ฮัทชิสันฯ เปิดตัว 3จี ในไทยไตรมาส 2 ปี 45

ใช้โครงข่ายซีดีเอ็มเอ 2000 เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเลือกโมโตโรล่า เป็นซัพพลายเออร์หลัก

ฮัทชิสันฯ ประเดิมงบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3จี) ในประเทศไทย เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนโครงข่ายซีดีเอ็มเอ 2000 ไตรมาส 2 ปีหน้า พร้อมเลือกโมโตโรล่า เป็นซัพพลายเออร์หลัก หลังเห็นประสบการณ์จากการติดตั้งให้กับเคดีดีไอในญี่ปุ่น ที่วางแผนเปิดให้บริการภายในเดือนนี้

นายชิตชัย นันทภัทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท ตะวันเทเลคอม จำกัด เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า บริษัทซึ่งได้รับสิทธิดำเนินการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบซีดีเอ็มเอ 800 ให้กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) แห่งนี้ ตั้งงบลงทุนสำหรับการเปิดให้บริการในขั้นที่ 1 (เฟส 1) ราวไตรมาส 2 ปีหน้าไว้ประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13,000 ล้านบาท) โดยเน้นลงทุนในโครงข่ายซีดีเอ็มเอ 2000 ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (3จี)

สำหรับงบดังกล่าว จะครอบคลุมการติดตั้งสถานีฐานจำนวน 700 แห่ง สำหรับให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดภาคกลางที่ได้รับอนุมัติจาก กสท., จัดตั้งเครือข่ายสำหรับสนับสนุนบริการข้อมูล (ดาต้า คอร์ เน็ทเวิร์ค) รวมถึงลงทุนด้านพัฒนาเนื้อหา (คอนเทนท์) ที่จะให้บริการในเครือข่าย โดยในส่วนของสถานีฐานที่ กสท. มีอยู่เดิมจำนวน 69 แห่ง และที่บริษัทติดตั้งเพิ่มเติมเป็น 171 แห่งนั้น ก็จะยกระดับเป็นซีดีเอ็มเอ 2000 ทั้งหมดเช่นกัน "การยกระดับโครงข่ายซีดีเอ็มเอ 800 ที่มีอยู่เดิม ไปสู่ซีดีเอ็มเอ 2000 นั้น เราไม่จำเป็นต้องรื้อโครงข่ายเดิมเพื่อลงทุนใหม่ เพราะเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอของควอลคอมม์ มีจุดเด่นเรื่อง backward competibility ซึ่งสามารถอัพเกรดได้โดยใส่แผงวงจรเพิ่มเข้าไป" นายชิตชัย กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทคัดเลือกโมโตโรล่า เป็นผู้สนับสนุนและติดตั้งอุปกรณ์ (ซัพพลายเออร์) ของโครงการในเฟส 1 แล้ว โดยเห็นความพร้อมของบุคลากร และประสบการณ์ที่มีอยู่ เนื่องจากโมโตโรล่า เตรียมเปิดให้บริการ 3จี ร่วมกับเคดีดีไอ ในประเทศญี่ปุ่น ภายในเดือนนี้ ซึ่งนับเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเทคโนโลยี ซีดีเอ็มเอ 2000 รวมถึงมีทีมงานวิศวกรดูแลเทคโนโลยีนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน โมโตโรล่า ยังมีฐานการผลิตเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับรองรับซีดีเอ็มเอ 2000 ด้วย ทำให้เกิดครบวงจร

นายชิตชัย กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับผู้พัฒนาเนื้อหา (คอนเทนท์) ที่จะเข้ามาสนับสนุนบริการเสริมในโครงข่ายด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นพันธมิตรในกลุ่มที่ฮัทชิสัน เข้าไปลงทุนไว้อยู่แล้ว ได้แก่ เลมอนออนไลน์ (www.lemononline.com) และบริการข่าวสารด้านหุ้นในชื่อ "ล็อกซนิวส์" ของบริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด "การเตรียมพร้อมนั้น ในด้านเทคนิค เราสามารถทยอยติดตั้งไปได้เรื่อยๆ แต่ในส่วนของคอนเทนท์ ที่จะมาให้บริการบนโครงข่ายนั้น ต้องดูว่าจะทำอย่างไร เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่แวพไม่เกิดในไทย ก็เนื่องมาจากผู้ให้บริการเอง ดังนั้นในส่วนของเรา จะมองถึงมัลติมีเดียที่ให้ประโยชน์กับผู้บริโภคไทยเป็นหลัก เพราะฮัทชิสัน นับว่าเป็นผู้ให้บริการ 3จี ในกลุ่มแรกของโลกอยู่แล้ว" นายชิตชัย กล่าว

ประเทศในเอเชีย เร่งปูพรม 3จี

นางสาวฌอน เอ. โคเวลล์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายโกฟเวอร์นเม้นท์ แอฟแฟร์ บริษัท ควอลคอมม์ กล่าวว่า สถานภาพของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ในเอเชีย ปัจจุบันมีประเทศญี่ปุ่น โดยมีเอ็นทีที โดโคโม เปิดให้บริการเป็นรายแรกแล้วเป็นรายแรกของโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่เคดีดีไอ ก็วางแผนเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยใช้เทคโนโลยีของซีดีเอ็มเอ 2000 ขณะที่ในประเทศจีน มีไชน่า ยูนิคอม ซึ่งตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการไว้ภายในปีนี้เช่นกัน และคาดหมายลูกค้าในสิ้นปี 2545 ไว้ถึงราว 50 ล้านคน "สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ฮัทชิสัน จากฮ่องกง วางแผนเปิดให้บริการในประเทศไทย ราวกลางปี 2545 ขณะที่เวียดนาม เตรียมเปิดประมูลหาผู้ดำเนินโครงการในต้นปี 2545" นางสาวโคเวลล์ กล่าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 ตุลาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.