เอไอเอส เล็งจับตลาดมือถือพันธุ์ผสม จีเอสเอ็ม-ซีดีเอ็มเอ

เอไอเอส รุกทดสอบเทคโนโลยีจีเอสเอ็ม วันเอ็กซ์ ที่เป็นการทำงานร่วมระหว่างซีดีเอ็มเอ และจีเอสเอ็ม มองจุดเด่น ให้บริการบนย่านความถี่เดิมได้ และรองรับความเร็ว ได้สูงถึง 100 เมกะบิต เตรียมความพร้อม เปิดตลาดเชิงพาณิชย์หลังราคาเครื่อง และเครือข่ายปรับลง

 

นายวิเชียร เมฆตระการ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิศวกรรมเครือข่าย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า บริษัทเตรียมทดสอบระบบจีเอสเอ็ม วันเอ็กซ์ เพื่อพัฒนาบริการสื่อสารข้อมูลไร้สายความเร็วสูง โดยจะเป็นการทดสอบทั้งด้านบริการทางเสียงบนเครือข่ายจีเอสเอ็ม และบริการสื่อสารข้อมูลบนเครือข่ายซีดีเอ็มเอ วันเอ็กซ์ ซึ่งมีจุดเด่นคือ ช่วยให้เทคโนโลยีจีเอสเอ็มสามารถพัฒนาเพื่อรองรับการสื่อสารในความเร็วที่สูงขึ้น บนย่านความถี่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายราย แสดงความสนใจร่วมทดสอบโครงการดังกล่าวกับเอไอเอส แต่บริษัทคงเลือกผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายเพียงรายเดียว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเจรจา "การทดสอบครั้งนี้ เป็นการเตรียมตัวสำหรับบริการไร้สายความเร็วสูง ซึ่งมองว่าน่าจะช่วยให้รองรับการรับ-ส่งข้อมูลที่ความเร็ว 100 กิโลบิตต่อวินาที เร็วกว่าบริการสื่อสารไร้สายอย่างเอดจ์ที่ให้บริการตอนนี้" นายวิเชียร กล่าว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปิดบริการเชิงพาณิชย์นั้น ต้องรอดูความพร้อมของเครือข่าย และเครื่องลูกข่ายที่จะออกสู่ตลาด โดยต้องมีราคาที่สามารถแข่งขันกับระบบเอดจ์ได้

 

ปัจจุบัน บริษัท ควอลคอมม์ ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ เป็นผู้ผลิตชิพเซ็ตที่ช่วยให้เครื่องลูกข่ายสามารถใช้บริการได้ทั้งระบบจีเอสเอ็ม และซีดีเอ็มเอ โดยอยู่ในช่วงของการทดสอบ และให้ผู้ผลิตเครื่องลูกข่ายนำชิพเซ็ตไปพัฒนา ซึ่งคาดว่าจะสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ประมาณปีหน้า  "การทดสอบครั้งนี้ เหมือนเป็นทางเลือก แต่สมมติว่าจะมีการลงทุน เรื่องต้นทุนและราคาต้องแข่งขันได้กับเทคโนโลยีอื่น รวมถึงมีอุปกรณ์ที่ใช้งานแพร่หลาย" นายวิเชียร กล่าว

 

สำหรับเทคโนโลยีของบริการลักษณะนี้ ปัจจุบัน บริษัท ไชน่า ยูนิคอม กำลังทดสอบการให้บริการในประเทศจีนแล้ว โดยให้บริการเครือข่ายจีเอสเอ็มทั่วประเทศ และมีเครือข่ายซีดีเอ็มเอในบางพื้นที่ โดยเทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยผู้ให้บริการสามารถให้บริการการสื่อสารทางเสียงบนเครือข่ายเดิม รวมถึงการที่ไม่ต้องหาย่านความถี่ใหม่ ที่อาจต้องใช้วิธีประมูล ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับบริการสื่อสารไร้สายยุคที่ 3 หรือ 3จี

 

นายวิเชียร กล่าวว่า ในส่วนของเครือข่ายเอดจ์นั้น หลังจากเริ่มเปิดให้บริการในเขตกรุงเทพฯ แล้ว ก็เตรียมขยายไปยังเมืองสำคัญในปีหน้าตามแผนที่วางไว้ เช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต, ขอนแก่น เป็นต้น โดยเอไอเอส ต้องการตอกย้ำการเป็นผู้ประกอบการรายแรก ที่ให้บริการเอดจ์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบประมาณสำหรับการลงทุนเครือข่ายในปีหน้าไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยายการลงทุนตามความต้องการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.