราะไทยมีฐานเป็นเกษตรกรรม และการใช้เทคโนโลยีก็เป็นแบบต่อยอดพัฒนา การยอมรับเงื่อนไขเอฟทีเอสหรัฐจะปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อนำมาพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เองได้ นายไพบูลย์ กล่าว

 

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวต่อว่า ในข้อตกลงเอฟทีเอยังห้ามนำเข้าและมีไว้จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และการบริหารสิทธิในสื่อเทคโนโลยี รวมถึงการห้ามนำเข้าอุปกรณ์ที่จะอาจนำมาสู่การถอดรหัสสัญญาณดาวเทียม ดังนั้น เราต้องศึกษาให้ดีว่า อุปกรณ์และชิ้นส่วนใด ๆ ที่ห้ามนำเข้านั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้หรือไม่ เพราะการกระทำละเมิดใดๆ อยู่ที่บุคคลที่ใช้ ไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์ เช่น เครื่องเขียนซีดี (CD WRITER) สามารถจัดเก็บข้อมูลลงในซีดีได้ หรืออาจเป็นอุปกรณ์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกันหากใช้การคัดลอกงานลิขสิทธิ์ต้นฉบับ

 

หวั่นมาตรการกีดกันอื่น

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐ จำเป็นต้องพิจารณาว่า หากยอมตามเงื่อนไขของสหรัฐเพื่อเปิดตลาดเกษตรและอุตสาหกรรมให้ไทยเพิ่มขึ้นนั้น เราจะได้รับผลตามที่คาดหวังหรือไม่

เพราะแม้จะไม่มีมาตรการภาษี แต่สหรัฐก็สามารถใช้มาตรการอื่นกีดกันทางการค้าได้ (Non-tariff barrier) เช่น กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด (Anti -Dumping) ดังนั้นควรศึกษาบทเรียนการเปิดเสรีทวิภาคีที่ผ่านมาของไทยว่า เราได้รับประโยชน์แท้จริงคุ้มค่าพอกับสิ่งที่ต้องเสียไปหรือไม่ โดยเฉพาะสิ่งที่ไทยจะยอมแลกในเอฟทีเอสหรัฐ กำลังจะลิดรอนสิทธิ์ที่ประเทศกำลังพัฒนาพึงจะได้รับในเวทีการเจรจาระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่

 

นอกจากนั้น ในข้อตกลงเอฟทีเอ สหรัฐอาจเรียกร้องห้ามนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เครื่องผ่า หรือถอดรหัสป้องกันลิขสิทธิ์ได้ (Right Of Import Technology) ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาว่ากระทบธุรกิจใดหรือไม่ อย่างไร  ทั้งนี้ไทยเองก็จะออกพ...ควบคุมการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบอยู่แล้ว และการออกกฎหมายหรือแก้ไขข้อกฎหมายใดๆ รัฐต้องระลึกด้วยว่าจะไม่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปเพราะจะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ อีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายที่ให้คดีลิขสิทธิ์เป็นคดีอาญาอันยอมความไม่ได้นั้นเกินมาตรฐาน ข้อตกลงการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPS) ที่กำหนดให้การละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นคดีอาญา มี 2 กรณี คือ การทำละเมิดจำนวนมากโดยเจตนา และการปลอมเครื่องหมายการค้า

 

แนะถกทุกฝ่ายกันความเสียหาย

นายภัทรวัตร นครานุรักษ์ ทนายความ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด กล่าวว่า การรับข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐ โดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญา แม้จะเป็นการเจรจาแบบทวิภาคีที่เราให้สิทธิกับประเทศเจรจา แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ซึ่งมีหลักปฏิบัติเรื่อง ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง (Most Favor Nation :MFN) ดังนั้น หากเราให้สิทธิพิเศษกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ต้องให้สิทธิพิเศษกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน

อีกทั้ง ข้อตกลงบางประการจะทำให้เราต้องมาแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับอื่นที่มี และในบางกรณีเป็นเรื่องสิทธิของเอกชน ซึ่งรัฐไม่มีเอกสิทธิ์บังคับเอกชนไทยให้ทำตามข้อตกลง แต่หากเอกชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุประเทศคู่สัญญาก็จะถือว่าเราไม่ทำตามข้อตกลงเอฟทีเอ

