ผู้ผลิตชูนวัตกรรม ใช้งานภาษาไทยจุดขาย แข่งพัฒนาลูกข่ายตีตลาด

 

กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภาพการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ซัพพลายเออร์) เริ่มรุนแรงขึ้นไม่แพ้กกระแสการโหมส่งแคมเปญมากระตุ้นยอดซื้อ ของฟากผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) โดยแต่ละค่ายต่างเร่งนำ "ลูกเล่น" ต่างๆ เข้ามาใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่มีหน้าจอสี, จอใหญ่ขึ้น, เป็นมัลติมีเดียมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการขยายขอบเขตของการรับ-ส่งข้อมูล ที่ไม่ใช่เพียงเป็นแต่ "ตัวอักษร" เท่านั้นอีกต่อไป แต่ยังครอบคลุมไปถึงภาพเคลื่อนไหว (แอนนิเมชั่น) และภาพถ่ายด้วย

 

โดยการเปลี่ยนโฉม และคุณสมบติการทำงานที่หลากหลายขึ้นเหล่านี้ ก็เพื่อไม่ให้ตกขบวนของเทคโนโลยีที่รุดหน้าขึ้น และประสิทธิภาพของเครือข่ายให้บริการ ที่โอเปอเรเตอร์เร่งลงทุนเพิ่มเติม เพื่อปูทางสู่การเพิ่มรายได้จากช่องทางใหม่ๆ ของบริการเสริม ที่ต่างก็มองว่าจะทยอยเข้ามาชดเชยรายได้จากค่าโทร หรือวอยซ์ เซอร์วิส ที่นับวันจะลดลงไปเรื่อยๆ ท่ามกลางการแข่งขันด้านโปรโมชั่นที่มีแพกเกจใหม่ๆ ออกมาแทยจะทุกเดือน ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่เห็นชัดเจนขึ้นก็คือ การนำเสนอเครื่องลูกข่ายใหม่ๆ ที่รองรับการใช้งานภาษาไทย (Thai Input) ซึ่งไม่ใช้เพียงแต่การทำเมนูภาษาไทยอย่างปีที่ผ่านมา แต่รวมถึงการที่ผู้ใช้บริการ สามารถพิมพ์ภาษาไทยจากเครื่องของตัวเอง เพื่อส่งต่อไปยังเครื่องอื่นๆ ผ่านบริการเอสเอ็มเอสได้ด้วย

 

ปัจจุบันแม้จะมีเพียงโนเกีย และเอ็น-จอย ซึ่งเป็นยี่ห้อที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (เอดับบลิวเอ็ม) ในเครือแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส นำเข้ามาทำตลาด แต่ทั้งผู้ค้า-ผู้ผลิตแทบทุกค่าย ต่างก็ยอมรับว่า เป็นแนวโน้มที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกยี่ห้อต้องไปแล้ว เนื่องจากเมื่อการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มขยายวงออกมาในแนวกว้างมากขึ้น ก็ผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตเครื่อง จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตที่ตอบสนองต่อ "วัฒนธรรมท้องถิ่น" มากขึ้นตามไปด้วย

 

พานาฯ ชูเป็นนโยบายหลัก

นางสาวใจรัก พงษ์ประพัฒน์ ผู้จัดการฝ่าย ฝ่ายขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ซิว-เนชั่นแนล จำกัด ส่วนการขาย พานาโซนิค ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีนี้ "พานาโซนิค" พร้อมทำตลาดเชิงรุกในส่วนของเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเต็มตัว ขณะเดียวกัน ก็มีนโยบายชัดเจนที่จะเน้นการนำเข้าเครื่องที่มีจุดเด่น ด้านงานนวัตกรรม และการตอบสนองความต้องการใช้งานด้านภาษาไทยสำหรับตลาดนี้โดยเฉพาะ

 

ในส่วนของงานด้านนวัตกรรมนั้น เครื่องลูกข่ายที่เตรียมนำเข้ามาทำตลาดในปีนี้ จะมีการผสานจุดแข็งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ของพานาโซนิค เข้ากับเทคโนโลยีด้านออปติคัล ของไลก้า โดยร่วมกันพัฒนาเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งติดตั้งกล้องดิจิทัลที่มีเลนส์ขนาดประมาณรูเข็มไว้ และหลังจากถ่ายภาพไว้แล้ว สามารถส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทันที ด้วยระบบเอ็มเอ็มเอส (มัลติมีเดีย แมสเสจจิ้ง เซอร์วิส) นอกจากนี้ เครื่องลูกข่ายใหม่ๆ ที่จะนำเข้ามาทำตลาดปีนี้ ยังเน้นไปที่คุณสมบัติรองรับการใช้งานภาษาไทย ทั้งเมนูภาษาไทย และการส่งข้อความภาษาไทย (Thai Input) นางสาวใจรัก กล่าวว่า ภายในครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทมีแผนนำเครื่องลูกข่ายที่มีคุณสมบัติข้างต้น เข้ามาทำตลาดไม่ต่ำกว่า 3 ุรุ่น ประกอบด้วย พานาโซนิค GD87 ซึ่งนับเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งรองรับระบบ 3จีรุ่นแรกของโลก และปัจจุบันทำตลาดแล้วในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นพันธมิตรกับบริษัท เอ็นทีที โดโคโม สำหรับเครื่องรุ่นดังกล่าว จะติดตั้งกล้องวิดีโอขนาดเล็ก สนับสนุนได้ทั้งการถ่ายภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว เพื่อส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยบริการเอ็มเอ็มเอส โดยมีความละเอียดหลายล้านพิกเซล และมีเฉดสีราว 65,000 เฉดสี ทำให้ได้ภาพคมชัดเหมือนภาพถ่ายทั่วไป

