สำนักวิจัยระบุไอทีไทยโต 1 ใน 3 ของเอเชียแปซิฟิก

คาดถึงสิ้นปีมูลค่าตลาดรวมมีกว่า 7 หมื่นล้านบาท หลังครึ่งปีแรกโต 15%
เอทีซีไอ - ไอดีซี - การ์ทเนอร์ ชี้ตลาดไอทีครึ่งปีแรกโตเฉลี่ย 15% คาดสิ้นปีมูลค่าตลาดรวมอยู่กว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,400 ล้านบาท) มองไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่เติบโตในเอเชียแปซิฟิก

 

นายจำรัส สว่างสมุทร เลขาธิการ สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า จากสถานการณ์ครึ่งปีแรก คาดว่าตลาดรวมปีนี้น่าจะเป็นไปตามประมาณการที่ทำไว้ต้นปี โดยมีอัตราการเติบโต 12-15% และคาดการณ์มูลค่ารวมที่ 64,965 ล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่เติบโตนั้นจะเป็นตลาดราชการ จากปีนี้งานประมูลเลื่อนมาช่วงไตรมาสแรก และส่งมอบไตรมาสสอง อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการใหญ่ ในช่วงไตรมาสสามด้วย นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ปีนี้ มีกำลังการซื้อไอทีเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันการแข่งขันธุรกิจที่ต้องใช้ไอทีปรับตัวและเงินกระตุ้นจากภาครัฐได้มาถึงมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ตลาดบ้านที่ปีนี้ ไม่หวือหวามากนัก หากเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ตลาดไทย 1.7 พันล้านดอลล์

ด้านนางสาววารุณี ตรีบำรุงศักดิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ป หรือไอดีซี กล่าวว่า หลังจากประเมินสถานการณ์จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยแล้ว ประมาณการตัวเลขมูลค่าตลาดไอที (รวมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และบริการ) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,735.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่แล้ว 1,619.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  นอกจากนี้ ไอดีซียังประมาณการตัวเลขมูลค่าในปี 2546 อยู่ที่ 2,085.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2547 อยู่ที่ 2,458.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2548 ประมาณที่ 2,902.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2549 อยู่ที่ 3,476.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้ ได้ประมาณการจำนวนเครื่องพีซีในปีนี้ที่ 768, 510 เครื่อง ส่วนปีหน้าคาดว่าประมาณ 866,932 เครื่อง หากคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 842.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และในปีหน้ามูลค่า 927.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปีที่แล้ว มูลค่าตลาดพีซี 725.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นางสาววารุณี กล่าวว่า ภาพรวมของครึ่งปีแรกตลาดรวมพีซีทั้งหมดอยู่ที่ 359,112 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ 298,876 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา 54,677 เครื่อง และเครื่องแม่ข่าย 5,559 เครื่อง ขณะที่ในครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา มีตลาดรวม 313,281 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ 276,661 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา 30,670 เครื่อง และเครื่องแม่ข่าย 5,950 เครื่อง สำหรับผู้นำ 3 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ได้แก่ 1. คอมแพคเอชพี 2. เอเซอร์ และ 3. เอเทค ขณะที่ผู้นำ 3 อันดับแรก ที่เป็นผู้นำด้านมูลค่า (Value) ได้แก่ 1. คอมแพคเอชพี 2.เอเซอร์ และ 3.ไอบีเอ็ม

 

"หากมองตลาดผู้ใช้งานแล้ว กลุ่มที่มีการเติบโตสูง ประกอบด้วย ตลาดบ้าน คิดเป็น 38-40% ของตลาดรวม ตลาดองค์กรธุรกิจทั่วไปที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน คิดเป็น 47% ของตลาด และตลาดราชการ/การศึกษา คิดเป็น 13%" นางสาววารุณีกล่าว  เธอกล่าวเสริมว่า แนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า การเติบโตฮาร์ดแวร์เฉลี่ยจะต่ำกว่า 10% ขณะที่ซอฟต์แวร์และบริการ จะเติบโตเฉลี่ยถึง 30% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น, องค์กรมีความต้องการใช้ซอฟต์แวร์มากขึ้น, รวมถึงมีการเสนองานบริการโพรเฟสชั่นนัล เซอร์วิส จากผู้ให้บริการ