 

นายภัทรวัตร อธิบายเพิ่มเติมว่า การแก้ไขกฎหมายอาจเริ่มจาก พ...เครื่องหมายการค้า 2534 มาตรา 4 ส่วนของนิยาม เครื่องหมายการค้าที่นอกจากจะครอบคลุมรูปร่างรูปทรงของวัตถุแล้ว จะต้องรวมถึง กลิ่น และ เสียง ด้วย เช่น กลิ่นน้ำหอมยี่ห้อดังต่างๆ, และเสียงสิงโตคำรามสัญลักษณ์ของบริษัทผู้เป็นยักษ์ฮอลลีวู้ดเอ็มจีเอ็ม หรือเสียงของมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ เดวิดสัน  ทั้งนี้ไทยเองมีผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีการผลิตน้ำหอมที่มีกลิ่นเหมือนน้ำหอมต่างประเทศ ก็จะถือว่าละเมิดเครื่องหมายการค้าได้  อีกทั้งกลไกการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น หรือเสียง นายทะเบียนของรัฐ จะสามารถแยกกลิ่นและเสียงของเจ้าของสิทธิกับผู้ละเมิดได้หรือไม่ หรือกรณีเรื่องของชื่อโดเมน (โดเมนเนม) ที่ข้อตกลงให้ใช้กลไกระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Uniform Dispute Resolution Procedure : UDRP) หรือยูดีอาร์พี ของไอแคน ซึ่งปัจจุบันการให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมนในประเทศ .co.th เป็นสิทธิของบริษัททีเอช นิค จำกัด หากบริษัทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าผิดข้อตกลงด้วยหรือไม่

 

ชี้สิทธิบัตรยาโอกาสเสียเปรียบสูง

นายภัทรวัตร กล่าวต่อว่า ประเด็นด้านสิทธิบัตร ในข้อตกลงเอฟทีเอ ข้อ 16.7 ที่ให้รัฐขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรมากกว่า 20 ปี โดยชดเชยเวลาที่รัฐใช้เกินความเหมาะสมในกระบวนการตรวจสอบการอนุมัติสิทธิบัตร เช่น กรณีรัฐไทยใช้เวลาตรวจสอบการให้สิทธิบัตรกว่า 5 ปี อาจจะต้องให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรดังกล่าวออกไปอีกเป็น 25 ปี ซึ่งสหรัฐต้องการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น และกดดันให้รัฐไทยใช้เวลาตรวจสอบสิทธิบัตรเร็วขึ้นด้วย ในทางปฏิบัตินั้น ไทยต้องใช้เวลาอนุมัติสิทธิบัตรเฉลี่ย 5 ปี และความพร้อมของการตรวจสอบว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ และไม่เคยจดทะเบียนสิทธิบัตรมาก่อนนั้น เจ้าหน้าที่ไทยมีความพร้อมจำกัด ทำให้ต้องใช้เวลา ในขณะที่ในสหรัฐมีสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (USPTO) มีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้ 7,000-8,000 คน

 

นอกจากนั้น ยังระบุให้ประเทศคู่สัญญาต้องระมัดระวังไม่ให้มีการนำเข้า หรือการจัดซื้อของที่ถูกต้องตามสิทธิบัตรจากประเทศอื่น แต่มิได้รับสิทธิให้ทำตลาดในประเทศนั้น โดยถือเป็นการละเมิดสัญญาของผู้ทรงสิทธิกับผู้ขออนุญาตใช้สิทธิ พูดง่าย ๆ คือ หากบริษัทผู้นำเข้ายามาจำหน่ายในไทย แม้จะซื้อยาที่ถูกต้องตามสิทธิบัตร แต่จำหน่ายในประเทศอื่น เข้ามาขายในไทยไม่ได้ จะต้องซื้อยาจากผู้ที่ได้รับสิทธิจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น

