สมาคมเครือข่ายไอที ชี้ปี 45 ตลาดโต 13%

ชี้ปัจจัยหลัก เกิดจากการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม-ธนาคารที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหันลดต้นทุนดำเนินการลง

 

สมาคมเครือข่ายสารสนเทศ ระบุตลาดอุปกรณ์เครือข่ายโต 13% จากปัจจัยการธุรกิจรับการแข่งขัน-ลดต้นทุน และโครงการรัฐ ขยายโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลมีผู้ประการค้าด้านนี้ เข้ามาร่วมชิงตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นายวิทยา สุวัฒนาธรรมกุล เลขานุการสมาคมเครือข่ายสารสนเทศ กล่าวว่า ปีนี้ได้ประมาณการภาพรวมการเติบโตของตลาดอุปกรณ์เครือข่าย ที่มีการใช้ระดับองค์กรขนาดใหญ่ (เอ็นเตอร์ไพร้ส์) จากปีที่แล้ว ร้อยละ 13 หรือประมาณการมูลค่ารวม 3,160 ล้านบาท โดยประมาณการมูลค่าตลาดปีที่แล้วอยู่ที่ 2,780 ล้านบาท

ขณะที่ ตลาดโทรคมนาคม ที่ไม่นับรวมโครงการเอาท์ไซด์-แพลนท์ และระบบงานด้านเสียง คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 22 หรือคิดเป็นมูลค่า 3,300 ล้านบาทจากปีที่แล้วอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท

 

ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโต อยู่ที่ภาครัฐที่มีโครงการด้านไอที ต้องลงทุนต่อเชื่อมเครือข่ายทั่วประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายและอินเทอร์เน็ต และภาคธุรกิจต้องลดต้นทุน เพื่อรับการแข่งขัน โดยเฉพาะธนาคาร และธุรกิจสื่อสาร ส่วนของเทคโนโลยี ที่มาแรง ประกอบด้วย เครือข่ายไร้สาย ระบบรักษาความปลอดภัย การจัดการเครือข่าย รวมถึงเครือข่ายระยะไกลแบบความเร็วสูง (DWDM) ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่จะเชื่อมโยงศูนย์ภูมิภาค ทำให้ลดต้นทุนเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายระดับเมือง (MAN :Metropolitan Area Network) และบรอดแบนด์

นอกจากนี้ มีการลงทุนด้านคอลล์เซ็นเตอร์ และเครือข่ายที่มีการรวมของเสียง ข้อมูล และมัลติมีเดีย (คอนเวอร์เจนซ์) ขณะที่ ด้านบุคลากร เครือข่ายยังขาดแคลนในตลาด ทำให้แนวโน้มองค์กร จะหันมาใช้บริการเอาท์ซอร์ซซิ่ง มากขึ้น

 

ขณะที่ ด้านการแข่งขัน ผู้ค้าอุปกรณ์เอง จะต้องรับการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และเริ่มมีการปรับตัวเข้าสู่การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย (เซอร์วิส) ที่ไม่ใช่การขายเพียงอุปกรณ์อย่างเดียว เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด

 

โครงการผลักดันตลาดเฟื่อง

สำหรับโครงการผลักดันให้ ตลาดเครือข่ายสารสนเทศเฟื่องฟูขึ้นนั้น ประกอบด้วย โครงการขยายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบต่างๆ ไม่ว่าจะในส่วนของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), ทีเอ ออเร้นจ์, องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.), การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) พร้อมกันนี้ ยังมีการลงทุนการให้บริการลูกค้า ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นคอลล์เซ็นเตอร์ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ ยังมีโครงการไอทีภาครัฐ ทั้ง 30 บาทรักษาทุกโรค อินเทอร์เน็ตตำบล โครงการสำนักทะเบียนราษฎร์ เครือข่ายเพื่อการศึกษา ล้วนแต่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายทั้งสิ้น ทั้งนี้ล่าสุดนโยบายของภาครัฐเอง ก็มีแผนที่จะให้หน่วยงานรัฐเช่าใช้เครือข่ายไอพีของทศท. ที่มีอยู่แล้วด้วย เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

