"คอตเลอร์" แนะ สร้างสินค้าใหม่ ไทยหนีวิกฤติ

"ฟิลลิป คอตเลอร์" ปรมาจารย์ด้านการตลาดแนะยุทธศาสตร์ฟื้นประเทศไทย รัฐบาลและภาคเอกชนต้องประสานมือขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างช่องทางให้หลุดวิกฤติโลก โดยเน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เอสเอ็มอี และสินค้าชุมชน ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหารากเหง้าทางการเงิน และสกัดสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างชาติ

ศ.ดร.ฟิลลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาด แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ได้อภิปรายในการประชุมซีอีโอฟอรัมวันแรก วานนี้ (18 ต.ค.) ในหัวข้อการตลาดประเทศไทย (Marketing Thailand) ให้กับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชนกว่า 500 คน ศ.ดร.คอตเลอร์ได้สรุปว่า ท่ามกลางวิฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ กลับสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ทั้งการท่องเที่ยวไปจนถึงธุรกิจขนาดย่อม แต่ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชน จะต้องประสานมือเพื่อขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์สำคัญที่ประเทศไทย จะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ในขณะที่ทั่วโลกต่างตกอยู่ในภาวะตกต่ำขณะนี้ 3 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ 2.การพัฒนาระบบการเงิน และ 3.การปลุกปั้นธุรกิจการเล็กและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ในส่วนแรกนั้น ธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มดี เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จขณะนี้ แต่ต้องเพิ่มสินค้าใหม่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวสีเขียว การเจาะตลาดคุณภาพอย่างญี่ปุ่น เป็นต้น การเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ และการใช้แคมเปญใหม่ เช่น บีมายเกสต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องเร่งขยายธุรกิจอาหารไทย สินค้าประเภทบันเทิง รวมไปถึงการหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกตะวันออก และการพัฒนาไบโอเทคโนโลยีเข้าสู่ภาคการเกษตรด้วย

ในส่วนที่สอง รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทางด้านการเงิน โดยมุ่งแก้ปัญหาตั้งแต่ส่วนที่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเงิน ทั้งนี้ สามารถใช้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยหรือทีเอเอ็มซีเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาเงินเฟ้อ สภาพเงินหมุนเวียนภายในระบบยังมีน้อยเกินไป ตลอดจนปัญหาการตกงาน ซึ่งถึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ หลังจากที่เกิดวินาศกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าจะมีแรงงานกลับจากตะวันออกกลางมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ว่างงานจะกลับสู่ชนบทมากยิ่งขึ้น

ในส่วนที่สาม ซึ่งต่อเนื่องกัน ศ.ดร. คอตเลอร์ ชี้ว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยให้ความสำคัญในเรื่องของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางหรือเอสเอ็มอีมากขึ้น จะต้องเน้นการเพิ่มผลิตให้ประเทศ โดยต้องใช้กลยุทธ์หลายอย่างประกอบกัน เช่น การสร้างศูนย์บริการข้องมูลข่าวสารและการบริการธุรกิจนี้อย่างครบวงจร ที่เรียกว่าวันสตอปเซอร์วิส การกระจายข้อมูลสาธารณะให้มากขึ้น การส่งเสริมให้นักบริหาร เช่น ผู้จบปริญญโทด้านบริหาร (เอ็มบีเอ) ให้ดำเนินกิจการเอสเอ็มอีมากขึ้น

ที่สำคัญคือ การสร้างเครือข่ายสินค้าชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีสินค้ากว่า 4 พันชนิดที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งยังมีโอกาสที่ขยายได้อีกมาก และจะต้องส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น และสามารถเป็นสินค้าที่สามารถป้อนให้กับชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค และของโลกได้ ทั้งนี้ สินค้าแต่ละชนิดมีจุดขายที่แตกต่างกันไป

เขาเสนอว่าในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยจะต้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนให้หมดไป เช่น การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสินค้าทดแทนสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น การเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อสกัดการบริโภคสินค้านอกประเทศ การผลิตเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพในประเทศ การแปรรูปหน่วยงานของรัฐบาล และการลดระบบราชการให้น้อยลง เป็นต้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.