ในข้อเท็จจริง หากยาตัวเดียวกันที่ถูกต้องตามสิทธบัตรจำหน่ายในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน บริษัทผู้ซื้อน่าจะมีสิทธินำเข้ายาในแหล่งที่จัดหาได้ต่ำกว่าได้ เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศเอง เพราะการห้ามนำเข้าสินค้าจากบริษัทที่ไม่ได้รับสิทธิจำหน่ายในไทยเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตัวแทนนำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้จำหน่ายในประเทศนั่นเอง อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งประเด็นด้านสิทธิบัตร ซึ่งข้อตกลงยังระบุไม่อนุญาตให้ผู้อื่นขอขึ้นทะเบียนยา ก่อนสิทธิบัตรจะหมดอายุลง ทั้งที่ในมาตรา 36 ของพ...สิทธบัตร 2522 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของไทยเองมีข้อยกเว้นให้มีการขอขึ้นทะเบียนยา โดยผู้ขอมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าซึ่งผลิตภัณฑ์ยาตามสิทธิบัตร หลังจากสิทธิบัตรดังกล่าวหมดอายุลง

 

การไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาก่อนที่อายุสิทธิบัตรจะหมดอายุลง ทำให้ผู้ขอเสียเวลาและโอกาสที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจออกไป เท่ากับขยายอายุสิทธิบัตรทางอ้อม ตัวอย่าง เช่น หากมีผู้คิดค้นยารักษาโรคมะเร็ง หรือโรคเอดส์ได้ โดยใช้ตัวยาเดียวกับยาที่มีสิทธิบัตร จะไม่สามารถไปขออนุญาตขึ้นทะเบียนยาให้สำนักงานอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบก่อนได้ ต้องให้สิทธิบัตรหมดอายุก่อน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบขึ้นทะเบียนยาใช้เวลานานพอสมควร แต่หากใช้ข้อยกเว้นมาตรา 36 ใน พ...สิทธิบัตร ผู้ขอขึ้นทะเบียนยาก่อนในระหว่างอายุสิทธิบัตรยังไม่หมด แต่เมื่อหมดอายุสิทธิบัตรสิ้นสุด ผู้ขอจะมีสินค้าพร้อมจำหน่ายเข้าสู่ตลาดได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลารอให้อายุสิ้นสุด นอกจากนั้น มาตรา 16.9 การบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่ระบุให้เจ้าของสิทธิสามารถเลือกที่จะให้จำเลยชดใช้ความเสียหายจากการละเมิดตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหรือค่าเสียหายที่บวกกำไรที่คนทำละเมิดจะได้รับ  ในข้อนี้กระทบกับแนวคิดของศาลไทยที่ปัจจุบันตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เท่ากับเปลี่ยนแนวคิดของศาลไทย นายภัทรวัตร กล่าว

 

นายภัทรวัตร กล่าวด้วยว่า ในข้อตกลงเอฟทีเอจะมิให้นำสินค้าที่ละเมิดออกจากจุดนำเข้า-ส่งออก กระนั้นในระเบียบของกรมศุลกากรเองสินค้าบางอย่าง เช่น ข้าวที่ปลอมเครื่องหมายการค้าและส่งออกไปขายต่างประเทศ ถ้าจับของกลางได้จะเก็บข้าวละเมิดไว้ในโกดัง เพื่อรออัยการส่งสำนวนฟ้องศาล และในระหว่างรอการพิจารณา กรมจะสามารถนำข้าวออกขายทอดตลาดและเก็บถุงที่แสดงว่าทำละเมิดเครื่องหมายการค้าไว้เป็นหลักฐานแทนได้ ระเบียบของกรมดังกล่าวมีไว้เพื่อรองรับของกลางบางอย่างที่ไม่สามารถเก็บไว้นานได้นั่นเอง

 

จำกัดความรับผิดไอเอสพียังคลุมเครือ

นักกฎหมาย จากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายสากล กล่าวต่อว่า ในข้อตกลงเอฟทีเอมีส่วนที่ระบุถึงการจำกัดความรับผิดของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) กรณีละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต ว่ากรณีเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ได้เจตนาก็ไม่ต้องรับผิด แต่สำหรับกฎหมายลิขสิทธิไทยไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดของไอเอสพี ฉะนั้นหากไม่มีบทลงโทษหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะไม่สามารถจำกัดความรับผิดได้ ทางออกที่ดีที่สุดขณะนี้จำเป็นต้องให้ผู้เกี่ยวข้องในทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเข้าร่วมหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการลงนามในข้อตกลง นายภัทรวัตร กล่าว

