เปิดตัวกลุ่มอุตฯน้องใหม่สอท. "จัดการของเสียวัสดุเหลือใช้"

สภาอุตสาหกรรมฯรับลูกกระแสตื่นตัวปัญหาขยะพิษ ดีเดย์สถาปนากลุ่มอุตสาหกรรมน้องใหม่ ล่าสุด "กลุ่มจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้" จันทร์ 24 กุมภาพันธ์นี้ ประเดิมงานแรกอ้อนรัฐอุดหนุนโครงการนำร่องธุรกิจกำจัดขยะเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 400 ล้านบาทรับมืออียูออกระเบียบ WEEE ที่จะใช้บังคับอีก 3 ปีข้างหน้า เผยนักลงทุนเยอรมันหอบเครื่องจักรขอร่วมทุน เหลือแต่ค่าที่ดินและค่าดำเนินการเท่านั้น

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สภาอุตฯได้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ จัดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 31 ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ล่าสุด โดยจะมีพิธีสถาปนากลุ่มในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดการของเสียเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจในวิธีการจัดการของเสียให้เป็นและอย่างถูกต้องเหมาะสม

ทั้งนี้ องค์ประกอบสมาชิกกลุ่มจะมาจากธุรกิจ 4 ประเภทคือ 1)ธุรกิจผลิตเครื่องจักรสำหรับการจัดการของเสีย 2)ธุรกิจเก็บรวบรวมของเสียและคัดแยก 3)ธุรกิจนำของเสียมาใช้ประโยชน์ หรือการรีไซเคิล 4)ธุรกิจปรับคุณภาพของเสียเพื่อการกำจัด เช่น บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (เจนโก้) โดยเบื้องต้นมีผู้ประกอบการได้สมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มอุตสหกรรมจัดการของเสียฯแล้วจำนวน 30 บริษัท

"ในอดีตกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจัดการของเสียทั่วประเทศดำเนินธุรกิจแบบแบ่งต่างคนต่างทำ การดำเนินการกำจัดก็เป็นไปอย่างไม่ถูกวิธี เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือบางครั้งก็มีปัญหาเกิดความขัดแย้งทางธุรกิจบ้าง เช่น มีการตัดราคารับซื้อวัสดุของเสียที่จะนำมารีไซเคิล สภาอุตฯมั่นใจว่าเมื่อมีการตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียฯขึ้นจะทำหน้าที่ตัวกลางในการคลี่คลายปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี" นายพิชัยกล่าว

นายสมบัติ ทีฆทรัพย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้คนแรก กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพิ่มเติมถึงแนวทางดำเนินการของกลุ่มว่า ในเบื้องต้นจะเน้นสนับสนุนให้สมาชิกได้มีการดำเนินการธุรกิจอย่างถูกต้อง โดยให้ความรู้ทางด้านวิชาการและข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการของเสีย รวมถึงด้านการประสานงานกับรัฐบาล แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อกันและกัน และเนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลโดยตรงในเรื่องการจัดการของเสียของประเทศ ดังนั้นภาครัฐจึงควรสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและเชิงวิชาการด้วย

นายสมบัติกล่าวถึงแผนงานเร่งด่วนว่า จากการประเมินแนวโน้มในการใช้บังคับระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะประกาศอย่างชัดเจนในปี 2546 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริงในปี 2549 ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมตัวรองรับแนวโน้มดังกล่าว โดยกลุ่มมีนโยบายในการผลักดันให้เกิดธุรกิจการจัดการของเสียประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท

"เราทำงานกันค่อนข้างเร็ว ซึ่งความพยายามผลักดันในช่วงที่ผ่านมาปรากฏว่า ได้มีบริษัทซิลเวอร์ เกย์ เวิรลด์ไวด์ คอร์ปอเรชั่น จากประเทศเยอรมนี แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโดยนำเครื่องจักรมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาทเข้ามาติดตั้งแล้ว การลงทุนที่เหลือคือเรื่องของที่ดินและค่าดำเนินการ ซึ่งอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเพราะถือเป็นโครงการนำร่องของประเทศ"

นายสมบัติกล่าวถึงเงื่อนไขการลงทุนของบริษัทซิลเวอร์ฯด้วยว่า บริษัทซิลเวอร์ฯยื่นเงื่อนไขในลักษณะของการร่วมทุนหลังจากเปิดดำเนินการแล้ว ในปีแรกการให้บริการกำจัดของเสียยังเป็นลักษณะให้เปล่า ส่วนในปีที่ 2-3 เมื่อมีการใช้บริการมากขึ้นจึงจะเริ่มคิดค่าบริการในการกำจัดของเสีย ส่วนจะคิดราคาในอัตราเท่าใดเป็นประเด็นที่จะมีการหารือในอนาคต ขณะที่ผลพลอยได้จากเศษวัสดุมีค่าที่ได้จากการคัดแยกในกระบวนการกำจัดของเสีย อาทิ โลหะทองแดง ทองคำ ตะกั่ว หรือดีบุก เป็นต้น จะให้เป็นผลตอบแทนแก่บริษัทซิลเวอร์ฯ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.