 

ยอดพีซียังพุ่งในประเทศกำลังพัฒนา

ด้านบริษัทการ์ทเนอร์ อิงค์ ระบุว่า อัตราการเติบโตของตลาดพีซีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะแข็งแกร่งสุดในประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งจีน ประเทศไทย และมาเลเซีย ขณะที่ภาพรวมของตลาดในภูมิภาคนี้ คงจะไม่หวนกลับไปในระดับเทียบเท่ากับหลายปีก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนเงื่อนไขสภาพเศรษฐกิจ การไม่กระตือรือร้นต่อระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็กซ์พี ของไมโครซอฟท์ และขาดเหตุผลที่จับต้องได้ที่จะอัพเกรดพีซี  ในภูมิภาคนี้ ราคาของฮาร์ดแวร์ ทั้งเครื่องตั้งโต๊ะ เครื่องแม่ข่าย เวิร์คสเตชั่นและเครื่องพิมพ์ มีราคาลดลงต่อหน่วยประมาณ 6% ต่อปี ซึ่งไม่นับรวมญี่ปุ่น โดยในส่วนของปริมาณการขาย (ยูนิต ชิปเม้นท์) ของฮาร์ดแวร์เหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10.7% ในปีนี้ ขณะที่รายได้ของผู้ค้าเครื่อง (เวนเดอร์) จะเพิ่มขึ้นเพียง 3% ที่ประมาณ 32.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องมาจากราคาที่ลดลง สำหรับปีที่ผ่านมา ยอดขายของพีซี คิดเป็นสัดส่วน 74% ของยอดขายฮาร์ดแวร์ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ หรือประมาณ 19.42 ล้านเครื่อง ที่ราคาเฉลี่ย 1,161 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นรายได้รวม 22.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แนวโน้มราคาลดลงทุกปี

อย่างไรก็ตาม ราคาขายเครื่องพีซี จะปรับลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 5.4% ต่อปี และคาดว่าจะมีราคาขายพีซีอยู่ที่ 881 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 และประมาณการจำนวนยอดขายเครื่องไว้ที่ 33.78 ล้านเครื่อง คิดเป็นรายได้ 29.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เครื่องแม่ข่ายนั้น ราคาเฉลี่ยลดลง 6.7% ต่อปี และราคาเวิร์คสเตชั่น จะลดลง ประมาณ 6.2% ต่อปี ซึ่งมีผลทำให้รายได้ของผู้ค้าในสองส่วนนี้ จะไม่เติบโตขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนตลาดเครื่องพิมพ์ จะมีราคาลดลงประมาณ 8% จากราคา 243 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน เหลือประมาณ 161 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 ซึ่งตัวเลขที่ลดลงนี้ จะสมดุลกับอัตราเติบโตของยอดขายของเครื่องพิมพ์ด้วย โดยผู้ค้าเครื่องจะมีรายได้ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงอีก 5 ปี ขณะที่นางสาววารุณี กล่าวว่า เฉพาะมูลค่าของตลาดเครื่องพิมพ์ในไทย น่าจะอยู่ที่ 116.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 661,839 เครื่อง จากปีที่แล้ว มีตลาดรวม 603,214 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 111.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งประมาณการว่า ในปีหน้าตลาดจะมีมูลค่า 114.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 702,359 เครื่อง

 

ซอฟต์แวร์หลักที่เติบโต

ด้านนายพิยุช ซิงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณด้านซอฟต์แวร์นั้น จะมีการลงทุนระบบบริหารทรัพยากรองค์กร (อีอาร์เอ็ม) ระบบบัญชี ระบบบริหารงานบุคคล ระบบซัพพลายเชนอัตโนมัติ การจัดการทำงานร่วมกันและการจัดการองค์ความรู้ (คอลลาบอเรชั่น แอนด์ โนว์เลจ แมเนจเม้นท์) โดยผู้ใช้เองจะมองถึงการรวบรวม หรืออินทิเกรทระบบงานเหล่านี้ โดยใช้เทคโนโลยีของเวบ และการสนับสนุนให้สารสนเทศ (อินฟอร์เมชั่น) ขององค์กรสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (โมบาย ดีไวซ์)

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.