การ์ทเนอร์เชื่อตลาดโทรคมนาคม 'เอเชีย-แปซิฟิก' ปีลิงคึกเกินคาด

ระบุอัตราการเติบโตสูงกว่าปี 2546 ราว 9%

บริษัทวิจัยชื่อดัง ยันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเอเชีย-แปซิฟิก ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี ชี้เทคโนโลยียุคหน้า อัตราการเติบโตสูงสุด เหตุตลาดเกิดใหม่ข้ามขั้น ใช้บริการความเร็วสูง พร้อมเชื่อสถิติใช้งานโทรศัพท์ทั่วภูมิภาค เพิ่มถึงระดับพันล้านเครื่อง ขณะที่ทำนาย แบรนด์จีนเตรียมแทรกตัวติดอันดับโลกปีนี้

 

สำนักข่าวดาวโจนส์ รายงานผลการวิเคราะห์ของบริษัทการ์ทเนอร์ ซึ่งระบุว่า อัตราการลงทุนในภาคธุรกิจโทรคมนาคม ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2547 จะเติบโตขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยผู้ให้บริการไร้สายต่างๆ จะเริ่มเปลี่ยนจากนโยบายประหยัดค่าใช้จ่าย มาเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโต "ในปีนี้ การลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคระบบโทรคมนาคม จะเริ่มเติบโตขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นการขยายตัวครั้งแรก นับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยคาดว่าอัตราการเติบโตจะสูงกว่าปี 2546 ราว 9% แต่ยังคงต่ำกว่าตัวเลขในยุคตลาดเฟื่องฟู เมื่อปี 2542 อยู่ราว 11%" การ์ทเนอร์ระบุ ขณะที่คาดการณ์ว่า มูลค่าการลงทุนในปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 33,800 ล้านดอลลาร์

 

โดยสีสันของตลาดโทรคมนาคมในปีนี้ จะอยู่ที่การเพิ่มงบประมาณลงทุนในเทคโนโลยียุคหน้า (Next Generation) ซึ่งเป็นการรวมบริการข้อมูล และเสียง เข้าไว้ในเครือข่ายเดียวกัน และผู้ให้บริการเครือข่าย ที่เริ่มสร้างระบบสาธารณูปโภคตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในตลาดจีนและอินเดีย ก็จะข้ามไปใช้เครือข่ายยุคหน้าเลยโดยตรง แทนที่จะเริ่มจากเครือข่ายยุคแรกๆ ก่อน "การลงทุนส่วนใหญ่ จะมุ่งไปที่การเปิดตัวบริการใหม่ๆ เช่น บริการวิดีโอ และข้อมูลความเร็วสูง แต่คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนเหล่านี้ จะยังไม่เห็นชัดเจนในปีนี้" การ์ทเนอร์สรุป

 

โทรพื้นฐาน-มือถือบูม

นอกจากนี้ การ์ทเนอร์ยังทำนายว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะมีอัตราการใช้โทรศัพท์ ทั้งในกลุ่มสายพื้นฐานและเครือข่ายไร้สาย เพิ่มขึ้นอีกราว 125 ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำสถิติการเชื่อมต่อโทรศัพท์ทั้งหมดในปีนี้ อยู่ที่ระดับ 1,100 ล้านเครื่อง อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีไร้สาย 3จี จะยังไม่แจ้งเกิดในเอเชีย-แปซิฟิก ภายในปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังไม่เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีไวด์แบนด์-ซีดีเอ็มเอ (wideband code division multiple access - W-CDMA) ที่เหนือกว่าบริการเสียงราคาถูก ในปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยแห่งนี้ ยังวิเคราะห์การเติบโตของผู้ประกอบการในทวีปเอเชีย พร้อมเผยว่า บริษัทชาวจีนอาจสามารถถีบตัวขึ้นมาติดกลุ่มผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 อันดับแรกของโลกได้ ภายในปีนี้ "ตลาดจีนที่มีขนาดมหาศาล จะช่วยผลักดันให้หนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศ สามารถติดกลุ่มผู้ผลิตมือถือที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลกได้ ในช่วงปีนี้เอง" การ์ทเนอร์กล่าวในแถลงการณ์

 

แบรนด์จีนติดอันดับโลก

นอกจากนี้ ยังคาดว่า หนึ่งในผู้ผลิตประเทศจีน จะสามารถกลับมาครองตำแหน่งแบรนด์ 10 อันดับแรกของโลกได้ เนื่องมาจากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือไปจากยอดขายในตลาดจีน ซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว โดยคาดว่าจีนจะมียอดจำหน่ายโทรศัพท์เกิน 70 ล้านเครื่อง ในปีนี้ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัทนิงโบ เบิร์ด โค. ผู้ผลิตมือถือที่ใหญ่ที่สุดของจีน, ทีซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล และนานจิง แพนด้า อิเล็กทรอนิกส์ สามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมมือถือระดับโลก ที่ครองตลาดโดยบริษัทต่างชาติอย่างโนเกียและโมโตโรล่า ได้แล้ว ปัจจุบัน ตลาดมือถือจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสัดส่วนแบรนด์มือถือของจีน วางจำหน่ายอยู่ราว 38% และการ์ทเนอร์ยังเชื่อว่า จีนอาจกลายเป็นตลาดที่มีอัตราการใช้บริการเครือข่ายบรอดแบนด์ระบบดิจิทัล ที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้ "ส่วนแบ่งตลาดนี้ อาจยังค่อนข้างต่ำอยู่ แต่ผู้ประกอบการก็กำลังนำเสนอบริการบรอดแบนด์ ที่มีราคาถูกที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการนี้กันมากขึ้น" การ์ทเนอร์ระบุ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.