อินฟินีออนหนุนไทยตั้ง รง.เวเฟอร์แฟบ

อินฟินีออน 1 ใน 10 ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก ยาหอมตลาดไทยยังน่าสนใจ และพร้อมเข้ามาสนับสนุนการลงทุน ด้านเทคโนโลยี, ถ่ายทอดโนว์ฮาว และทำสัญญาซื้อยกล็อต 5 ปี ให้กับบริษัท บี สแควร์ ซึ่งกำลังปรับโครงสร้างหนี้ หนุนการตั้งโรงงานผลิตเวเฟอร์แฟบ ริเคชั่น แห่งแรกของไทย แต่ย้ำชัดเจน ไม่ใช่แผนร่วมลงทุน

นายโทมัส ลี ชวาร์ซ รองประธานอาวุโส บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า อินฟินีออน ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก ยังคงให้ความสนใจกับการเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของเทคโนโลยี และโอนถ่ายโนว์ฮาวให้กับบริษัทผู้ผลิตในประเทศ ปัจจุบัน บริษัทอยู่ในขั้นตอนเจรจาความร่วมมือลักษณะดังกล่าวกับบริษัท บีสแควร์ เอ็นเตอร์ไพร้ซ จำกัด หรือบริษัท ซับไมครอน จำกัด (มหาชน) เดิม ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อเดินเครื่องโรงงานผลิตเวเฟอร์แฟบ ริเคชั่นแห่งแรกในประเทศไทย โดยยืนยันว่าหากบริษัทดังกล่าว บรรลุข้อสรุปเกี่ยวกับแหล่งเงินทุน และมีแผนงานจัดตั้งโรงงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านการผลิตที่ชัดเจน อินฟินีออน ก็พร้อมเข้ามาให้การสนับสนุนทันที

 

ทั้งนี้ความร่วมมือของบริษัทจะประกอบด้วย การส่งทีมงานวิศวกรจำนวน 50 คน เข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรของบีสแควร์ โดยพร้อมรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีแรกของการจัดตั้งโรงงาน ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต นอกจากนี้ ยังจะทำสัญญาจัดซื้อชิ้นส่วนทั้งหมดที่บีสแควร์จะผลิตขึ้นมา ตลอดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีในระยะแรก ซึ่งครอบคลุมสายการผลิตใน 4 ยุคเทคโนโลยี

 

"อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีนโยบายนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในแง่ของการร่วมลงทุน หรือการเข้ามาจัดตั้งโรงงาน เนื่องจากไม่ต้องการให้ซ้ำซ้อนกับการลงทุนครั้งสำคัญในภูมิภาคนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอินฟินีออน ได้ประกาศร่วมลงทุนกับบริษัท นันยา เทคโนโลยีส์ ของไต้หวัน ในการพัฒนาเทคโนโลยี และผลิตชิพหน่วยความจำดีแรม ขนาด 0.07 และ 0.09 ไมครอน" นายชวาร์ซ ยืนยัน

 

แนะไทยสรุปแผนตั้ง รง. ในปีนี้

ขณะเดียวกัน เขายังแสดงความเห็นส่วนตัวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย ที่จะตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง เนื่องจากยิ่งหากล่าช้า ก็จะเสียโอกาสทางการตลาดให้กับประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนด้านนี้อย่างมาก "ในมุมมองส่วนตัวของผมแล้ว หากไม่สามารถสรุปเรื่องจัดตั้งโรงงานได้ภายในปีนี้ ก็จะถือว่าช้าเกินไปแล้วสำหรับไทย" นายชวาร์ซ กล่าว

 

บี สแควร์ปรับแผนเช่าเครื่องจักรแทนซื้อ

ด้านนายสุรศักดิ์ นานานุกูล ที่ปรึกษาการเงิน บริษัท บีสแควร์ เอ็นเตอร์ไพร้ซ์ จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าในการหาพันธมิตรตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ว่า ขณะนี้ได้ปรับแผนการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักร จำนวน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะหันมาเช่าเครื่องจักรแทน โดยมีธนาคารแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร เป็นที่ปรึกษาการเงิน และทำหน้าที่ประสานงานด้านการจัดซื้อเครื่องจักรให้ทั้งหมด และบริษัทจะจ่ายค่าเช่าเป็นงวดๆ ให้กับธนาคารแห่งนี้ ทั้งนี้ หากใช้วิธีเช่าเครื่องจักรแล้ว จะช่วยลดวงเงินลงทุนที่บริษัทต้องการเหลือเพียง 200 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าต้องใช้ประมาณ 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) แปลงหนี้เป็นทุนแล้ว 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทพยายามจะเจรจาเพื่อขอเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากบริษัท อินฟินีออน เยอรมนี อีกประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ "ตอนนี้ ก็เหลืออยู่ที่นโยบายรัฐเท่านั้น ที่จะส่งเสริมต่อหรือไม่ โดยมีกองทุนขนาดใหญ่อยู่ในไทยหลายกองทุน 500-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังไม่ได้ลงทุนอะไร" นายสุรศักดิ์ กล่าว

ทางด้านเงินทุนที่จะขอสนับสนุนจากอินฟินีออนนั้น อาจเจรจาให้พันธมิตรรายนี้ แปลงเงินค่าธรรมเนียมไลเซ่นเทคโนโลยีการผลิต (เทคนิเคิล ฟี) ซึ่งบริษัทต้องจ่ายในอัตรา 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแต่ละเจเนอเรชั่นของเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเป็นเงินลงทุนเบื้องต้นสำหรับเดินเครื่องการผลิต "คาดว่าหากสามารถเปิดโรงงานผลิตได้ ก็อาจเริ่มผลิตที่ 0.11 และ 0.07 ไมครอน ซึ่งต้องชำระทันที 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากนั้นจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนในเทคโนโลยี 0.05 และ 0.03 ไมครอน" นายสุรศักดิ์ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.