FTA โอกาสหรือความเสี่ยง วันนี้ในประเทศยังทะเลาะกันอยู่ จะเอาอะไรไปสู้ต่างชาติ

รายงานพิเศษ

หนังสือพิมพ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ร่วมกับนิด้าจัดสัมมนา "วิสัยทัศน์ประเทศไทยในโลกการค้า-การลงทุนยุคใหม่" เกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะในภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรมการผลิตที่ได้มีข้อตกลงกับบางประเทศเท่านั้น เพราะในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและซอฟต์แวร์ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องมีการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีเช่นกัน โดยเฉพาะกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้มี นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โทเทิ่ล แอ็ค เซ็ส คอม มูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มาเป็นผู้สะท้อนมุมมองในด้านของผู้ให้บริการโทรคมนาคม และ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์ แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ในมุมมองของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

โดยนายวิชัยได้แสดงความคิดเห็นว่าอุตสาห กรรมโทรคมนาคมต้องแยกระหว่างส่วนของผู้ให้บริการและผู้ผลิตอุปกรณ์ ซึ่งก็จะขอพูดเฉพาะในส่วนของผู้ให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนที่เกี่ยว ข้องในการใช้บริการทั้งสิ้นประมาณ 25 ล้านคน หรือประมาณ 35-36% ของจำนวนประชากร และยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นทุกปี นอกจากการเติบโตในแง่ของจำนวนผู้ใช้บริการ ในแง่ของรายได้ต่อหัวก็ยังมีโอกาสเช่นกัน ซึ่งเมื่อเปิดเสรีย่อมมีผู้สนใจเข้ามาแน่นอน "ตลาดฟาสต์ฟู้ดปีหนึ่งมูลค่าไม่ถึงแสนล้านบาท แมคโดนัลด์ยังเข้ามาเลย แล้วทำไมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ทำไม เอทีแอนด์ทีจะมาไม่ได้" อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่มีมูลค่าปีละกว่าแสนล้านบาท แต่ยังมีความตื่นตัวเรื่องเอฟทีเอน้อยมาก ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะมีการตื่นตัวและพัฒนาการเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ข้อตกลงเอฟ ทีเอ ปัญหาของอุตฯโทรคมนาคมไทยคือ ยังไม่มีกฎกติกาชัดเจน ผู้ประกอบการในประเทศยังไม่ได้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ไม่มีความพร้อม ถ้าเปิดเสรีให้ตลาดประเทศเข้าได้ก็คงต้องมีการล้มตายจากการถูกกลืนชาติ

นายวิชัยกล่าวว่า ตลาดโทรคมนาคมไทยมีการเติบโตก็จริง แต่ยังขาดความเข้าใจถึงผลกระทบที่แท้จริงจากกรอบกติกาใหม่ และหน่วยงานกำกับดูแลใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการจะเตรียมตัวเพื่อแข่งขันกับโลกเสรีได้อย่างไร ผู้ที่ต้องทำหน้าที่เจรจาก็ยังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีข้อมูล ตอนนี้มีเพียง ทศทฯ, กสทฯ และแทคที่เข้าไปให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นกับสภาหอการค้าไทยในเรื่องเอฟทีเอ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีผู้ให้บริการเป็น 100 บริษัทที่ร่วมเป็นสมาชิกการสนับสนุนข้อมูลและกำหนดกรอบการเจรจา แต่เอกชนไทยเป็นแค่ผู้ให้ข้อมูลแสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการเขียนกรอบหรือข้อกำหนดต่างๆ

ปัจจุบันกฎหมายไทยจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ประกอบการต่างประเทศไม่ให้เกิน 49% เพราะต้องการให้คนไทยเป็นเจ้าของบริการ แต่กฎหมายสหรัฐอเมริกาไม่จำกัดการถือหุ้นของต่างชาติ ซึ่งการเรียกร้องของคู่เจรจาอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยจะมีจุดยืนอย่างไร เพราะถ้ามีข้อตกลงเรื่องเอฟทีเอกับสหรัฐ ก็เท่ากับว่าเราจะต้องเปิดให้เขาเข้ามาถือครองธุรกิจได้ 100% เพราะข้อตกลงระหว่างประเทศย่อมใหญ่กว่ากฎหมายในประเทศ "ถ้าบริษัทเอกชนไทยไม่เตรียมตัวกับเรื่องนี้ จะกลายเป็นว่าวันหนึ่งเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ขณะที่เรายังไม่พร้อมที่จะอยู่ในเวทีนี้ เพราะอุตฯโทรคมนาคมไทยยังไม่มีกติกาที่ชัดเจน และไม่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมการเงิน"

นายวิชัยกล่าวว่า วันนี้อุตฯโทรคมนาคมยัง เปราะบางในแง่โครงสร้างธุรกิจ เปราะบางในแง่ที่เป็นธุรกิจสาธารณูปโภคที่เป็นสัญญาร่วมการงานกับรัฐ โดยที่เป็นเพียงผู้รับอนุญาตหรือเป็นผู้รับจ้างเท่านั้น ในขณะที่ผู้มาใหม่จะได้รับสิทธิ์แบบ full license เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มที่ ทำให้มีต้นทุนการทำธุรกิจต่ำกว่ารายเก่า และผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ามาก็จะใช้วิธีการซื้อส่วนแบ่งตลาด ซื้อใจลูกค้าด้วยราคา ซึ่งก็จะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศอ่อนแอลงไปอีก "ยกเว้นว่าจะให้เวลาฟื้นฟูอุตฯโทรคมนาคมให้เข้มแข็งก่อน เพราะอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ยังมีเวลาในการฟื้นฟูให้เข้มแข็ง โทรคมนาคมก็ต้องการเวลาเช่นกัน เพราะตอนนี้อุตฯโทรคมนาคมในประเทศยังทะเลาะ ยังวุ่นวายกันอยู่เลย จะเอาอะไรไปสู้กับต่างประเทศได้ อย่างน้อยก็น่าจะขอเวลาสัก 2 ปีในการเตรียมตัวทั้งในแง่ของผู้ประกอบการในการปรับมาตรฐาน และในด้านของทีมงานที่จะไปเจรจาต่อรอง เพราะเรื่องนี้ประเทศไทยก็ไม่เคยมีประสบ การณ์"

ดังนั้น ถ้ามีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับต่างชาติในเวลานี้ เชื่อว่าต่างชาติจะเข้ามามีบท บาทเหนือผู้ประกอบการในประเทศแน่นอน เพราะตอนนี้ภายในประเทศยังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของผู้กำกับดูแลและระเบียบปฏิบัติต่างๆ และไม่ใช่เฉพาะปัญหาเอฟทีเอเท่านั้น แต่ข้อตกลงการเปิดเสรีในปี 2006 กับ WTO ก็เช่นกัน ปัจจุบันปี 2004 อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยควรจะมีกฎกติกาที่ชัดเจน มาตรฐานการแข่งขันที่เท่าเทียม เพื่อเตรียมตัวกับการเปิดเสรีได้แล้ว

ขณะที่ทางด้าน ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ กล่าวถึงผลกระทบจากการเจรจาเขตการค้าเสรีในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า ผลกระทบในทางตรงนั้นคงไม่มีอะไร เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมทำข้อตกลง ITA ไปแล้วตั้งแต่ปี 2000 ทำให้ภาษีการนำเข้าซอฟต์แวร์จากทั่วโลกเป็น 0% อยู่แล้ว แต่อาจจะมีการเจรจาในแง่ของการส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมถึงการอิมพอร์ตผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ เอฟทีเอจะมีผลทางอ้อมในแง่ของการที่อุตสาหกรรมต่างๆ มีการขยายตัวและเติบโตจากข้อตกลงเอฟทีเอ ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย จากที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ดร.รอมกล่าวว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มาก ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญและส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จนทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนทรัพย์สินไม่มาก แต่เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและทำรายได้ดี ทุกประเทศที่บุคลากรมีความรู้ความสามารถก็ทำได้ รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันก็ให้ความสำคัญและมีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.