ฟูจิตสึ ชูไทยฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้ว ป้อนตลาดโลก

เน้นสายการผลิตชัดเจน หนุนประสิทธิภาพของแผนลดต้นทุน

ฟูจิตสึ ใช้ไทยเป็นฐานเพียงแห่งเดียว ในการผลิตฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว ป้อนตลาดโลก ทั้งเผยหลังจัดสายการผลิตชัดเจนขึ้นแล้ว จะหนุนประสิทธิภาพแผนลดต้นทุน พร้อมลดพื้นที่ฐานผลิตแห่งนี้ลง โดยจะตัดขายทิ้งอาคารโรงงาน 2 หลัง จากที่มีทั้งหมด 7 หลัง

นายชุนจิ นาคามูระ ประธานกรรมการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นโยบายของบริษัทปีนี้ จะชูฐานการผลิตในไทยให้มุ่งการผลิตฮาร์ดดิกส์ขนาด 2.5 นิ้ว ที่ใช้อินเทอร์เฟซไอดีอี (IDE:Integrated Device Electronics) สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (โน้ตบุ๊ค) เป็นหลัก ขณะเดียวกัน จะยกเลิกการผลิตฮาร์ดดิกส์ 3.5 นิ้ว ไอดีอีสำหรับการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (เดสก์ท็อป) และเครื่องพิมพ์ เนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการแข่งขันราคา โดยจุดยืนของ ฟูจิตสึ จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเทคโนโลยีขนาด 2.5 นิ้ว เพียงแห่งเดียวของฟูจิตสึทั่วโลก ขณะที่ ประเทศฟิลิปปินส์ จะเน้นการผลิตฮาร์ดดิกส์ สำหรับตลาดระดับบน ขนาด 3.5 นิ้ว ด้วยอินเทอร์เฟซแบบสกัสซี่ (SCSI:Small Computer Systems Interface) ที่ใช้กับเครื่องแม่ข่าย ทั้งนี้ฐานการผลิตในฟิลิปปินส์เอง เดิมเคยผลิตฮาร์ดดิสก์ 3.5 นิ้ว ที่ใช้เครื่องตั้งโต๊ะเช่นเดียวกับไทย "การเลือกผลิตฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว เพราะยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก โดยแนวโน้มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ จะเริ่มหันมาใช้ฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดเล็กลง โดยเฉพาะเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ทั้งแบบจอแอลซีดีและพลาสมา รวมถึงเครื่องเล่นวีซีอาร์ ที่ภายใน 9 ปี จะเริ่มใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้วแทน 3.5 นิ้ว เช่นกัน" ประธาน กล่าว นอกจากนี้ ตลาดฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้ว ยังสามารถขยายไปใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้ด้วย ซึ่งการออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เน้นความสวยงาม และประหยัดพื้นที่ เช่น แอปเปิล มีซีพียูที่ขนาดเล็กลง ทำให้แคช เล็กลงตามไปด้วย ดังนั้นฮาร์ดดิกส์ที่ใช้ก็ต้องเล็กตามไปด้วย ขณะเดียวกัน เทคโนโลยี 2.5 นิ้ว ยังสามารถใช้ในเครื่องแม่ข่ายระดับล่าง (โลว์เอ็นด์ เซิร์ฟเวอร์) ได้ด้วย

ลดต้นทุนได้ 10% - 15%

ปัจจุบัน บริษัทมีอาคารรองรับการผลิตของบริษัท ใน 5 หลัง จากเดิมมี 7 หลัง ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายการลดต้นทุน โดยหลังยกเลิกการผลิตฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว จึงขายอาคารไป 1 หลัง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร และโอนถ่ายบุคลากรกว่า 1,100 คน ที่ทำงานในส่วนนี้ไปให้กับบริษัท เวสเทิร์น ดิจิทัล ที่ซื้อกิจการต่อไป ขณะที่ อาคารอีก 1 หลัง ก็ยุติการผลิตเครื่องพิมพ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังฟิลิปปินส์แล้ว และอยู่ระหว่างการประกาศขาย ส่วนที่เหลืออีก 5 หลัง ใช้สำหรับการผลิตฮาร์ดดิกส์ 2.5 นิ้ว จำนวน 3 หลัง อีก 1 หลัง สำหรับหน่วยธุรกิจการผลิตของเอฟดีเค ที่ผลิตสเต็ปเปอร์ มอเตอร์ (Stepper Motor) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และหลังสุดท้าย ใช้ผลิตระบบเครือข่ายสื่อสัญญาณ (ทรานสมิชชั่น) เพื่อป้อนในตลาดโทรคมนาคม

"นโยบายที่หยุดการผลิตบางผลิตภัณฑ์นั้น ทำให้บริษัทลดต้นทุนรวมได้กว่า 10% - 15% โดยลดต้นทุนด้านค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ มากกว่าการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เข้าสู่ภาวะที่เสถียร (สเตเบิล) แล้ว โดยมีบุคลากร 3,300 คน จากจำนวนกว่า 6,600 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา" นายนาคามูระ กล่าว ขณะที่ แนวโน้มของสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจฮาร์ดดิสก์กว่า 90% รองลงมาจากสเต็ปเปอร์ มอเตอร์ อีก 6% และคาดว่ารายได้จากทรานสมิชชั่นจะลดลงเหลือ 2% จากเดิม 4% เนื่องจากความต้องการตลาดอิ่มตัว โดยเฉพาะการลงทุนด้านข่ายสายของบริษัทสื่อสาร โดยประมาณการรายได้รวมประจำปีงบประมาณ 2544 ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะทำได้ราว 20,000 ล้านบาท จาก 40,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณก่อนหน้านี้

ลงทุนเพิ่มตามตลาด

นายชุนจิ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตฮาร์ดดิกส์ ขนาด 2.5 นิ้ว จำนวน 400,000 เครื่องต่อเดือน และมีแผนขยายเต็มประสิทธิภาพกำลังผลิตภายในปีนี้ให้ถึง 600,000 เครื่อง อย่างไรก็ตาม หากตลาดมีความต้องการสูงขึ้น บริษัทก็พร้อมลงทุนเพิ่มทันที

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.