 

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่ประเทศไทยมีความพร้อมของเครือข่าย 3จีแล้ว เครื่องรุ่นนี้จะรองรับการส่งภาพดังกล่าว ในลักษณะเรียลไทม์ได้ด้วย เช่น การส่งภาพประชุมทางไกลในรูปแบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ เป็นต้น รวมทั้ง เครื่องรุ่นดังกล่าว ยังรองรับการดาวน์โหลด หรืออัดเสียงเรียกเข้า ที่เป็นเสียงเพลง (มิวสิค ริงโทน) หรือเสียงต่างๆ ได้ด้วย โดยไม่จำกัดแต่การดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้าที่เป็นทำนองเพลง (เมโลดี้ ริงโทน) อย่างในปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนี้ ในราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ก็จะนำเข้าพานาโซนิค รุ่น GD67 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรก ที่มีระบบสะกดคำอัตโนมัติ (T9) สำหรับภาษาไทย รองรับจำนวนคำที่คาดว่าจะมีการใช้บ่อยๆ ไว้หลายหมื่นคำ และช่วยลดเวลาในการพิมพ์ตัวอักษรเพื่อส่งข้อความลงราว 70% "ทีมงานของเราลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์สนับสนุนระบบ T9 ภาษาไทยเอง เพราะมองว่าเมื่อตลาดกว้างขึ้น ความนิยมในการใช้งานภาษาไทยของผู้ใช้โทรมือถือก็จะสูงขึ้น และระบบนี้จะเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้เขาได้" นางสาวใจรักกล่าว โดยในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ บริษัทจะเปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่ๆ ดังกล่าวในงาน "ไอที โซลูชั่นเดย์" ซึ่งบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นที่บริเวณชั้น 1 เซ็นทรัล ลาดพร้าวก่อน เพื่อเป็นช่องทางในการสาธิตผลิตภัณฑ์ ก่อนนำเข้ามาทำตลาดจริงหลังกลางปีนี้

 

บริษัทแม่หนุนสุดตัว

ขณะเดียวกัน บริษัทค่อนข้างมั่นใจกับการสร้าง "ชื่อ" ของพานาโซนิค ในส่วนของสินค้ากลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ติดตลาดในประเทศไทย รวมถึงจัดวางตำแหน่งให้เป็นสินค้าดาวเด่น (ไฮไลท์) ประจำปีนี้ด้วย เนื่องจาก บริษัทแม่ประกาศนโยบายชัดเจน ที่จะกระจายสินค้าเข้ามายังตลาดในเอเชียมากขึ้น หลังจากเห็นแนวโน้มของยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มชะลอตัวลงจากตลาดที่เริ่มอิ่มตัว ขณะที่ในแถบนี้ โดยเฉพาะประเทศไทย มีการขยายตัวของปริมาณการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงมาก ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา "หลังจากบริษัทได้แยกส่วนธุรกิจขึ้นมาดูแลสินค้าตัวนี้เต็มตัว ทั้งด้านการพัฒนาสินค้า, การตลาด, บริการ ในชื่อ "ฝ่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่" เมื่อปีที่ผ่านมา เราก็มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 5 เท่า โดยมีปัจจัยหนุนทั้งศักยภาพของตลาด, นโยบายบริษัทแม่ และความร่วมมือของบริษัทที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดอย่างซิวฯ เอง" นางสาวใจรักกล่าว

 

โนเกีย บุกหนักเครื่องรุ่นรองรับข้อมูลภาพ

นายฌอน คอลลิกัน กรรมการผู้จัดการโนเกีย โมบายโฟนส์ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มี..ที่ผ่านมา กล่าวว่า บริษัทมีแผนเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ๆ ราว 7 รุ่น จากครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป โดยจะเพิ่มหน้าที่การทำงานของเครื่องที่รองรับด้านระบบภาพ (อิมเมจจิ้ง แมสเสจ) มากขึ้น ประกอบด้วย โนเกีย 7210 โทรศัพท์มือถือรองรับ 3 ความถี่ (ไตรแบนด์ 900/1800/1900) และรองรับเทคโนโลยีจาวา, โนเกีย 3315 รุ่นใช้งานขั้นพื้นฐานสำหรับผู้บริโภควงกว้าง เน้นความง่ายต่อการใช้งาน, โนเกีย 3510 รองรับเทคโนโลยีเอ็มเอ็มเอส รวมถึงโนเกีย 92101 (คอมมูนิเคเตอร์) สำหรับนักธุรกิจ เป็นต้น โดยแนวโน้มเทคโนโลยีของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะเห็นในปีนี้ จะเริ่มมีเครื่องลูกข่ายที่เป็น 3 ระบบในเครื่องเดียวกัน (ไตรแบนด์) ประกอบด้วย จีพีอาร์เอส, จาวา, เอ็มเอ็มเอส, เอ็กซ์เอชทีเอ็มแอล รวมถึงเครื่องลูกข่ายที่เป็นระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอ ด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีนโยบายรักษาความเป็นผู้นำตลาดไทยต่อเนื่อง โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท โดยเฉพาะบริการที่ไม่ใช่เสียง (นอนวอยซ์ เซอร์วิส) ซึ่งจะนำเสนอในรูปแบบของการใช้บริการที่ง่าย และให้ผู้บริโภคเข้าใจและยอมรับการใช้งานมากที่สุด ทั้งนี้ มองว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น โดยบริษัทจะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในด้านเนื้อหา (โลคอลคอนเทนต์) และผู้พัฒนาท้องถิ่น ทั้งด้านเกม เพลง และหนัง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.