ส่วนภาคเอกชนนั้น องค์กร หรือบริษัทต่างๆ ล้วนต้องพัฒนาระบบไอทีภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการ ตลอดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตลาดการค้าอุปกรณ์เครือข่าย นับเป็นตลาดที่น่าจับตา เนื่องจากมีการเติบโตสูง พร้อมทั้งมีจำนวนเงินในการลงทุนด้านนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อนำมาซึ่งการให้บริการใหม่ๆ ในราคาที่แข่งขันได้ รวมถึงการเชื่อมโยงส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค เช่น การใช้เครือข่ายเฟรม รีเลย์ แทนการใช้ลีสด์ไลน์

 

ล้อมกรอบ

ตลาดอุปกรณ์เครือข่าย และซอฟต์แวร์เครือข่ายแข่งขันรุนแรงขึ้น จากบรรดาผู้ค้าจำนวนมากหันเข้าจับตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านไอที หรือโทรคมนาคม ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่บริษัท คอมพิวเตอร์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด (ซีเอ) ร่วมมือกับบริษัท ซีเอ ทีซีจี ซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบสื่อสารเคลื่อนที่ เปิดตัวแอพพลิเคชั่นเอสเอ็มเอส 3 ระบบ คือ 1.ระบบเซลล์ฟรอสต์ โอโตเมชั่น 2.บิลและโปรโมชั่น 3.เน็ตแบงกิ้ง มุ่ง 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ธนาคาร, อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และประกันภัย ซึ่งต่างมีสาขาและฐานลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนมาก และมีทีมงานฝ่ายขายจำนวนมากเช่นกัน โดยบริษัทจะเน้นให้บริการผ่านระบบเอสเอ็มเอส เพราะเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานง่ายและมากที่สุด รองรับโทรศัพท์มือถือทุกยี่ห้อ และจากความนิยมของการใช้บริการทำให้มองว่า แอพพลิเคชั่นที่เปิดตัววันนี้จะติดตลาดภายในระยะเวลาครึ่งปี ด้วยฐานลูกค้าเป้าหมายราว 100 ราย ซึ่งจะใช้การสัมมนาเจาะกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น

 

ส่วนบริษัท ซีเมนส์ จำกัด เตรียมพัฒนากรอบของระบบงานบนอิเล็กทรอนิกส์ (eB Framework) ที่เชื่อมกระบวนการทำงานระหว่างคู่ค้า (ซัพพลายเออร์) และลูกค้าให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดกระบวนการสั่งซื้อ (โพรเคียวเม้นท์), ระบบบริหารห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) และการทำธุรกรรม (คอมเมิร์ซ) เข้าสู่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับแผนงานอี-บิสซิเนสของซีเมนส์ จะรองรับ 4 เป้าหมายหลักที่วางไว้ ได้แก่ 1.การผลักดันให้เกิดการจัดซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต (อี-โพรเคียวเม้นท์) เพิ่มเป็นสัดส่วน 50% ภายในปี 2546  2. กระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานโครงการ (e-Order Intake) ประมาณ 25% และในส่วนของสินค้าคอนซูเมอร์เป็น 50% ภายในปี 2546  3. รองรับเป้าหมายลดต้นทุน ที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการสั่งซื้อสินค้า ห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) และการขาย ซึ่งกำหนดไว้ 2%, 2.5% และ 0.5% จากผลประกอบการรวม ตามลำดับ และ 4. มุ่งเพิ่มคุณภาพในการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม (แวลู)" ให้กับลูกค้า, พนักงาน รวมถึงผู้ถือหุ้นของซีเมนส์ บริษัทยังมีแผนเชื่อมต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าของบริษัท เป็นเอ็กซ์ทราเน็ต ซึ่งใช้เทคโนโลยีเครือข่ายส่วนตัวเสมือนจริง (VPN) โดยจัดตั้งรหัสผู้ใช้ และพาสเวิร์ด สำหรับต่อเข้าระบบ (ล็อก-อิน) ให้ต่อเชื่อมเข้ามายังระบบของบริษัทได้ โดยล่าสุด เริ่มโครงการนำร่องระบบแลกเปลี่ยนเอกสารทางธุรกิจผ่านอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เป็นลูกค้ารายแรกในประเทศไทยที่ร่วมทำธุรกิจ ผ่านช่องทางอี-บิสซิเนสของซีเมนส์

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.