ผนวกเอชพี-คอมแพค งานพิสูจน์ฝีมือซีอีโอ

ทั้งนี้ ข่าวการผนวกกิจการระหว่างสองค่ายผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และคอมแพค คอมพิวเตอร์ สร้างความกังขาบางอย่างให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือของเอช-พี ที่กำลังกลายเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะที่สถานการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์ย่ำแย่ พร้อมกันนี้ การผนวกกิจการของสองยักษ์ใหญ่อาจทำให้เกิดความไขว้เขวเกี่ยวกับการบริหารจัดการ รวมถึงตัวพนักงานที่อาจถูกลอยแพโดยไม่รู้ตัวเพื่อเป็นตามแผนต้นทุน

ขณะที่ธุรกิจของพวกเขา ต้องคอยรับมือกับการแข่งขันจากคู่แข่งอย่างเดลล์, ไอบีเอ็ม และรายอื่นๆ ทำให้การตัดสินใจครั้งนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมนักที่จะหันมาเน้นการปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งก่อนหน้านี้ นักสังเกตการณ์บางรายกล่าวเตือนคอมแพค หลังเข้าซื้อกิจการของดิจิทัล อีควิปเมนท์ เมื่อ 3 ปีก่อนว่า ธุรกิจของคอมแพคจะเกิดปัญหาด้านการจัดการที่ไม่ลงตัว และต่อมาส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเวิร์คสเตชั่นที่เคยเพิ่มขึ้น ก็ปรับตัวลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ ข้อตกลงครั้งนี้ ยังมีขึ้นในขณะที่สถานการณ์ความต้องการของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ตกอยู่ในภาวะซบเซา โดยนักวิจัยตลาดคาดว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในสหรัฐ จะลดลงถึง 10% ในปีนี้ และยอดจำหน่ายทั่วโลก จะปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ยิ่งกว่านั้น การผนวกกิจการกันดังกล่าว อาจกดดันให้คอมแพคและเอชพีต้องลดอัตรากำลังคนของตัวเองลง รวมทั้งต้นทุนต่างๆ เพื่อแข่งกับการลดต้นทุนของเดลล์ ค่ายคู่แข่ง

ขณะนี้ รายได้ของคอมแพคเกือบครึ่งมาจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ส่วนของเอชพีมาจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของยอดขาย กระนั้น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็ไม่ใช่ตัวทำรายได้ให้กับทั้งสองบริษัทเสียทีเดียว เนื่องจากเมื่อไตรมาสที่ผ่านมาเอชพีขาดทุนไปกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ เป็นมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ขณะที่คอมแพคขาดทุน 155 ล้านดอลลาร์ สำหรับยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของสองบริษัททำรายได้รวมกันมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัท ยังคงต้องพึ่งพาตัวแทนจำหน่าย และร้านค้าปลีกสำหรับการทำยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของพวกเขา ซึ่งแตกต่างจากแนวทางของเดลล์ ขณะที่ผู้ซื้อระดับองค์กรและตามบ้าน ไม่มีความเคลื่อนไหวในการสั่งซื้อสินค้าใหม่ๆ มาตลอดเกือบหนึ่งปี โดยธุรกิจต่างๆ ยืดระยะเวลาการสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของพวกเขาออกไปเป็น 4 ปีแทน 3 ปีอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา มาตรการครั้งนี้ ถือเป็นความกล้าได้กล้าเสียครั้งใหญ่สำหรับคาร์ลี ฟิออรินา หัวหน้าฝ่ายบริหารของเอชพี อดีตผู้บริหารของลูเซ่น เทคโนโลยีส์ อิงค์. ที่ออกมาตั้งบริษัทของตนเองเป็นคนแรก โดยฟิออรินา พยายามทำให้ธุรกิจคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการของตัวเอง มีขอบข่ายครอบคลุมขึ้นสำหรับลูกค้าหลักในระดับองค์กร

ปัจจุบัน เอชพีกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ยอดใช้จ่ายของลูกค้ารายใหญ่ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทต้องออกมากล่าวเตือนถึงตัวเลขผลประกอบการ และเตรียมปลดพนักงาน 6,000 ตำแหน่ง เพื่อชดเชยกับยอดขายที่ลดลง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์และนักสังเกตการณ์บางราย วิตกว่า เก้าอี้ของฟิออรินาอาจสะเทือนได้ แม้คณะกรรมการบริหารของเอชพี จะยังคงให้การสนับสนุนอยู่ก็ตาม ขณะที่อีกหลายราย ให้ความเห็นว่า ฟิออรินายังมีเวลาอีกหลายปีที่จะพิสูจน์ว่ายุทธศาสตร์ของเธอในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.