กรมส่งเสริมใช้ไอทีหนุนเกษตรกร


ดันสร้างเนื้อหาระดับชาติ หนุนกลุ่มยุวเกษตรเป็นฐานเบื้องต้น
กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมเดินหน้าแผนแม่บท ระยะที่ 2 ใช้ไอทีหนุนเกษตรกร-เจ้าหน้าที่ ดันสร้างเนื้อหาระดับชาติ เบื้องต้นหนุนกลุ่มยุวเกษตรเป็นฐาน พร้อมใช้เครื่องมือ ช่วยเสริมศักยภาพ เข้าถึงข้อมูลทั้งผ่านเน็ต, ซีดี-รอม, คีออส อิงฐานศูนย์บริการทั่วประเทศเป็นจุดเชื่อมใช้งานหลัก

 

นางอมรรัตน์ สุพรรณชาติ หัวหน้าฝ่ายประมวลผลข้อมูล กองแผนงาน กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หลังจากสิ้นสุดแผนงานระยะที่ 1 สิ้นปีนี้ กรมจะเริ่มแผนงานระยะที่ 2 ระหว่างปี พ.. 2546-2548 เน้นสร้างองค์ความรู้บนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและเชื่อมโยงระบบงานผ่านโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อี-กอฟเวิร์นเมนท์) อาทิ การลงทุนในระบบคอลล์เซ็นเตอร์ผ่านการเอาท์ซอร์ซงานบางส่วนให้กับเอกชน โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ ใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ความรู้และตอบคำถามแก่เกษตรกร และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รับปรึกษาข้อมูลการเกษตร นอกจากการให้บริการข้อมูลและเวบบอร์ดในเวบไซต์ ซึ่งจะพัฒนาสู่การรายงานข้อมูลออนไลน์ลักษณะมัลติมีเดีย และแสดงผลแบบเรียลไทม์

 

นอกจากนี้ มีแผนลงทุนจัดทำตู้คีออส ซึ่งอ่านข้อมูลจากแผ่นซีดี-รอม ใช้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรผ่านหน้าจอระบบสัมผัส ติดตั้ง ณ ศูนย์บริการเทคโนโลยี โดยระยะแรกจะเริ่มเปิดให้บริการใน 80 จุดนำร่อง และขยายครอบคลุมศูนย์บริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกระจายครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป ทั้งในต้นปี 2546 จะเสริมศักยภาพด้านระบบการเชื่อมต่อในองค์กร โดยมีแผนลงทุนจัดทำระบบเครือข่ายเสมือน (วีพีเอ็น) ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อระหว่างสาขาย่อยในส่วนภูมิภาค และช่วยให้หน่วยงานสามารถเรียกดูข้อมูลในองค์กรได้รวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 14 ล้านบาท เพื่อการลงทุน

 

ระยะ 1 ทำข้อมูล

สำหรับโครงการระยะที่ 1 (.. 2543-2545) ตามแผนแม่บทไอทีของกรม เป็นการจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรต่อเนื่อง โดยเฉพาะฐานข้อมูลศูนย์ขยายพันธุ์พืช จากข้อมูลของส่วนงานต่างๆ ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ 24 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลด้านการใช้เมล็ดพันธุ์, การปลูกพืชของประเทศ ให้ทราบถึงปริมาณและความสามารถในการคาดการณ์สินค้าคงคลัง นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนปรับระบบงานในกรม เป็นสำนักงานอัตโนมัติ (ออฟฟิศ ออโตเมชั่น) โดยปรับระบบการเก็บเอกสาร รวมทั้งกำลังจัดทำระบบสารบัญ โดยโยงระบบคอมพิวเตอร์ระดับต่างๆ เข้าด้วยกัน อาทิ ระดับภาค 6 แห่ง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอราว 800 แห่ง ทั้งเน้นการอบรมข้าราชการ ตั้งแต่ระดับผู้บริการ ถึงระดับเกษตรจังหวัด เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้ระบบไอทีได้ ตั้งแต่พื้นฐานความรู้ด้านระบบสารสนเทศได้ "ตามแผนงานระยะที่ 1 เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน จะต้องสามารถทำเวบเพจได้เอง เพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลรวม โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้สนับสนุน" นางอมรรัตน์กล่าว

 

แผนแม่บท 6 ขั้น

ทั้งนี้ แผนแม่บทดำเนินการด้านไอทีของกรม มีขั้นตอนดำเนินงานในลักษณะคู่ขนาน 6 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นแรก เตรียมความพร้อมชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างเนื้อหาขึ้นได้เอง เป็นรากฐานการจัดทำระบบข้อมูลเกษตรกรเบื้องต้น ขั้นที่สอง จัดทำแผนระดับท้องถิ่น ผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวบรวมข้อมูลท้องถิ่นเข้ามาในระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้วางแผนการดำเนินงาน เริ่มจาก 30 จังหวัดแรก และจะขยายขอบข่ายการสร้างเนื้อหาในพื้นที่ไปสู่ฐานข้อมูลเนื้อหาระดับประเทศ

 

นำความรู้สู่เกษตรกร

ขั้นสาม ดำเนินงานตาม 3 แผนหลัก ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี, การลงทุนและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเนื้อหาของกรมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อเกษตรกรเผยแพร่ผ่านเวบไซต์ www.doae.go.th ของกรม รวมทั้งจัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกร โดยกรมเริ่มนำข้อมูลดังกล่าวบันทึกลงในแผ่นซีดี-รอม เพื่อแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่เพราะสะดวกในการพกพา และเป็นสื่อออฟไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าอินเทอร์เน็ต ด้านการลงทุนนั้นจะแบ่งรายจ่ายหลักเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการเกษตรและการฝึกอบรม ขั้นตอนสี่ เพิ่มความสามารถในการใช้ไอที ให้สามารถจดทะเบียนและบริการเกษตรกรได้ เป็นโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับตัวเกษตร โดยหลักจะเป็นข้อมูลตามบัตรประชาชน, ข้อมูลพืชที่ปลูก เป็นต้น

 

ตั้งศูนย์บริการ-ดันอีแค็ตตาล็อก

ขั้นตอนห้า จัดตั้งศูนย์บริการเพื่อเป็นศูนย์รวมเกษตรกรให้ใช้ไอทีผ่านการนำเสนอและถ่ายทอดข้อมูลการเกษตร ตลอดจนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยการตั้งศูนย์ส่วนหนึ่งจะขอใช้สถานที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 7,000 แห่งทั่วประเทศ ขั้นสุดท้าย ผลักดันสู่ระบบอี-คอมเมิร์ซ โดยต้องการให้เกิดเป็นแค็ตตาล็อกออนไลน์ที่เกษตรกรสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า, กระดานซื้อขาย และเกิดการติดต่อนำไปสู่การค้าขายในอนาคตมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาชุมชนให้เข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับเวบไซต์ของหน่วยงานอื่นในอนาคต

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.