ผู้ค้าไอทีเชื่อผลงานครึ่งปีหลังฉุดตลาดไอทีโต 20%

ได้ปัจจัยหนุน คอมพิวเตอร์ไอซีที - อี-กอฟเวิร์นเม้นท์ - สนามบินแห่งใหม่
เซียนไอที ชี้ไอทีครึ่งปีหลัง ฉุดตลาดทั้งปีโต 20% ขณะที่บริษัทวิจัยเออาร์ ชี้แนวโน้มตลาดพีซี 5 ปีข้างหน้าโตเฉลี่ย 15% ระบุโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที - อี-กอฟเวิร์นเม้นท์ - สนามบินแห่งใหม่ปัจจัยหนุน

 

นายมินทร์ อิงค์ธเนศ ประธานบริหาร บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ผู้คร่ำหวอดในวงการไอที กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มการใช้จ่ายไอทีจะมีความสดใส อัตราเติบโต 15-20% มากกว่าที่หลายสำนักวิจัยคาดการณ์ไว้ 12% โดยครึ่งปีหลังมีปัจจัยบวก ทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตจากดัชนีการโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคสูงขึ้น  นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศเอง ปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เป็นผู้ช่วยส่วนบุคคล (เพอร์ซันนัล แอสซิสเทนท์) และให้ความบันเทิง อีกทั้งโครงการประมูลภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจมีมากขึ้น ทั้งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้านครหลวง และภาคธนาคาร

 

ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวสอดคล้องกันว่า ตลาดไอทีครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่ประเมินจากสถานการณ์ตลาดโดยรวม และผลสำรวจของสำนักวิจัยต่างๆ

ขณะเดียวกัน ไอบีเอ็มเองในครึ่งปีหลังก็เริ่มเปลี่ยนมุมทางการตลาด โดยเข้าหาลูกค้า และเพิ่มสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น ทั้งมีคลินิกไอที หรือโครงการตรวจสุขภาพธุรกิจ (ไอบีเอ็ม บิสซิเนส แอสเสสเม้นต์ คลินิก) ที่ร่วมกับพันธมิตรเข้ามาช่วยวิเคราะห์สุขภาพธุรกิจลูกค้าระดับเอสเอ็มอี ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการดึงลูกค้ากลุ่มนี้มาสนใจลงทุนด้านไอที

 

เออาร์ชี้ 5 ปี โตเฉลี่ย 15%

ทั้งนี้ความเห็นดังกล่าวล้วนสอดคล้องกับข้อมูลจากการวิจัย แอดวานซ์ รีเสิร์ช (เออาร์) ที่ระบุว่า แนวโน้มอัตราเติบโตพีซี ปี 2546-2550 เฉลี่ย 15% ส่วนปีนี้คาดการณ์ไว้จำนวน 1,270,699 เครื่อง เติบโตจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 778,654 เครื่อง อยู่ 63% คิดเป็นมูลค่า 846.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณดังกล่าวเป็นข้อมูลที่อัพเดทในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยเออาร์ มองว่าปัจจัยบวกของการเติบโตอยู่ที่การกระตุ้นความต้องการของผู้ใช้ ประกอบด้วย โครงการคอมพิวเตอร์ไอซีที ซึ่งเน้นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊คราคาประหยัด จำนวน 1 ล้านเครื่อง ซึ่งจะส่งผลไปถึงปี 2549 กระนั้นเคยมีบางประเทศ เช่น เกาหลี และมาเลเซีย ทำมาก่อนแล้ว และประสบปัญหาทางปฏิบัติ ส่วนของไทยก็อาจมีข้อจำกัดการเติบโตด้วย

 

นอกจากนี้ โครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อี-กอฟเวิร์นเม้นท์) ที่คาดว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ต้องใช้ในโครงการ ประมาณ 200,000 เครื่อง ตั้งแต่ปี 2546-2548 ซึ่งจะส่งผลกระทบตรงต่อเครื่องตั้งโต๊ะระดับองค์กร และเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาด้วย อีกทั้งยังมีโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องใช้พีซี 10,000 เครื่อง ตั้งแต่ปี 2546-2548 โดยจะมีการส่งมอบเครื่องสูงสุดในปี 2547 อันจะส่งผลบวกกับเครื่องพีซีที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ (คอมเมอร์เชียลพีซี) ในช่วงตลอด 3 ปีของโครงการ

 

บริการ-เน็ต-อีเมลช่วยดัน

รายงานของเออาร์ ระบุด้วยว่า ด้านเทคโนโลยีและบริการนั้น อินเทอร์เน็ตและอีเมล จะเป็นบริการหลักที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญการสื่อสารและผลักดันการเติบโตของพีซี และราคาเครื่องที่ปรับลดลงโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์พกพาที่ราคาจะขยับมาใกล้กับเครื่องตั้งโต๊ะมากขึ้น เพราะราคาจอแอลซีดีลดลง

ประกอบกับแนวโน้มของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย (WLAN) โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซนทริโนของอินเทล จะกระตุ้นการซื้อคอมพิวเตอร์พกพา กระนั้น ต้องขึ้นกับขอบเขตการให้บริการครอบคลุมกว้างขวางแพร่หลาย และให้เข้าถึงการใช้บริการได้ง่าย โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อสาธารณะและในองค์กร (พับลิค/คอร์ปอเรท ฮอทสปอต) ส่วนการซื้อเครื่องพีซีเพื่อทดแทนเครื่องเก่าที่มีการใช้งานมานานคงจะมีไม่มากนัก เพราะองค์กรส่วนมาก จะเน้นการซื้อเครื่องใหม่ "เท่าที่จำเป็น"

 

ในรายงานวิเคราะห์ตลาดไอทีของบริษัทเดียวกัน ระบุว่า ตลาดผู้ใช้ตามบ้านจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้งานเครื่องพีซี 52.3% รองลงมาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ 13.1% ธุรกิจขนาดกลาง 9.7% ภาครัฐ 8.4% ธุรกิจขนาดเล็ก 7.6% สำนักงานขนาดเล็ก 4.8% และการศึกษา 4.1%

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.