หอญี่ปุ่นเผยผลวิจัยศก.ไทยครึ่งปีหลัง เงินลงทุนพุ่งพรวด-รถยนต์ขยายตัวลิ่ว

นายอัทสุโอะ คุโรดะ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ [JETRO Bangkok] ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ จัดแถลงข่าวผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ปี 2546 ที่ได้สำรวจในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนว่า ในครึ่งปีแรกของปี (มกราคม-มิถุนายน) สภาวะทางเศรษฐ กิจโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่แสดงแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น แต่ยกเว้นอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยมีผู้ประ กอบการตอบว่า สภาวะทางธุรกิจ "กำลังดีขึ้น" ถึง 47% และตอบว่า "แย่ลง" เพียง 23% แสดงว่าสภาวะทางธุรกิจยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังปี (กรกฎาคม-ธันวาคม) พบว่า มีผู้ประกอบการตอบว่าสภาวะทางธุรกิจ "จะดีขึ้น" ถึง 43% "จะแย่ลง" 18% จึงมีการคาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งหากพิจารณาความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมในแต่ละประเภทจะพบว่า ยังคงมีการปรับตัวไปในทางที่ดี โดยจำนวนเงินลงทุนในอุตสาหรรมการผลิตที่ตั้งไว้สำหรับรอบปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 22.3% เมื่อ เทียบกับรอบปี 2545 ซึ่งกว่า 50% ของจำนวนเงินลงทุนที่สูงขึ้นเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรเพื่อการขนส่ง (รถยนต์) โดยในปีนี้อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรเพื่อการขนส่งมีถึง 84.7%

นายคุโรดะกล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมในปัจจุบันจึงเหมือนกับรูปพีระมิด กล่าวคือ อุตสา หกรรมที่มีการขยายตัวมากที่สุดจะได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์และการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะตลาดรถปิกอัพ ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และในอนาคตจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมรถ ยนต์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องประเภทอื่นเช่นเหล็ก เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ยังมีปัญหาอยู่คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งปัญหาหลักมาจากการแข่งขันกับจีน เนื่องจากจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่งนายคุโรดะเสนอว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งของไทยและของบริษัทญี่ปุ่นจะต้องมีการพัฒนามูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันจะไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาเพียงอย่างเดียวได้ ทั้งนี้จะต้องมีการเพิ่มคุณภาพและ fashion sense เพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจถึงการคาดการณ์ตลาดการส่งออกที่สำคัญ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่า ตลาดญี่ปุ่น สหรัฐ อาเซียนและยุโรปจะมีแนวโน้ม "คงที่" แต่จะมีเฉพาะตลาดจีนเท่านั้นที่มีแนวโน้ม "ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" โดยแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกจะ "เพิ่มสูงขึ้น" ถึง 46% สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้ประกอบการ 51% ตอบว่าแนวโน้มการส่งออกตลอดทั้งปีจะ "เพิ่มสูงขึ้น" โดยส่วนใหญ่จะระบุว่า "เพิ่มสูงขึ้น 10-20%"

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยต้องการให้ไทยเร่งแก้ไขคือการปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้าจีน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.