 

ด้านนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชื่อไทยดอทคอม จำกัด กล่าวว่า หากไทยยอมรับเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงของเอฟทีเอสิงคโปร์-สหรัฐ มาตรา 16.3 ข้อ 1 [หรือ 13.1] จะทําให้ตกอยู่ใต้อาณัติของบรรษัทเอกชนอินเทอร์เน็ตเพื่อการกําหนดชื่อและเลขหมาย หรือไอแคน (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers :ICANN) ในการพิจารณาตัดสินเรื่องใดๆ อันเกี่ยวกับรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา และระบบชื่อโดเมนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนให้ใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทชื่อโดเมนและเครื่องหมายการค้า ที่ถูกกําหนดโดยไอแคน และโดยอนุญาโตตุลาการที่ไอแคนให้การรับรองเท่านั้น

ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีเสรีภาพในการนําข้อพิพาทยื่นต่อหน่วยงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภายในประเทศได้ เช่น สํานักอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น "ที่ผ่านมาไอแคน ซึ่งเป็นบรรษัทเอกชนที่ได้รับอํานาจจากรัฐบาลสหรัฐ ให้ดูแลบริหารเฉพาะระบบโดเมนในสกุลระดับทั่วไป (generic Top Level Domain Name - gTLD) ที่ลงท้ายด้วย .com .net และ .org พยายามที่จะขยายอํานาจดูแลบริหารระบบโดเมนในประเทศต่างๆ โดยการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Government Advisory Committee) และให้รัฐบาลในแต่ละประเทศส่งตัวแทนเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อสร้างความชอบธรรม และการยอมรับจากนานาประเทศ" นายพิพัฒน์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังพยายามแก้ไขข้อบังคับเพื่อจัดตั้งองค์การสนับสนุนชื่อรหัสประเทศ (country code Names Supporting Organization - ccNSO) ให้มีผลทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการแทรกแซงการดูแลบริหารระบบโดเมนระดับประเทศ (ccTLD) ของประเทศต่างๆ ด้วย กระนั้นปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ccNSO เพียง 38 ประเทศ จากประเทศที่มีผู้จัดการระบบโดเมนระดับประเทศอยู่ทั้งสิ้น 253 ประเทศ หรือคิดเป็น 15% ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับการดูแลบริหารระบบโดเมนในประเทศต่างๆ โดยผ่านกลไกดังกล่าว โดยเฉพาะในแถบยุโรป ทั้ง อังกฤษ และเยอรมนี ที่มีฐานข้อมูลจํานวนชื่อโดเมนระดับประเทศมากที่สุดในอินเทอร์เน็ต อีกทั้งนโยบายระงับข้อพิพาทชื่อโดเมนยูดีอาร์พี ( Uniform Dispute Resolution Procedure) ซึ่งไอแคน กําหนดขึ้นนั้น ที่ผ่านมามีความบกพร่องอยู่หลายประการ และได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง กระทั่งทําให้ยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

ดังนั้นไทยไม่ควรจะรับข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชื่อโดเมนในอินเทอร์เน็ต แต่ควรจะจัดสร้างระบบการอํานวยการ การบริหารจัดการและระเบียบวิธีปฏิบัติของระบบโดเมนระดับประเทศขึ้นเองภายในประเทศ โดยการพิจารณาตัดสินข้อพิพาทหรือปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐทรัพย์สินทางปัญญา และระบบชื่อโดเมนของประเทศ จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งต้องศึกษาจากประเทศที่มีการดําเนินการในลักษณะเดียวกัน การไม่รับข้อตกลงส่วนที่เกี่ยวข้องกับชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ต ไม่ได้แสดงถึงเจตนาที่จะไม่แก้ปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้าในอินเทอร์เน็ต แต่ไทยต้องมีทางเลือกในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อดําเนินการระงับข้อพิพาทเรื่องชื่อโดเมนอย่างอิสระ และอยู่ภายใต้กฎหมายไทย นายพิพัฒน์ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.