ไอซีทีเอเชียตะวันออก

 

ใครที่อยู่ในแวดวงเศรษฐกิจการเมืองของภูมิภาคอาเซียน คงเข้าใจดี ถึงความเป็นไป ของสิ่งที่เรียกว่า "ความร่วมมือ" ในหมู่ประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่สิบประเทศ นับจากรุ่นแรกที่ร่วมกันก่อตั้งสมาคมประชาชาตินี้ขึ้นมา คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนดารุสซาลาม มาจนถึงรุ่นถัดมาคือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ที่มักเรียกกันติดปากว่ากลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (Cambodia/Laos/Myanmar/Vietnam) นั่นเอง ผลงานการรวมกลุ่มที่ลือเลื่องกันมานับทศวรรษ คือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งก็มีส่วนที่สำเร็จ และส่วนที่ต้องล้มลุกคลุกคลานกันไปบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีกำแพงกีดขวางการค้าที่น้อยที่สุดเท่าที่แต่ละประเทศจะยอมได้

 

แม้จะพยายามปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเองมากเกินไปในเวทีและวาระการเจรจาต่างๆ แต่ในบางครั้งอาเซียนก็ดูเหมือนว่า จะมีสมานฉันท์กันได้ในบางเรื่อง และความที่เป็นกลุ่มอาเซียนก็ทำให้มีราคาต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ ของโลกได้อย่างน่ายินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม เป็นผลประโยชน์ของแต่ละประเทศได้ด้วย ทางด้านไอซีทีตามที่ได้เคยเรียนให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบมาบ้างแล้ว อาเซียนก็มีข้อตกลง "อี-อาเซียน" ที่ผู้นำเห็นพ้องกันตั้งแต่สองสามปีที่แล้วมา และก็ได้มีกิจกรรม ที่เอาไอซีทีมาผลักดันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทางด้านนโยบายและปฏิบัติ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แนวคิดล่าสุดคือการขยายวงของความร่วมมือออกไปยังประเทศ ยักษ์ใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้านไม่ห่างไกลเกินไปนัก ยักษ์ใหญ่ที่ว่านี้ไม่ใช่ใครอื่น คือ จีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น นั่นเอง

 

ผู้นำของสามประเทศในอาเซียน (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์) พูดในงาน World Economic Forum ที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งสัญญาณค่อนข้างสอดคล้องกันในประเด็นความสำคัญของอาเซียนที่จะต้องเร่งสังฆกรรมกับกลุ่ม "บวกสาม" หรือสามยักษ์ข้างต้น ทั้งนี้คงเพราะอาเซียนเริ่มตระหนักถึง ภูมิศาสตร์การเมือง" ของโลก เมื่อศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีทีท่าว่าจะเคลื่อนย้ายจากสหรัฐอเมริกา มายุโรปและเอเชีย และเมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของเอเชียแล้ว เอเชียเคยแสดงฝีมือให้ดูในฐานะ เสือและมังกรมาหนหนึ่งแล้ว แต่พังพาบกันไปบ้างเพราะสะดุดขาหรือหางของตัวเอง แต่หากล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ก็คงจะแข็งแกร่งกันขึ้นมาได้อีก ยิ่งเมื่อจีนเข้าสู่สมรภูมิเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการผ่านองค์การการค้าโลกหรือ WTO ยิ่งเชื่อขนมกินได้ว่าภูมิภาคแห่งนี้ กำลังจะชี้นำเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ภูมิภาคดังกล่าวคือ "เอเชียตะวันออก" นั่นเอง !!!

 

ด้วยตรรกดังกล่าว อี-อาเซียน จึงเริ่มเบนเข็ม จากการพัฒนา "ภายใน" อาเซียนเอง มาสู่การ ผนวกกิจการความร่วมมือ กับสามยักษ์ใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สามยักษ์ใหญ่เมื่อรวมกับอาเซียน ก็จะกลายเป็นภูมิภาค ที่มีประชากรรวมทั้งสิ้นสองพันล้านคน ซึ่งหมายถึงแรงงานทั้ง ราคาถูกและแพง ปัญญาที่มีคุณค่าของเอเชีย และทรัพยากร อีกมหาศาล ในขณะที่จีนมีตลาดมหึมา ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีและทุน เกาหลีมีประชากร และรัฐที่มุ่งมั่นและทำจริง ในขณะที่อาเซียน พยายามปรับฐานให้ห่างกันน้อยลง

 

จากการประชุม อี-อาเซียน เมื่อเร็วๆ นี้ อาเซียนกำลังมีกิจกรรมไอซีทีกับประเทศบวกสามมากขึ้นอย่างผิดตา จีนกำลังเริ่มเข้าวงจรอาเซียน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการทำข้อตกลงไอซีทีกับอาเซียน ซึ่งจะเริ่มจากความร่วมมือ ทางด้านทรัพยากรบุคคล การค้าการลงทุนด้านไอที ตลอดจนมาตรการความร่วมมือ ในการรักษาความมั่นคงของสารสนเทศ (Information Security) ในขณะที่เกาหลีก็เปิดเกมรุกโดยประธานาธิบดีคิม แด จุง ซึ่งใจกว้างถึงขนาดให้เงินสนับสนุน อาเซียนในกิจการไอซีที เป็นเม็ดเงินหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นเวลาห้าปีนับจากนี้ไป และจะใช้เงินนี้ในการลดช่องว่างดิจิทัลของภูมิภาคนี้เป็นส่วนใหญ่

 

ญี่ปุ่นเจ้าเก่าของเราก็ยังประกบติดกับอาเซียน อาจเพราะกลัวจีนมาก อาศัยความแข็งแกร่งของเอกชนญี่ปุ่นก็ยังคง ดึงอาเซียนให้ทำงานร่วมกัน ได้ในหลายช่องทาง นับตั้งแต่เรื่องอีดีไอทางการค้า เรื่องการศึกษาผ่าน e-Learning ตลอดจนเรื่องคอมพิวเตอร์แปลภาษา จะเห็นได้ว่ายักษ์แต่ละตัวล้วนมีจุดยืนของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน จะมีก็แต่ยักษ์หลายแขนหลายขาอย่างอาเซียนเอง ที่จะต้องปรับทัศนคติใหม่โดยเร็ว ให้คิดถึงตัวเอง (ประเทศ) ให้น้อยลงสักนิด และคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม (อาเซียนเอง) ให้มากขึ้น หาไม่แล้วจะไปไม่รอดทั้งส่วนรวมและส่วนตัว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.