อินเทล ออกซีพียูใหม่ รับตลาดนิยมใช้ข้อมูลดิจิทัลเพิ่ม

อินเทล เปิดตัวเพนเทียม 4 ความเร็ว 3.06 กิกะเฮิรตซ์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเกือบเทียบเท่าซีพียู 2 เครื่องพร้อมกัน เชื่อเป็นมาตรฐานคอมพิวเตอร์ในปลายปีหน้า หลังพฤติกรรมผู้บริโภคนิยมใช้งาน 2 แอพพลิเคชั่นพร้อมกัน จับมือ 8 แบรนด์รุกตลาดไทยปลายปีนี้

 

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเปิดตัวตัวประมวลผล (ซีพียู) ใหม่รุ่นเพนเทียม 4 ความเร็ว 3.06 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีจุดเด่นของเทคโนโลยีไฮเปอร์เทรดดิ้ง ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 25% จากตัวประมวลผลรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ โดยหลักการทำงานคือ เมื่อเลือกใช้เทคโนโลยีนี้ ระบบปฏิบัติการ (โอเอส) และแอพพลิเคชั่นจะเข้าใจว่ามีโปรเซสเซอร์ 2 ตัว ทำงานพร้อมกัน ทำให้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นมากกว่า 2 ชนิด พร้อมกันได้ โดยไม่กระทบกับความสามารถในการประมวลผล ต่างจากรูปแบบเดิมที่ต้องแบ่งเวลาการทำงานของซีพียูตัวเดียว ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะกลายเป็นแกนหลักในการพัฒนาซีพียูรุ่นต่อไปในปีหน้า และเป็นเทคโนโลยีหลัก (เมนสตรีม) ของระบบประมวลผลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในปลายปีหน้า หรือต้นปี 2547 ตามการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของตลาด โดยมีแรงผลักดันจากรูปแบบการใช้งานของผู้บริโภคที่เพิ่มการใช้เนื้อหาดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงความต้องการเพิ่มคุณภาพของเครื่องให้สูงขึ้น

 

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจของบริษัท พบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วซีพียู ประมาณ 500-750 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนประมาณ 400-450 ล้านเครื่อง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องการเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่ ทำให้ซีพียูใหม่และเทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีหลัก 4 ด้านเป็นตัวผลักดันเสริม ได้แก่ เทคโนโลยีเวบเซอร์วิส ที่เน้นการทำงานร่วมกันและการทำงานแบบมัลติทาสก์ ที่เปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นพร้อมกันจำนวนมาก, การเล่นเกมออนไลน์, การใช้แอพพลิเคชั่นประเภทอี-เลิร์นนิ่ง ซึ่งจะเติบโตขึ้นอย่างมากภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าตามข้อมูลของไอดีซี รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้งานซีพียูรุ่นดังกล่าวจะสามารถใช้ร่วมกับเมนบอร์ดเพียง 2 รุ่นเท่านั้น ได้แก่ 1.845 อีและ 2.845 จีอี ซึ่งวางตลาดไปเร็วๆ นี้

 

ทางด้านการผลักดันตลาดนั้น บริษัทจับมือกับเครื่องคอมพิวเตอร์ 8 ยี่ห้อ เพื่อทำตลาดร่วมกัน ประกอบด้วย เอเซอร์, เบลต้า, ดีทีเค, เอ็มพีพี, เอสวีโอเอ, วันเวย์, เลเซอร์ และลิเบอร์ต้า โดยราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 59,900 บาท เป็นต้นไป ถึงระดับราคาประมาณ 70,000 บาท การพัฒนาในอนาคต เขากล่าวต่อว่า ในอนาคตเชื่อว่า แนวทางการพัฒนานอกจากความเร็วของซีพียูแล้ว จะเน้นไปที่ขนาดของแคช รวมไปถึงฟร้อนท์ ไซด์ บัส และในปีหน้าเชื่อว่าจะสามารถนำซีพียูที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 0.09 ไมครอนออกสู่ตลาด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ตามแนวทางของเครื่องแม่ข่ายที่ใช้รหัสตระกูล ซีออน ซึ่งมีจุดเด่นเทคโนโลยีไฮเปอร์เทรดดิ้ง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.