5 ยักษ์ใหญ่ไอทีข้ามชาติรวมหัว ...ผนึกกำลังแก้ปัญหาวิกฤต(คน)ไอทีไทย

สัมภาษณ์

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม ไอทีไทยในปี 2546 จะอยู่ในสถาน การณ์ที่ค่อนข้างยากลำบา โอกาสการเติบโตของตลาดโดยรวมก็ไม่มาก เรียกว่าไม่เกิน 10% ซึ่งถือว่าต่ำมากสำหรับธุรกิจไอที และยิ่งภาวะสงครามสหรัฐ-อิรักยังอึมครึมก็ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ยิ่งระมัดระวังการลงทุนและการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่ตลาดไอทีไทยจะสดใสก็ยากลำบากไปด้วย

นอกจากปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีไทยแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญที่ยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีทุกรายต่างเห็นตรงกัน คือปัญหาวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรไอที โอกาสนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์มุมมองและความเห็นของ "เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอชพี ต่อทิศทางธุรกิจไอทีไทย รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหา

- สถานการณ์ตลาดไอทีช่วงต้นปี
สถานการณ์ของธุรกิจไอทีในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาก็พอไปได้ แต่ก็ค่อนข้างเหนื่อยเพราะการแข่งขันสูง และเนื่องจากภาวะสงครามสหรัฐ-อิรักทำให้ธุรกิจชะงักงัน กลุ่มลูกค้าหลักที่ยังมีการลงทุนไอทีก็คือตลาดภาคธุรกิจโทรคมนาคมและสถาบันการเงินเป็นหลัก ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีบ้าง ส่วนลูกค้าหน่วยงานราชการนั้น หลายฝ่ายคาดหวังว่าหลังจากที่มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แต่ขณะนี้ยังไม่ค่อยเห็นมีโครงการอะไรออกมาชัดเจน รัฐบาลมีนโยบายออกมาเยอะ แต่ว่าเงินงบประมาณของรัฐบาลไม่มี ทำให้โอกาสที่จะเกิดโปรเจ็กต์ค่อนข้างยาก สำหรับในกลุ่มคอนซูเมอร์นั้น สถานการณ์ก็ดีกว่าช่วงปลายปี แต่ก็ยังไม่ถึงกับโต และโดยภาพรวมทั้งหมดของอุตสาหกรรมถือว่าช้ากว่าปีที่แล้ว เพราะว่าลูกค้าระมัดระวังมากขึ้น บริษัทต้องการขยายแต่ตลาดไม่ค่อยรับ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ค่อนข้างระมัดระวังตัวเลขการใช้จ่ายมาก เพราะรายได้ไม่เติบโตก็ทำให้ทุกบริษัทควบคุมรายจ่ายอย่างเข้มงวด

- ตัวแทนจำหน่ายบอกว่า เอชพีไล่บี้ยอดขายแบบรายเดือน
อย่าเรียกว่าไล่บี้เลย แต่บริษัทต้องการให้ตัวเลขรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ เราก็นัดกินก๋วยเตี๋ยวกันทุก เดือน ขอบอกว่าตอนนี้แค่กินก๋วยเตี๋ยว ประเภทสเต็กเลิกกินแล้ว เพราะว่าธุรกิจมาร์จิ้นต่ำมาก การแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการขายเครื่องพีซีต้องคอนโทรลตัวเลขให้สม่ำเสมอ เรียกว่าทำยังไงรวมกันแล้วตัวเลขต้องได้ตามเป้า ตอนนี้แค่วันหยุดเยอะก็เหนื่อยแล้ว ปีนี้การทำธุรกิจต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น จับตาดูแลอย่างใกล้ชิด ประมาทไม่ได้ โอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ ปีนี้ค่อนข้างยาก อย่างที่ผ่านมาบริษัทก็พยายามบุกตลาดลูกค้าเอสเอ็มอี โดยร่วมมือกับภาครัฐทำแคมเปญต่างๆ แต่ผลตอบรับก็ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ก็ต้องพยายามต่อไป เอชพีมีโปรดักต์ที่สามารถตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงของธุรกิจได้มาก

- นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ตอนนี้อุตฯไอทีไทยมีอะไรเป็นปัญหาสำคัญ
ปัญหาเรื่องคน ตอนนี้บริษัทไอทีรายใหญ่ 4-5 บริษัท มีแนวคิดที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากร เรื่องนี้มีการจุดประกายร่วมกันเมื่อครั้งที่ได้ไปบรรยายร่วมกันที่เนคเทคเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยเอชพี, อินเทล, ออราเคิล, ไมโครซอฟท์ และซิสโก้ ซึ่งทั้งหมดมองเห็นปัญหาร่วมกัน บุคลากรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมไอทีนั้นขาดแคลน ปัญหาคือ นักศึกษาที่จบใหม่ออกมาก็ไม่ตรงกับความต้องการ เพราะมีแต่พื้นฐาน ขณะที่ในอุตฯต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่จบออกมากับความต้องการของอุตสาหกรรม ตอนนี้จะหาคนมาทำงานแต่ละครั้งต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ขอบอกตามตรงว่าคนเก่งหายาก คนที่มีความรู้เชิงลึกมีน้อยมาก ที่ผ่านมาทุกบริษัทต่างต้องการคนที่มีประสบการณ์ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งตัวกันในวงการ ดึงกันไปดึงกันมา แต่ไม่มีการสร้างคนขึ้นมา ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อภาพรวม เพราะการขาดแคลนบุคลากรก็ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของประเทศก็ไม่เดินหน้า

- ความร่วมมือจะมีวิธีการอย่างไร
ความจริงภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงไอซีทีเข้ามาเป็นแกนกลางเชื่อมระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดเป็นสถาบันฝึกอบรม โดยบริษัทไอทีข้ามชาติรายใหญ่ทั้ง 5 รายที่รวมตัวกันนั้น จะพร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือ, ผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปช่วยอบรม การจัดหลักสูตรรวมถึงด้านเงินทุน เพราะปัจจุบันแต่ละบริษัทเมื่อรับคนมากก็ฝึกอบรมกันเองในองค์กรซึ่งก็ไม่คุ้มค่า โครงการนี้จะเป็นการลงทุนร่วมกันเป็นกองกลาง เพื่อสร้างคนป้อนให้กับอุตสาหกรรม โดยที่เอกชนก็จะเข้ามาช่วยในการกำหนดหลักสูตร เพื่อที่จะพัฒนาบุคลากรออกมาตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง เช่น เอชพีต้องการประเภทเอ็นจิเนียริ่ง, เซอร์วิส ในแต่ละโปรดักต์ บางบริษัทอาจต้องการบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ หรือเอ็นจิเนียริ่ง โปรดักต์ ซึ่งเราเห็นตรงกันว่าน่าจะมารวมหัว เอาความต้องการของทุกคนมารวมกัน สำรวจความต้อง การแต่ละประเภทให้ชัดเจนและจัดเป็นหลักสูตร

- ตอนนี้มีความคืบหน้าแค่ไหน
เรื่องนี้คุยกันมาหลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะไม่มีตัวกลางที่มาจัดการ ที่ผ่านมาตนก็ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เสนอแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้กระทรวงเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อผลักดันให้โครงการเกิดความจริง เอชพีก็พร้อมที่จะเป็นแกนหลัก แต่ถ้าให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นแกนก็อาจจะมีปัญหากับบริษัทเอกชนอื่นที่เข้าร่วม จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาเป็นคนกลาง เพราะในกรณีนี้ไม่ได้เป็นการเทรนให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่เป็นการเทรนให้กับอุตสาหกรรม การที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโตก็จะต้องมีการสร้างคนเพื่อรองรับด้วย เพราะถ้าไม่มีบุคลา กรที่มารองรับ โอกาสที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมก็คงยาก

ตลาดแรงงานไอทีจะรอกรมแรงงานไม่ได้ ไอซีทีต้องเป็นแกนหลักเพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้ดีมานด์และซัพพลาย เรื่องบุคลากรไอทีแมชิ่งกันได้ ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็เห็นด้วยในหลักการ แต่ก็ยังไม่มีมูฟเมนต์ แต่ถ้ายังล่าช้าอยู่ ทางเอกชนก็คงต้องรวมตัวกันให้ทางสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทยเป็นแกนในการทำโปรเจ็กต์ แต่ก็ยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้โครงการได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โครงการนี้จะเป็นการลดช่องว่างทางด้านความรู้ความสามารถของบุคลากรไอทีทุกๆ ด้าน กับความต้องการของตลาด และในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ลดการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ แต่ถ้าเราไม่สร้างคนขึ้นมาเสริมเมื่อไหร่จะทำได้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.